ปลายปีตัดสินประเทศ-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

อ่านไว้เป็นความรู้ครับ

            วัคซีนจากโรงงาน ไปไหนบ้างก่อนฉีดให้กับประชาชน

เริ่มต้นที่ นำวัคซีนจากโรงงานทดสอบคุณภาพและการวิเคราะห์คุณภาพของวัคซีนในห้องปฏิบัติการ จะดำเนินไปพร้อมกับการตรวจสอบเอกสารข้อมูลการผลิตและการควบคุมคุณภาพของผู้ผลิต (Summary Production Protocol)

            วัคซีนซิโนแวค จะใช้เวลาในการตรวจสอบคุณภาพประมาณ ๑-๒ สัปดาห์

            วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่มีโรงงานการผลิตอยู่ในประเทศไทย จะใช้เวลาในการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนเฉลี่ยประมาณ ๓ วัน

            ก่อนการอนุมัติให้กระจายวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ต้องส่งผลการตรวจสอบคุณภาพไปยังประเทศอังกฤษเพื่อทำการวิเคราะห์คุณภาพอีก ๑ วัน

            หลังจากผ่านการวิเคราะห์คุณภาพจากประเทศอังกฤษแล้ว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะทำการออกหนังสือรับรองรุ่นการผลิต (lot released) ให้กับองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นผู้นำเข้าวัคซีน

            จากนั้นองค์การเภสัชฯ จะส่งมอบวัคซีนให้กับกรมควบคุมโรคต่อไป

            สำหรับขั้นตอนการจัดสรรวัคซีนเพื่อกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพ มาตรฐาน

            เริ่มต้นจากองค์การเภสัชกรรม ไปรับวัคซีนจากบริษัทที่สนามบินสุวรรณภูมิ (กรณีนำเข้า) และส่งตัวอย่างวัคซีนและเอกสารการตรวจสอบคุณภาพของวัคซีนให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบสภาพของบรรจุภัณฑ์ จำนวน และอุณหภูมิที่ใช้ในการขนส่งวัคซีน ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้

            กรมควบคุมโรคจะเป็นผู้จัดสรรและกระจายวัคซีนตามแผนการจัดสรรวัคซีนที่ ศบค.พิจารณาเห็นชอบ

            ก่อนการส่งมอบวัคซีนไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จะมีการวางระบบควบคุม ที่มีมาตรฐานตั้งแต่การตรวจสอบคุณภาพ การเก็บรักษา และการควบคุมอุณหภูมิของพื้นที่ปลายทางที่จะรับวัคซีนด้วย การจัดฉีดวัคซีน ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครเป็นผู้บริหารจัดการ

            โดยต้องฉีดให้สมดุลกับวัคซีนที่ได้รับ ให้มีวัคซีนฉีดต่อเนื่อง

            นั่นคือเส้นทางของวัคซีน ก่อนฉีดให้กับประชาชน

            ครับ…มาต่อกันเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญกันอีกสักวัน

            มีโพสต์เฟซบุ๊กน่าสนใจของ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดถึงการร่วมมือกันของ ๒ ขั้วการเมืองใหญ่

                “…สิ่งที่เกิดขึ้นในสภาคือ เพื่อไทยกับ พปชร.จะรวมหัวกันแก้ไขระบบเลือกตั้งใน รธน.ให้เป็นบัตรสองใบ เพิ่มจำนวน ส.ส.เขต ลด ส.ส.บัญชีรายชื่อ (“กำขี้ดีกว่ากำตด”) ซึ่งสองพรรคนี้จะได้ประโยชน์มากที่สุด

                เปลือกนอกของสภาชุดนี้เป็นการแบ่ง “พรรครัฐบาล” กับ “พรรคฝ่ายค้าน”

                แต่เนื้อในเป็นการแบ่งระหว่าง “การเมืองเก่า” กับ “การเมืองใหม่”

                ถ้ามองเข้าไปข้างในทั้งเพื่อไทยและ พปชร. จะเห็นว่า แกนนำส่วนใหญ่คืออดีตไทยรักไทย-พลัง ปชช.-เพื่อไทย พวกเขาคือนักการเมืองกลุ่มเดียวกันมาแต่ไหนแต่ไร

                เพียงแบ่งบทกันเล่นในเกมเลือกตั้งและเกมสภา แต่ล้วนมีผล ปย.สุดท้ายเหมือนกันคือ เข้าไปแชร์อำนาจภายใต้ระบอบเดิม (ที่ไม่แตะหมวด ๑-๒) อนาคตใหม่-ก้าวไกลคือ

                เป็นพวกผ่าเหล่าที่เข้ากับพวกเขาไม่ได้ คุยกันไม่รู้เรื่องและต้องถูกกำจัดทิ้งเสีย…”

            ก็ใช่ตามนั้นครับ!

