“สามแพร่ง” สังคมชาติ – เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

ภาพยนต์ “สามสัส ฟิล์ม” ใกล้จบ
ดาราต้องออกมาประชัน ทั้ง “ในคุก-นอกคุก” รวมทั้ง “ในรัฐสภา” แบบนี้แหละ
ที่น่าสนใจ เห็นจะเป็นที่ “ศาล”!
คือเป็นครั้งแรก อันไม่เคยปรากฏเช่นนี้มาก่อน
ที่ “จำเลย” จะแสดงพฤติกรรม “ก้าวร้าวท้าทายอำนาจศาล” ต่อหน้าองค์คณะผู้พิพากษาบนบัลลังก์ อย่างที่ “นายเพนกวิน” กระทำ วัน-สองวัน นี้

ถือเป็นกรณีศึกษา “เชิงทดสอบ” กระบวนการกฎหมาย ว่า การละเมิดศาล, หมิ่นศาล, ก้าวล่วงศาลซึ่งๆ หน้า แบบนี้
ด้วยผิดนี้ โทษเช่นใด?

โทษนั้น สังคมจะได้ยึดเป็น “มาตรฐานยุติธรรม” ต่อผู้ทำความผิดลักษณะนี้ เป็นบรรทัดฐาน

ที่ “รัฐสภา” ก็น่าศึกษา-น่าสนใจ เช่นกัน
เพราะ ๑๗ มีค.๖๔ วันนัดโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ ๓ ของสมาชิกรัฐสภา
รัฐสภากล้า “สวนคำวินิจฉัย” ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่?

วันนี้รู้ ใครหมู่-ใครจ่า!

ตามวินิจฉัยศาลฯ แก้ไขรายมาตราในรัฐสภา “ทำได้” แต่แก้เพื่อไปร่างใหม่ทั้งฉบับ “ทำไม่ได้”

ถ้าอยากทำ ต้อง “ทำประชามติ” ก่อน
ถาม “ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” คือ ประชาชน ว่า “ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญใหม่มั้ย?”

ฉะนั้น ร่างฯ ที่จะโหวตวันนี้ มัน “แท้งนอกมดลูก” ไปแล้ว!
รัฐสภา โดยพรรคไหน-พวกไหน ต้องการแสดงบทฮีโร่เหมือนเพนกวินในรัฐสภาวันนี้ เชิญเลย

แต่อย่าลืม คำวินิจฉัยศาลฯ เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันกับทุกองค์กร!

สส.เนี่ย ศักดินาตั้งกันเองในสภาว่า “ท่านผู้ทรงเกียรติ”

“ทรงเกียรติ” ไม่ได้หมายความว่า “ทรงภูมิ” ทุกคน

ฉะนั้น เพื่อให้ “ทรงภูมิ” ด้วย ……….
ขออนุญาตนำเรื่อง “#หลักการ VS หลักกู” ที่ ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี โพสต์เมื่อวาน มาช่วยสร้างภูมิ

“#หลักการ VS หลักกู”
1) สหรัฐอเมริกา:กาลครั้งหนึ่งเมื่อ ค.ศ.1918 สภาสูงหรือ Supreme Court ของสหรัฐฯ ได้มีคำพิพากษาว่า
ร่างกฎหมายเกี่ยวกับ (การใช้แรงงานเด็ก) ที่รัฐสภาผ่านวาระ 3 ไปแล้วนั้น ไม่สามารถใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
เพราะเป็นกฎหมายที่ขัดกับหลักการรัฐธรรมนูญ (INCONSTITUTIONALITY)

ร่างกฎหมายดังกล่าว จึงกลายเป็น “โมฆะ” โดยปริยาย

(Supreme Court ของสหรัฐฯ ทำหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญด้วย)
ประชาชนมากกว่า 3 ใน 4 ของมลรัฐที่มีอยู่ ต่างออกมาปกป้องคำพิพากษาของศาลสูงดังกล่าวนั้น
แม้หลักการอันนี้ จะไม่ปรากฏชัดในรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ แต่ได้เคยมีคำพิพากษาของศาลสูงดังกล่าวไว้ในปี ค.ศ.1803

ซึ่งสหรัฐฯ ได้ยึดถือว่า เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาจนถึงปัจจุบัน

