เปลว สีเงิน
“เหงาเหลือเกิน” ….ขอบ่นซักคำเหอะ!
ก็ทำไมจะไม่เหงาล่ะครับ
เข้ามาโรงพิมพ์ มืดตึ๊ดตื๋อ ไม่มีใครมาทำงานซักคน!
เคยเห็นแต่บริษัท “ลอยแพพนักงาน” หรือผมเป็นรายแรกที่ถูก “พนักงานลอยแพ”?
แอบดีใจ จะได้ไปปลูกเผือก-ปลูกมัน ตามฝันซะที!
แต่เจอแม่บ้าน เขาบอก “ผู้จัดการ” ให้แผนกที่ไม่เกี่ยวกับข่าว “ทำงานที่บ้าน” ห่วง…ระหว่างเดินทาง จะลมเพ-ลมพัดเอากับคุณโควิดติดมาถึงโรงพิมพ์
ทั้งตึก ผมเลยโด่เด่อยู่คนเดียว
ปิดประตู-หน้าต่าง กั้นม่านเจ็ดชั้น เสกคาถานะงงงวยลูบหน้า ๓ ครั้ง โอมมม เพี้ยง…เอาละวะ ถึงโควิดมา ก็ไม่เห็นหน้าเรา
ว่าแล้วก็พรางไฟ (ซะหน่อย) จิ้มคอมฯ คุยกับท่านนี่แหละ!
ผู้จัดการไทยโพสต์ “คุณอนุชิต จุรีเกษ” หรือ”คุณบ่น” นี่ เขาเคร่งครัดนักเรื่องโควิด
กับคุณกรรณิกา “ผู้บริหารข่าวสาร” เห็นไปทำประกันให้พนักงานทั้งบริษัท แล้วแบบนี้ เมื่อไหร่จะมีโอกาสได้เคลมล่ะ?
จะว่าไปแล้ว คุณอนุชิตเคร่งมาตรการทั้งต่อหน้าและลับหลัง ยิ่งกว่า “บางรัฐมนตรี” ของรัฐบาลนายกฯ ประยุทธ์ซะอีก
ของท่านนายกฯ นี่….
หน้าไหว้ สวยเหมือนนางรำ แต่ลับหลัง หลอกลวงยิ่งกว่านางโลม!
โควิดรอบนี้ ครางกันอ๋อย เพราะ “มาจริง-เจ็บจริง-ตายจริง” ผมเห็นใจแพทย์-พยาบาล และบุคลากรทางแพทย์มาก พอจะได้พักหายใจ จากที่หนักมาแต่ต้นปี ๖๓
พอขึ้น ๖๔ หย่อนตูดยังไม่ทันถึงพื้น อ้าว…อีกแล้วหรือนี่!
ก็ไม่รู้จะพูดยังไงให้ตรงกับความรู้สึกในใจที่มีต่อแพทย์-พยาบาล-บุคลากรทางแพทย์
ยามศึกสงคราม ก็อุ่นระอุในอก กับทหาร
ยามโรคระบาด ก็ซึ้งใจใน แพทย์-พยาบาล
ชีวิตนี้ของชาวบ้าน ไม่ได้มีเพื่อทหาร ไม่ได้มีเพื่อแพทย์-พยาบาล
แต่ชีวิตนี้ของทหาร ของแพทย์-พยาบาล ทั้งหมด-ทั้งสิ้น “มีเพื่อชาวบ้าน” โดยตรง!
พวกผมนั้น ยามสุขสบายน่ะเรอะ กูดี, กูเก่ง, กูเฮง, กูรวย เผลอๆ ถามซะด้วย
“ตำรวจ-ทหาร-พยาบาล-แพทย์” มีไว้ทำไม…นั่นแน่!?
ท่านนายกฯ ดูร่วงโรย (แต่ไม่อ่อนล้า) ไปเยอะนะ
ผมไม่ห่วงหรอก และก็ไม่เห็นใจ เพราะ “เข้าใจ” ท่าน
อย่างเดียวที่ไม่ร่วงโรย คือ….
ความ “เด็ดเดี่ยว-มุ่งมั่น” ที่เป็นไฟคุโชนเด่นชัดออกมาจากประกายตาท่าน!