            พรรคเพื่อไทยประกาศมาตั้งแต่แรกว่าไม่เตะหมวดพระมหากษัตริย์

            ขณะนี้จึงเหลือเพียงพรรคก้าวไกลเพียงพรรคเดียวที่ยืนกรานจะรื้อหมวด ๑-๒ พร้อมกับตีโพยตีพายว่า พรรคการเมืองอื่นไม่ยอมเปลี่ยนประเทศไทย

            ก้าวไกลพลาดตรงที่ ไม่มีกำลัง ไร้เสียงสนับสนุน แต่คิดทำงานใหญ่

            สุดท้ายก็ได้แค่คิด และสิ่งที่คิดจะกลายเป็นเงื่อนไขทิ่มแทงตัวเองในวันข้างหน้า หากมีเสียงมากพอได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

            แต่โอกาสก็ริบหรี่ เพราะการเมืองที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะในพื้นที่เลือกตั้ง ที่จะไม่กลับไปเหมือนวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ อีกแล้ว

            หมายความว่าโอกาสกลับเข้าสภาของผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล ไม่ง่ายอีกต่อไป

            เรื่องนี้ประชาชนส่งสัญญาณมาเป็นระยะๆ จากการเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้ง อบจ. อบต. และเทศบาล ที่พรรคก้าวไกลล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

            ไม่เว้นกระทั่งเลือกตั้งซ่อม ส.ส. สถานะของพรรคก้าวไกลคือ “จั่วลม”

            การเมืองเดินไปเร็วกว่าที่พรรคก้าวไกลคิด

            พรรคเพื่อไทยและพลังประชารัฐส่งสัญญาณให้เห็นแล้วว่า เป้าหมายการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือ แก้ไขระบบการเลือกตั้ง ส.ส.

            อย่างที่ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ วิเคราะห์ไว้ ๒ พรรคนี้มีเป้าหมายเดียวกันคือ สร้างความได้เปรียบด้วยระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ เพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลให้ได้

            การที่พลังประชารัฐทั้งขยับและเขย่าพรรค ปรับโครงสร้างใหม่ คือสัญญาณเตือนพรรคการเมืองอื่นๆ ว่า หลังแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา อาจมีการยุบสภา

            ตามข่าว….โครงสร้างใหม่ของพลังประชารัฐ อาจทำให้พรรคการเมืองอื่นต้องปรับตาม

            ชื่อ ธรรมนัส พรหมเผ่า ขยับจากรองหัวหน้าพรรค มาเป็นเลขาธิการพรรค น่าจะทำให้หลายๆ พรรคหนาวๆ ร้อนๆ

            ทิ้งประเด็นรัฐมนตรีแป้ง ไปก่อนนะครับ

            มาว่ากันเรื่องการวางขุมกำลังของพรรคการเมือง เพื่อเตรียมเลือกตั้งใหม่ที่อาจมีขึ้นในเร็วๆ นี้ หาก พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจยุบสภา

            “ธรรมนัส พรหมเผ่า” สร้างผลงานให้พลังประชารัฐชนะการเลือกตั้งซ่อมมาทุกสนาม ถือว่าไม่ธรรมดา

            ขณะที่พรรคการเมืองอื่นหลายพรรค ยังอยู่ในภาวะระส่ำ

            เพื่อไทย นอกจากยังหาหัวที่แท้จริงไม่ได้ ยังแตกออกไปเป็น พรรคไทยสร้างไทย

            ประชาธิปัตย์ ยังไม่หายตกใจจากความล้มเหลวในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

            ก้าวไกล หลงเกม มุ่งไปโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหลัก จนพรรคเสื่อมความนิยมลงไปมาก เพราะเสพคะแนนเสียงในโซเชียลมากกว่าในโลกความเป็นจริง 

            สุดท้ายได้เสียงทิพย์

            รอบปีกว่ามานี้จึงแพ้การเลือกตั้งทุกระดับแบบย่อยยับ

            ครับ…ให้จับตาดู การแก้รัฐธรรมนูญเสร็จ ได้ระบบเลือกตั้งใหม่ ก็น่าจะช่วงปลายปี

            พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศเปิดประเทศในอีก ๑๒๐ วัน ก็ไปตกช่วงปลายปีเช่นกัน

            ถ้าทำได้จริง ความนิยมท่วมท้น

            เตรียมตัว อาจได้เข้าคูหาเลือกตั้งเร็วกว่าที่คิด.

 

Written By
More from pp
TOA ร่วมสร้างสีสันศิลปะบนกำแพง ชูชุมชนต้นแบบ ‘สามย่าน’
สามย่าน อีกหนึ่งชุมชนย่านเศรษฐกิจ ที่เต็มไปด้วยรากเหง้าวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายจีน สะท้อนความหลากมิติของเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ผ่านศิลปะบนกำแพง
Read More
0 replies on “ปลายปีตัดสินประเทศ-ผักกาดหอม”