ผู้นำด้านความยั่งยืนจากทั่วโลกรวมพลังลดโลกร้อนบนเวที “UN Global Compact Leaders Summit 2021” ชวนทุกภาคส่วนร่วมปฏิบัติการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2030

ผู้นำด้านความยั่งยืนจากทั่วโลกรวมพลังลดโลกร้อนบนเวที “UN Global Compact Leaders Summit 2021” ชวนทุกภาคส่วนร่วมปฏิบัติการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2030 ด้านซีอีโอจากประเทศไทย  “ศุภชัย เจียรวนนท์” แห่งเครือซีพี ประกาศความมุ่งมั่นนำธุรกิจทั้งองคาพยพสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนเป็นศูนย์  รวมพลังพนักงาน 4.5 แสนคนทั่วโลก พร้อมห่วงโซ่อุปทาน ไม่ว่าเกษตรกร คู่ค้า ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน เสนอให้ตลาดหลักทรัพย์ในทุกประเทศทั่วโลกกำหนดเป้าหมายและแนวทางให้องค์กรธุรกิจรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้โลกบรรลุเป้าหมายลดโลกร้อน

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำระดับโลกด้านความยั่งยืน ประจำปี 2564 หรือ UN Global Compact Leaders Summit 2021 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 มิถุนายน 2564  ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นในรูปแบบเสมือนจริงผ่านออนไลน์ถ่ายทอดสดจากมหานครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกาไปยังทั่วโลก โดยมีผู้ร่วมการประชุมไม่ต่ำกว่า 25,000 คน โดยในปีนี้ UN Global Compact ซึ่งเป็นเครือข่ายความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกภายใต้องค์กรสหประชาชาติได้ชูประเด็นการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเป็นวาระสำคัญของโลก

นายอันโตนิโอ กูแทเรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ  กล่าวเปิดการประชุม UN Global Compact Leaders Summit 2021 โดยระบุว่า เราทุกคนพร้อมสนับสนุนแผนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs และเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยองค์กรธุรกิจต่าง ๆ มารวมตัวกันครั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่จะร่วมแสดงความรับผิดชอบและเดินหน้าลงมือในภารกิจการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนี้ขอย้ำว่าองค์กรธุรกิจจะต้องบูรณาการในเรื่องการลงทุน การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจต่าง ๆ ที่ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และคำนึงถึง ESG (Environmental, Social, Governance)

ขณะที่นางสาวแซนด้า โอเจียมโบ ซีอีโอและผู้อำนวยการบริหาร UN Global Compact กล่าวว่า จากปัญหาโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั่วโลก UNGC มีความห่วงใยในประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดแคลนวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 โดยมีหลายประเทศที่ไม่สามารถเข้าถึงการรับวัคซีนได้ ตลอดจนปัญหาการว่างงาน โดยเฉพาะในกลุ่มสตรีวัยทำงานที่ต้องถูกเลิกจ้างจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งการประชุมครั้งนี้ทุกภาคส่วนจะได้ร่วมกันแสวงหาแนวทางที่จะสร้างการมีส่วนร่วม และระดมแนวทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจากผลกระทบโควิด-19 อย่างจริงจัง

ทั้งนี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอ เครือซีพี ได้ร่วมการประชุม UN Global Compact Leaders Summit 2021  และได้ร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์บนเวทีเสวนาหลัก (Main Stage Plenary) ในหัวข้อ “Light the Way to Glasgow and Net Zero: Credible Climate Action for a 1.5 °C World” หรือ “ มุ่งหน้าสู่การประชุม COP26 Glasgow และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ : แนวทางปฏิบัติเพื่อควบคุมภาวะโลกร้อนให้อยู่ในขอบเขต 1.5 องศาเซลเซียส”

โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายคีธ แอนเดอร์สัน ซีอีโอจากบริษัทพลังงาน Scottish Power น.ส.ดามิลโอลา โอกันบียี ซีอีโอจากองค์กร Sustainable Energy for All (SEforALL) และผู้แทนพิเศษเลขาสหประชาชาติด้านพลังงานความยั่งยืน และน.ส.กราเซียเอลา ชาลุปเป้ ดอส ซานโตส มาลูเซลลิ ซีโอโอและรองประธานบริษัท Novozymes ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านไบโอเทคโนโลยี ประเทศเดนมาร์ก โดยได้รับเกียรติจากนายกอนซาโล มูนโญส Chile COP25 High Level Climate Champion และนายไนเจล ทอปปิง UN’s High-Level Climate Action Champion ซึ่งเป็นแชมเปี้ยนในเรื่อง Climate Change ระดับโลก ร่วมเป็นผู้กล่าวนำเสวนา

