เป็นอีกก้าว ที่มุ่งสู่ความสำเร็จ เพื่อดูแลสุขภาพของคนไทย โดยสมุนไพร รักษาโรค หลัง นักวิจัยไทย ผสานความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อทำการวิจัยและพัฒนาสารสกัดจาก พืชสมุนไพร เพื่อรักษา “มะเร็ง”
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม คณะวิทยาศาสตร์ โดยภาควิชาพฤกษศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามสัญญาเพื่อดำเนินการวิจัย กับ บริษัท เนเจอร์ เฮิร์บ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัทเฮิร์บ ฟอร์ ยู จำกัด เพื่อต่อยอดและพัฒนางานวิจัยตำรับผงสมุนไพรและสารสกัดสมุนไพรที่มีเห็ดกระถินพิมานเป็นองค์ประกอบ ให้เป็นยารักษาโรค ที่ทรงประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพยับยั้งเซลล์มะเร็ง
โดยมีตัวแทนของหน่วยงาน ได้แก่ ผศ.ดร.ภัทรา ยี่ทอง รองหัวหน้าภาควิชาพฤกษศาสตร์ฝ่ายวิจัย, ผศ.ดร.จิตรตรา เพียภูเขียว รองหัวหน้าภาควิชาพฤกษศาสตร์ฝ่ายบริหาร, รศ.ดร.ปฐมวดี ญาณทัศนี์จิต อาจารย์หัวหน้าโครงการวิจัย, คุณนันทวรรณชยา ภาจิตประพันธ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท เนเจอร์ เฮิร์บ อินเตอร์เนชั่นแนลโฮลดิ้ง จำกัด และ คุณณัฐยา จันทร์บำรุง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฮิร์บ ฟอร์ ยู จำกัด ร่วมลงนามสัญญาร่วมกัน
อย่างที่รู้กันว่า “เห็ดกระถินพิมาน” เป็นพืชสมุนไพรไทยที่ได้รับการยอมรับว่า มีฤทธิ์ที่ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งในผู้ป่วยมะเร็ง และฟื้นฟูผู้ป่วย จนได้รับการบรรจุในบัญชียาแผนไทย เมื่อปี 2553
แต่ขั้นตอนของการนำคุณสมบัติรักษาโรค ที่มีอยู่ในตัวของ “เห็ดกระถินพิมาน” ออกมาใช้ให้เต็มประสิทธิภาพนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นจึงเป็นที่มาของ ความร่วมมือครั้งสำคัญนี้
โดย คุณนันทวรรณชยา เล่าถึงความเป็นมาเป็นไปต่อสัญญาความร่วมมือครั้งสำคัญ นี้ว่า เห็ดกระถินพิมาน เป็นสมุนไพรที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งและฟื้นฟูผู้ป่วยได้ ดังนั้นตนในฐานะผู้สนใจด้านการนำพืชสมุนไพรรักษาโรค จึงขอความร่วมมือกับนักวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยวิจัยและพัฒนา
“ปีที่แล้วนี้เองที่ได้เจรจาและขอให้ทางภาควิชาพฤกศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยวิจัยให้ และผลที่ได้ มีแนวโน้มที่ดี ต่อการนำผลงานวิจัยนั้นพัฒนาต่อยอด จึงเป็นที่มาที่บริษัทเนเจอร์ เฮิร์บ อินเตอร์เนชั่นแนลโฮลดิ้ง จำกัด และ บริษัท เฮิร์บ ฟอร์ ยู จำกัด ขอทำสัญญาเพื่อให้การวิจัยครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ความมุ่งหวังสำคัญครั้งนี้ คือ การได้ดูแลร่างกาย และสุขภาพของคนไทย ด้วยตำรับยาสมุนไพร ปลอดสารตกค้าง ซึ่งทุกคนสามารถเข้าถึงได้ในอนาคต” คุณนันทวรรณชยา เปิดเผย
ส่วนการวิจัยและพัฒนาครั้งนี้ ฟากฝั่งนักวิจัย “รศ.ดร.สีหนาท ประสงค์สุข หัวหน้าภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” บอกว่า สถาบันพร้อมสนับสนุนให้คณาจารย์และนักวิชาการ ร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อวิจัย พัฒนาต่อยอด เพื่อให้ได้สิ่งที่เป็นประโยชน์กับสังคม โดยภาควิชาพฤกษศาตร์ มีคณาจาร์ผู้เชี่ยวชาญการวิจัยเห็ดกระถินพิมานและสารสกัดสมุนไพร ทั้งนี้คณะพฤกษศาสตร์เริ่มต้นทดสอบผลิตภัณฑ์สารสกัดและผงสมุนไพรจากเห็ดกระถินพิมาน มาแล้ว 1 ปี กับผลที่ได้นั้น มีแนวโน้มที่ดี
ผลที่ออกมาในเชิงบวก ตามที่ “รศ.ดร.สีหนาท” เกริ่นไปนั้น ถูกขยายความเพิ่มเติมจาก ผู้วิจัยและพัฒนา “รศ.ดร.ปฐมวดี ญาณทัศนี์จิต” อาจารย์หัวหน้าโครงการวิจัย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ตลอด 1 ปีที่ได้ศึกษา วิจัยนั้น สารสกัดที่ได้ นำมาทดลองและทดสอบแล้วได้ผลและแนวโน้มที่ดี
“ผลที่ว่าเป็นแนวโน้มที่ดีนั้น ทางวิทยาศาสตร์และงานวิจัยยัง ตอบชัดเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ จนกว่าจะได้ทดลองและวิจัยจนแล้วเสร็จกระบวนการ ซึ่งกระบวนการวิจัยตอนนี้คาดว่าจะใช้เวลาอีก 2 ปี อย่างที่ทราบกันในเบื้องต้นว่าเห็ดกระถินพิมานมีสรรพคุณช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ แต่สิ่งที่จะทำต่อไปในงานวิจัย คือ การทดสอบ ทดลอง ควบคู่กับตำรับยาสมุนไพรอื่นๆ เพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์ที่มีประสิทธิภาพ” รศ.ดร.ปฐมวดีกล่าว
กับความร่วมมือ ทั้งจากภาควิชาการ และเอกชนครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของวงการสุขภาพของไทย ซึ่ง “คุณนันทวรรณชยา” กล่าวสรุปในตอนท้าย บนความคาดหวังที่ว่า “ผลการวิจัยและพัฒนาครั้งนี้ จะเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิต และสุขภาพของประชาชนดีขึ้น แม้ต้องรอคอยถึง 2 ปี เพื่อให้กระบวนการวิจัยแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ แต่เชื่อเป็นเวลาที่ไม่นานเกินรอ”