ไม่ต้องไปสู้กับใคร แต่ท่านจงทำมันต่อไป ทุกเสียงบ่น ก่น ด่า ติ ชม ค่าเท่ากัน คือ “เสียงกระทบหู”
อย่าน้อยใจกับเสียง จงดีใจกับหูที่อยู่ชิดสมองว่ายังแจ่มใส ว่องไว จับทุกความสั่นไหวได้ไวและชัดเจน
ทำเถอะครับ ที่ท่านทำมาทั้งหมด ดีแล้ว-ถูกต้องแล้ว ในแต่ละสถานการณ์ตามกาลเวลาของมัน
ต่อให้องค์อินทร์เหาะลงมาทำ ก็ไม่มีอะไรที่จะทำให้ถูกใจมนุษย์ได้ทั้งหมด
คนไทย เหมาว่า ๗๐ ล้านคน
เอาซะว่า ด่าๆๆๆๆๆ ไม่ถูกใจๆๆๆๆ ๑๐ ล้าน ก็ยังมีอีกตั้ง ๕๐-๖๐ ล้าน ถึงทุกข์ซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น บางส่วนเข้าใจ บางส่วนเห็นใจ บางส่วนไม่พอใจ แต่ไม่บ่น
และบางส่วน เข้ามาร่วมแรง-ร่วมใจกับรัฐบาลบ้าง ทำด้วยแรงตัวเองบ้าง คนละไม้-คนละมือ ใครช่วยทางไหนได้ ก็ช่วยกันไปทางนั้น
อย่างตอนนี้ ทั้งนักธุรกิจ ทั้งโรงพยาบาลเอกชน ก็มาช่วยกันจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ชาวบ้านบางคน ตั้งตู้ปันสุขบ้าง เอารถ-เอาเรือ มาบริการบ้าง
ความสวยงามของโลกมนุษย์ อยู่ตรงหลากหลายในความต่างนี่แหละ
เหมือนลูกกวาดในขวดโหล ที่จริงก็ลูกกวาดเหมือนกันทั้งหมด แต่ด้วยหลากสีย้อม ทำให้เกิด”หลากหลาย เกิดมิติชวนค้นหา
ล้านอารมณ์ ร้อยเรียกร้อง ในภาวะตื่นโควิด อย่ามองว่านั่นคือปัญหา ให้มองเป็น “โรงละครแห่งชีวิต”
แล้วจะเห็นความสวยงาม!
เท่าที่ฟัง ระงมเสียงที่พุ่งใส่นายกฯ จัดหมวดหมู่ได้ ๒ หมวดหมู่
๑.จัดหาวัคซีนช้า
๒.ฉีดวัคซีนช้า
ต้องฟัง ไม่ต้องเถียง ชั่วโมงนี้ เหตุผลไม่ใช่คำตอบ การทำไปด้วย-ฟังไปด้วย คือคำตอบ เพราะทุกคน เมื่ออัดอก ที่จะคลายได้ คือต้องปล่อยให้เขาได้ระบาย
“วัคซีนช้า” มันไม่ได้ช้า-ไม่ได้เร็วหรอก
มันตามเหตุปัจจัย เผอิญโควิดรอบนี้ มันเป็น “รถด่วนแหกราง” มานอกตารางเวลาเท่านั้น
ก็ต้องบริหารกันไป …..
วัคซีนของซิโนแวคและแอสตร้า เซนเนก้า ตามตารางเวลา กะว่า ๖๕ ล้านโดส จะมาจากกุมภา-ธันวา.ในภาวะไม่แหกราง ก็โอเค.
เมื่อเกิดแหกราง ตอนนี้ รัฐบาลกับโรงพยาบาลเอกชน ก็ช่วยกัน ใครมีเครดิตติดต่อซื้อยี่ห้อไหนได้ ก็ไปติดต่อมา จะใช้รัฐบาลเป็นผู้จัดซื้อให้
เห็นนายกฯ บอก ที่ประชุมอันมีอาจารย์หมอปิยะสกลเป็นประธาน ประเมินว่า น่าจะหาได้อีกซัก ๓๕ ล้านโดส
สรุป ตัวเลขกลมๆ หมายความว่า ภายในสิ้นปีนี้ เราจะมีวัคซีนฉีดกันถึง ๑๐๐ ล้านโดส!
เซย์ซะว่า คนละ ๒ โดส….
ฉีดได้ ๕๐ ล้านคน ต่อให้โควิดไปเรียกพ่อมันมาทั้งโขยง ก็ไม่กลัวมันแล้ว!