คำพิพากษาดังกล่าว มีความดังต่อไปนี้
“วัตถุประสงค์ของการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรก็เพื่อจะจำกัดอำนาจของสภานิติบัญญัติและฝ่ายอื่นๆของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ

จะมีประโยชน์อะไรที่จะมีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร ถ้ารัฐสภายังสามารถออกกฎหมายที่เป็นการกระทำเกินขอบเขตที่เป็นอำนาจของตนที่ถูกจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญ

ด้วยเหตุนี้ กฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา แต่เป็นกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ จึงต้องเป็นโมฆะและไม่มีผลทางกฎหมาย

จึงเป็นหน้าที่ของศาลฯที่จะต้องแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญกับการออกกฎหมายโดยรัฐสภา

เพราะหน้าที่ของศาล ก็คือ ต้องทำให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดให้ได้
จึงต้องใช้อำนาจศาลในการพิพากษาว่า กฎหมายใดที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะต้องเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับไม่ได้”

2)อังกฤษ:ศาสตราจารย์โรนัลด์ ดอร์กิน (DROF. RONALD DWORKIN)แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด พูดไว้ใน ปี ค.ศ. 1990 เกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า

“แม้ระบอบประชาธิปไตยมิได้เรียกร้อง (insist) ให้ศาลสูง (Supreme Court) ซึ่งในอังกฤษได้ทำหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญเหมือนในสหรัฐ เป็นผู้ตัดสินคนสุดท้ายก็จริง แต่ก็มิได้ห้ามมิให้ศาลฯต้องปฏิบัติเช่นนั้น”
(Democracy does not insist on judges having the last word, but it does not insist that they must not have it.)

3) เยอรมนี:เป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมสิทธิหน้าที่แก่ประชาชนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

โดยรัฐธรรมนูญของพวกเขา ได้บัญญัติให้ประชาชนสามารถฟ้องศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง โดยไม่ต้องฟ้องผ่านอัยการของรัฐ

ถ้าประชาชนพบว่า รัฐบาล หน่วยงานของรัฐหรือรัฐสภา ได้ใช้อำนาจที่เป็นการขัดหลักการของรัฐธรรมนูญ (Unconstitutionality)
ซึ่งได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 20 และมาตรา 93 โดยเฉพาะในมาตรา 93 นั้น ได้บัญญัติไว้ว่า

“ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดีดังกล่าว (ที่ประชาชนฟ้อง) เพราะเป็นหน้าที่ของศาลฯ ที่ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ”

4) หลักสากล:หลักนี้ มีว่า
“อรรถคดีทั้งปวงในแผ่นดินที่ได้มีการพิจารณาตามขั้นตอนที่ถูกต้อง (due process) เมื่อคดีถึงศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลสูง (Supreme court) และศาลปกครองสูงสุด
เมื่อมีคำตัดสินสุดท้ายในเรื่องนั้นๆ ออกมา ทุกคนต้องยอมรับและปฏิบัติตาม

จึงไม่เคยมีประเทศใด ที่รัฐสภาจะออกกฎหมายเพื่อล้างคำพิพากษาของศาลสูงสุดเหล่านั้นเลย

หลักนี้เป็นหลักสากลที่ทุกประเทศยึดถือปฏิบัติ ในทางวิชาการเรียกหลักนี้ว่า“หลักคำตัดสินสุดท้ายต้องเป็นของศาล” (Court’s final decision is the last word.)

หมายเหตุ :มีแต่ในประเทศไทยนี้แหละ ที่ครั้งหนึ่งเคยมีทั้ง ส.ส. และรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดหนึ่งออกมานั่งแถลงข่าวว่า พวกตนไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ น่าอายจริงๆ วะ!

5)ที่ต้องมีหลักอย่างนี้ ก็เพราะเป็นหลักการรัฐธรรมนูญที่เกิดจากปรัชญาของกลุ่มบูชารัฐธรรมนูญแบบเสรีนิยม (Liberal Constitution)

ที่เห็นว่า รัฐธรรมนูญที่ดี ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่แยกอำนาจ 3 ฝ่ายออกจากกันให้เด็ดขาด

เพราะถ้าอำนาจทั้งสาม คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ รวมอยู่ที่บุคคลคนเดียวหรือกลุ่มเดียวแล้ว
ย่อมนำมาซึ่งความเสี่ยงที่ประเทศจะประสบกับระบบทรราชที่กดขี่ (TYRANNY)