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี  ระบุว่า เครือซีพีมีความมุ่งมั่นสู่การนำธุรกิจในเครือฯบรรลุสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2030 สอดคล้องกับเป้าหมายของโลกทั้งการประชุมผู้นำโลก COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก๊อตแลนด์ที่จะมีขึ้นในเดือน พ.ย.2564 ที่จะเจรจาเรื่องลดโลกร้อน พิธีสารเกียวโตและความตกลงปารีส (Paris Agreement)  รวมถึงแคมเปญระดับโลก Race to Zero ปฏิบัติการแข่งขันเพื่อคาร์บอนเป็นศูนย์ ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันคือการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ซีอีโอเครือซีพี กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกถือเป็นประเด็นสำคัญ และในฐานะซีพี ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเกษตรและอาหาร มีห่วงโซ่อุปทานที่ต้องทำงานกับคู่ค้า เกษตรกร และผู้มีส่วนได้เสียมากมายหลากหลายกลุ่ม รวมถึงพนักงานกว่า 450,000 จากทั่วโลก  ในการนี้ทุกคนได้รวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดโลกร้อน โดยมีเทคโนโลยีทั้ง IOT, บล็อกเชน, GPS และ ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ หรือ Traceability เข้ามาใช้เพื่อนำไปสู่เป้าหมายร่วมกัน  และเชื่อมั่นว่าการสร้างระบบอาหารและเกษตรที่ยั่งยืนจะเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้สำเร็จ

ในส่วนของเครือซีพีนั้น มีนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าด้วยการลงมือปลูกต้นไม้ให้เพิ่มขึ้นเพื่อช่วยลดอุณหภูมิของโลก เพื่อให้ครอบคลุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมของเรา ขณะเดียวกันซีพียังขับเคลื่อนเป้าหมายความยั่งยืนร่วมกับเกษตรกรกว่า 1 ล้านคน และคู่ค้าอีกนับแสนราย ทั้งยังมีการส่งเสริมให้เกษตรกรฟื้นฟูป่าในพื้นที่เขาหัวโล้นในภาคเหนือของไทยและหันมาทำเกษตรแบบผสมผสานรวมทั้งปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่ให้ป่าอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งหมดนี้เพื่อบรรลุสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ อีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญของเครือซีพีคือ การวางระบบเพื่อประหยัดพลังงานและใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจ

โดยจะลงทุนในพลังงานหมุนเวียน ซึ่งการลงทุนนี้ถือเป็นโอกาสไม่ใช่ต้นทุนทางธุรกิจ พร้อมกันนี้ได้เสนอให้ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกออกกฎเกณฑ์ กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และภาคเอกชนทั่วโลกภายใต้การกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์ของประเทศนั้น ๆ กำหนดเป้าหมายและมีการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานด้านการจัดการคาร์บอนฯ เพื่อทำให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญ ซึ่งจะผลักดันส่งเสริมผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ได้ปฏิบัติตามก็จะทำให้โลกบรรลุเป้าหมายลดโลกร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อีกประเด็นสำคัญที่ซีอีโอ เครือซีพี กล่าวบนเวทีระดับโลก เพื่อนำสู่เป้าหมายลดโลกร้อนคือ “สิ่งสำคัญที่จะทำให้โลกยั่งยืนได้คือการสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมา เราต้องยกระดับการศึกษาให้ไปไกลกว่า 4.0 ไม่ใช่แค่ให้ความรู้ทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเท่านั้น แต่ต้องให้การศึกษาและความรู้เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ยังเยาว์วัยจะทำให้การมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายลดโลกร้อนสำเร็จได้ เพราะคนรุ่นใหม่จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้” ซีอีโอเครือซีพีกล่าวสรุป

ด้าน นายกอนซาโล มูนโญส Chile COP25 High Level Climate Champion กล่าวว่า ปีนี้โลกได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ในขณะเดียวกันปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก ปัจจุบันมีผู้ที่ร่วมแคมเปญปฏิบัติการ Race to Zero กว่า 4,500 ราย จาก 90 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งองค์กรธุรกิจกว่า 3,000 แห่ง นับเป็น 15% ของเศรษฐกิจโลก ถือได้ว่า เป็นแคมเปญที่เติบโตอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา

สำหรับ นายไนเจล ทอปปิง UN’s High-Level Climate Action Champion กล่าวถึง ความท้าทายของ 10 ปีข้างหน้าสู่การที่ผู้นำด้านความยั่งยืนจากทุกภาคส่วนจะต้องลงมือทำคือการร่วมกันลดภาวะโลกร้อนด้วยการตั้งเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงครึ่งหนึ่งให้ได้ในปี 2030 โดยการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับเป็นความท้าทายที่เชื่อมโยงทั้งในมิติด้านของการสื่อสาร การเมือง รวมไปถึงความท้าทายทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ทุกภาคส่วนจะต้องเร่งร่วมมือกันลงมือปฏิบัติการลดคาร์บอนเป็นศูนย์ เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน

ในส่วนของ นางสาวดามิลโอลา โอกันบียี  ซีอีโอจากองค์กร Sustainable Energy for All (SEforALL) กล่าวว่า ขณะนี้ทุกภาคส่วนสนับสนุนให้มีการเจรจาเรื่องการจัดการด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทรัพยากรด้านพลังงานเป็นสิ่งที่จะต้องดำเนินการไปควบคู่กัน และจะต้องให้ความสำคัญในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา สนับสนุนให้ประเทศเหล่านี้บริหารจัดการพลังงานไปสู่การสร้างพลังงานสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นายคีธ แอนเดอร์สัน ซีอีโอจากบริษัทพลังงาน Scottish Power กล่าวถึงการดำเนินงานของ  Scottish Power บริษัทที่ผลิตถ่านหิน ซึ่งปัจจุบันเลิกใช้ถ่านหินทั่วทั้งสกอตแลนด์ และเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน  เพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในสกอตแลนด์มีการใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน ถึง 97%  ทุกกิจกรรมไม่ว่าจะป็นการขนส่ง และใช้พลังงานในอาคารจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตั้งเป้าให้เมือง Glassgow เป็นเมืองคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์แห่งแรกในสหราชอาณาจักร

นางสาวกราเซียล่า ชาลูป โดส ซานโตส มาลูเชลลี่  ซีโอโอและรองประธาน บริษัทไบโอเทคโนโลยี Novozymes  กล่าวว่า Novozyme ได้มีการลงทุนทางด้านพลังงานหมุนเวียน เช่น การนำพลังงานแสงอาทิตย์มาปรับใช้เป็นพลังงานไฟฟ้า โดยเป็นการทำงานร่วมกับคู่ค้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่อุปทานเป็นกรณีตัวอย่างในการทำงานร่วมกันเพื่อหาแนวทางการลดคาร์บอนให้ได้มากที่สุด

ขณะที่นายอโลก ชาร์มา ประธาน COP 26 กล่าวปิดสรุปการเสวนาว่า ในปี 2015 เป็นปีที่สำคัญเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้ทำข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกำหนดเป้าหมายลดอุณหภูมิโลก 1.5 องศาเซลเซียส เพราะหากโลกเข้าสู่ภาวะโลกร้อนแตะถึง 2 องศา ผู้คนกว่า 100 ล้านคนจะได้รับผลกระทบ พืชและสัตว์หลายชนิดจะสูญพันธุ์ ซึ่งในการประชุมสุดยอดผู้นำระดับโลกด้านความยั่งยืนครั้งนี้ ขอขอบคุณ UNGC ที่ขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจให้คำมั่นในข้อตกปารีส และขอเชิญชวนผู้นำองค์กรทุกภาคส่วนเข้าร่วมแคมเปญ Race to ZERO ซึ่งจะเป็นการแสดงให้เป็นที่ประจักษ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนได้เห็นถึงความตั้งใจและความมุ่งมั่นที่ภาคธุรกิจรวมพลังลุกขึ้้นมาให้ความสำคัญกับปัญหาภาวะโลกร้อน

การประชุม UN Global Compact Leaders Summit 2021 ระหว่างวันที่ 15-16 มิถุนายน 2564 เป็นการรวมตัวของผู้นำภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งจากภาคธุรกิจชั้นนำในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์, ยูนิลีเวอร์, ชไนเดอร์ อิเล็คทริค, ลอรีอัล, เนสท์เล่, หัวเว่ย, อิเกีย, ซีเมนส์ เอจี ตลอดจนผู้บริหารจากบริษัทที่ปรึกษา บอสตัน คอนซัลท์ติ้ง กรุ๊ป , ผู้บริหารจากบริษัทกฎหมาย และการจัดการทางธุรกิจระดับโลก เบเคอร์ แอนด์ แม็คเคนซี่ โดยได้รับเกียรติจากนายอันโตนิโอ กูแทเรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และนางสาวแซนด้า โอเจียมโบ ซีอีโอและผู้อำนวยการบริหาร UN Global Compact ร่วมกล่าวเปิดงานประชุมอย่างเป็นทางการ

Written By
More from pp
“คารม” ย้ำ ครูไม่อยู่เวรโรงเรียนไม่มีความผิด ขอให้ระมัดระวังเรื่องความปลอดภัย
26 มกราคม 2567 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำถึง กรณี ครม.ได้มีมติให้หน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการดูแลความเดือดร้อนของประชาชนภายในประเทศ ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย...
Read More
0 replies on “ผู้นำด้านความยั่งยืนจากทั่วโลกรวมพลังลดโลกร้อนบนเวที “UN Global Compact Leaders Summit 2021” ชวนทุกภาคส่วนร่วมปฏิบัติการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2030”