12 เม.ย.64-ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า โรงพยาบาลสนามที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เปิดใช้แล้ว 470 เตียงเมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา
โดยเริ่มเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อที่ผ่านการสังเกตอาการและคัดกรองแล้วจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และโรงพยาบาลต่างๆ ทำให้โรงพยาบาลสามารถจะรับผู้ติดเชื้อได้ รวมทั้งโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่เตรียมไว้ดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงกำลังขยายที่จะรับการส่งต่อสำหรับผู้ป่วยหนักที่ต้องการดูแลอย่างใกล้ชิด
ร้อมสั่งการให้ทุกมหาวิทยาลัย เปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมทุกแห่งทุกจังหวัด ประสานงานทันทีกับจังหวัด สาธารณสุขในพื้นที่ ดำเนินการร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงได้ ที่สำคัญให้อธิการบดีทุกมหาวิทยาลัยรายงานสถานการณ์ในพื้นที่มายังศูนย์ปฏิบัติการและบริหารการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ของกระทรวง อว. (ศปก.อว.) เพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ศ.ดร.นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า อว.มีมหาวิทยาลัยในความดูแลทั่วประเทศ มีคณะแพทยศาสตร์ 22 แห่ง มีโรงพยาบาลหลักที่มีจำนวนเตียงรวมกันกว่า 17,426 เตียง เช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เป็นต้น พร้อมรับผู้ป่วยโรคต่างๆ อย่างเต็มที่
โดยเฉพาะผู้ป่วยอาการรุนแรง ซึ่งโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยร่วมเข้ามาบริหารสถานการณ์โควิด-19 กับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด โดยเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ UHOSNET ประชุมร่วมกันในศูนย์ปฏิบัติการฉุกเเฉินทุกวัน
ทั้งนี้ โรงพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ มีจำนวนเตียงเกือบสองหมื่นเตียง ได้เลื่อนการบริการที่สามารถจะชะลอได้ เพื่อเตรียมกำลังไว้รองรับการส่งต่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด
สำหรับโรงพยาบาลสนามในเครือข่ายของ อว.ที่พร้อมดำเนินการ 23 แห่งรวม 7,530 เตียง อาทิ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มหาวิทยาลัยมหิดล 470 เตียง /มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 470 เตียง / มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่ศูนย์สมุทรสงคราม 50 เตียง / มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี 360 เตียง/ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ที่ศูนย์การศึกษา อ.เดิมบางนางบวช 100 เตียง / มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ที่หอพักนักศึกษา 50 เตียง / มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล สุวรรณภูมิ 350 เตียง เป็นต้น