เพราะผู้มีอำนาจบริหาร จะออกกฎหมายที่กดขี่ประชาชนเมื่อใดก็ได้
โดยเฉพาะฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ มีโอกาสรวมตัวกันสูง จึงต้องให้ศาลมีอิสระเต็มที่ในการควบคุมและคานอำนาจดังกล่าวเอาไว้

เพื่อสนับสนุนหลักการดังกล่าว LORD ACTON แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดจึงได้กล่าวประโยคที่ดังก้องโลกไว้ว่า
“Power tends to corrupt, absolute power corrupts absolutely”

“อำนาจมีแนวโน้มจะทำให้คนดีเป็นคนชั่ว อำนาจที่มากมายอย่างเด็ดขาด ก็จะยิ่งทำให้คนกลายเป็นคนชั่วอย่างเด็ดขาด (หรือชั่วอย่างสุดๆ) ไปเลย”

6) ฝรั่งเศส:ในอารัมภบทของรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสได้เขียนหลักการในข้อ 5) นี้ไว้ว่า

“สังคมใดที่สิทธิของพลเมืองมิได้รับการรับรองและคุ้มครองอย่างชัดเจนและขาดซึ่งหลักประกันว่าด้วยการแบ่งแยกอำนาจแล้ว ถือว่าประเทศนั้น สังคมนั้น เป็นสังคมที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ”
(Any society in which the safeguarding of rights is not assured, and the separation of powers is not established, has no constitution.)

7)ก็เห็นนักการเมืองทั้งหัวหงอกหัวดำมักจะอ้างว่าตนต้องการให้ประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยแบบสากลมากยิ่งขึ้น

แล้วที่ผมอธิบายมาตั้งแต่ข้อ 1) ถึงข้อ 6) ล้วนแล้วแต่เป็นหลักการรัฐธรรมนูญแบบเสรีนิยม ทั้งสิ้น

จึงไม่ควรมีใครจะออกมาพูดกระแนะกระแหนศาลรัฐธรรมนูญ ว่ามาแทรกแซงการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ

เราควรจะใช้โอกาสนี้เพื่อทำประชามติ
สอบถามประชาชนว่า ยังยินดีที่จะให้ใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อยู่ต่อไปหรือไม่
นักการเมืองจำนวนหยิบมือเดียวที่พูดกระแนะกระแหนว่าเป็นรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจของเผด็จการ ท่านแน่ใจได้อย่างไรว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศคิดเหมือนพวกท่าน

รัฐธรรมนูญของเยอรมันที่ใช้จนถึงปัจจุบัน เริ่มจากการควบคุมการยกร่างโดยฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ก่อนจะประกาศใช้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลสหรัฐฯ รัฐบาลอังกฤษ และรัฐบาลฝรั่งเศส เสียก่อน
แต่ก็ไม่เห็นคนเยอรมันจะกระแนะกระแหนว่าเป็นรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจของฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงคราม

รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นที่ใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน ก็ถูกควบคุมการยกร่างโดยจอมพลแมคอาร์เธอร์ ในนามของรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ไม่เห็นคนญี่ปุ่นจะกระแนะกระแหน ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของสหรัฐฯ

สำหรับประเทศไทย นักการเมืองมักจะอ้างประชาชน ทั้งๆที่ลึกๆแล้ว ไม่พอใจที่พวกตนเสียผลประโยชน์
ทำประชามติถามประชาชนกันจริงๆ สักครั้ง สิครับ จะได้รู้จริงเสียทีว่าอะไรเป็นอะไร.

ผมขอเรียนว่า บทความที่ลงในเฟซบุ๊ก เป็น #ความเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับพรรคปชป.แต่อย่างใด
-ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี
………………………….

วันนี้ยาว ไม่สนุก แต่ไม่เป็นไร
ต่อจากนี้ “ในถนน” สนุกแน่!

 

Written By
More from plew
ไทยสู่ยุค “ยุทธปัจจัย” กินได้
ขออาลัย…. ต่อการสิ้นไปแห่งอายุขัย ในปีที่ ๙๖ ของ “พันเอกประพัฒน์ จันทร์โอชา” บิดา “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ที่โรงพยาบาลศิริราช...
Read More
0 replies on ““สามแพร่ง” สังคมชาติ – เปลว สีเงิน”