นี่อาจจะตอบโจทย์ข้อแรกที่ว่า “จัดหาวัคซีนช้า” ได้อยู่ ซึ่งวัคซีนไม่ช้า แต่ใจในภาวะเตลิด มันเร็วกว่าเท่านั้น
ผมจะนำตารางวัคซีนในยอด ๖๕ ล้านโดสมาให้ดูนะ
มี.ค. ๖๔ ได้มา ๓๑๐,๗๐๐ โดส ฉีดได้ ๑๕๘,๔๙๗ คน
เม.ย.๖๔ ได้อีก ๘๐๐,๐๐๐ โดส ฉีดไปแล้ว ๓๔๖,๗๑๘ คน
รวมได้มา ๑,๑๑๐,๗๐๐ โดส ฉีดแล้ว ๕๐๕,๗๔๔ คน
แล้วของซิโนแวคที่มาอีก ๑ ล้านโดสสัปดาห์ก่อนโน้น นั่นกระจายฉีดให้แพทย์-พยาบาล-บุคลากรทางการแพทย์อันเป็น “ด่านหน้า” ทั้งหมด
นี่แหละ ที่โวยกันว่า ….
อะไรกัน…คน ๖๐-๗๐ ล้าน ป่านนี้แล้ว ฉีดได้แค่ระดับแสนคนเท่านี้น่ะเหรอ?
แล้วไปยกประเทศโน้น-ประเทศนี้เป็นตัวเลขมาถีบหน้ารัฐบาล นั้น จะยังไม่พูด
ประเด็นนี้ อยากให้ดูเทอมการเดินทางของวัคซีนต่อจากนี้อีกนิด
ตั้งแต่เดือนมิถุนา.นี้เป็นต้นไป…….
วัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า” ล็อตที่ผลิตในประเทศไทย โดย “บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์” จะออกมาแล้ว
เดือนมิถุนา. ๖ ล้านโดส
กรกฏา-พฤศจิกา.เดือนละ ๑๐ ล้านโดส รวม ๓๐ ล้านโดส และ ธันวา.อีก ๕ ล้านโดส
เฉพาะจาก มิถุนา.ถึงธันวา.ก็กว่า ๔๐ ล้านโดส รวมที่ฉีดไปแล้วจากมีนา.-เมษา. ประมาณ ๒ ล้าน โดส เบ็ดเสร็จทั้งหมด ๖๑ ล้านโดส!
หมายความว่า ก่อนสิ้นปี ๒๕๖๔ คนไทยประมาณ ๓๐ ล้านคนได้ฉีดวัคซีน และจาก ๓๐ ล้านคน จะทำให้เกิดการป้องกันหมู่
เมื่อทราบอย่างนี้ ก็น่าจะลด “อุปาทานหมู่” ตอนนี้ลงได้บ้างกระมัง!
แต่ปัญหาที่รัฐบาลต้องบริหารด่วนตรงนี้ คือ มีนา-เมษา.ตีซะว่า ๒ เดือน ฉีดวัคซีนชาวบ้านได้ไม่ถึงล้านคน
แล้วคนอีกตั้ง ๒๐-๓๐ ล้านคน….
ภายในเวลา ๖ เดือน รัฐบาลจะหาวิธีไหนฉีดวัคซีนที่มีแล้วให้ได้ครบทุกคนล่ะ?
การจะฉีดให้ได้วันละ ๓-๕ แสนคน ถ้าใช้ตามรูปแบบที่เป็นอยู่ ไม่ทันการณ์แน่
บุคลากรเพื่อการนี้ ต้องใช้เยอะ
สถานที่เพื่อความสดวก ก็ต้องให้มากกว่าที่เป็นอยู่
ประเด็นสำคัญ จะบริหารการมารับการฉีดจำนวนมากๆของประชาชนอย่างไร?
ซึ่งจำนวนที่ต้องมากๆ กับวันเวลาที่ต้องเร่งให้ทันกัน มันจำเป็นเท่าๆ กัน
จะให้เป็นไปตามคิว ตามวัน-เวลาที่ลงทะเบียนจองนั้น มันได้อยู่แล้ว แต่มันจะทันการณ์กันไหมกับการระบาดของโควิด ตรงนี้เป็นโจทย์ต้องคิด
จากมิย.ไป วัคซีนพร้อม…
แล้วบุคลากรพร้อมมั้ย สถานที่พร้อมมั้ย ประชาชนมากันพร้อมมั้ย การบริหารจำนวนคนมามากๆ พร้อมมั้ย?
ไม่ต้องพูดถึงอีก ๓๕ ล้านโดส
เอาแค่อีก ๔๐ กว่าล้านที่มีอยู่แล้ว ภายในธันวา.จะระดมฉีดได้ครบมั้ย?
ท่านนายกฯ เตรียมคำตอบตรงนี้ไว้เถอะครับ!