สธ. ติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และเฝ้าระวังเข้มทั้ง 3 ระดับ

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุด WHO รายงานการระบาดในประเทศดีอาร์ คองโก และประเทศกินี เผยปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีผู้ป่วยโรคดังกล่าว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นทั้ง 3 ระดับ

16 กุมภาพันธ์ 2564 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในต่างประเทศที่ยังคงต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาครั้งใหม่ในสองประเทศแถบแอฟริกา ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DR Congo) และประเทศกินี

ซึ่งการระบาดครั้งนี้พบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยไม่มาก แต่ทางองค์การอนามัยโลกได้ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานของทั้งสองประเทศเพื่อควบคุมและยุติการระบาดในครั้งนี้ สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันยังไม่มีผู้ป่วยที่สงสัยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาตามระบบที่วางไว้อย่างต่อเนื่องและเข้มข้นทั้ง 3 ระดับ ได้แก่

1.ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ

2.โรงพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชน และ

3.ในระดับชุมชน

โดยเฝ้าระวังและตรวจคัดกรองผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่ระบาดในทุกๆ ช่องทางเข้า-ออก ทั้งที่ด่านสนามบิน ด่านท่าเรือ และด่านชายแดน หากพบผู้เดินทางมีอาการคล้ายโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาจะรับเข้าดูแลในโรงพยาบาลที่จัดเตรียมไว้ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด เพื่อให้การรักษาตามมาตรฐานที่กำหนด

นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป มีดังนี้

1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่าที่นำเข้ามาโดยไม่ผ่านการตรวจโรค

2.หลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์ป่าที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะสัตว์จำพวกลิง ค้างคาว หรืออาหารเมนูพิสดารที่ใช้สัตว์ป่าหรือสัตว์แปลกๆ มาประกอบอาหาร และ

3.สำหรับประชาชนที่เดินทางไปต่างประเทศ ขอให้ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล โดยหมั่นล้างมือบ่อยๆ รับประทานอาหารที่สุก ร้อน สะอาด และหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค

อาการสงสัยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ได้แก่ มีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงตามตัว สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

Written By
More from pp
“โสภณ” ถกเครือข่ายการศึกษา รัฐ เอกชน ประชาสังคม แก้ไขปัญหาคุณภาพศึกษา ปลอดยาเสพติดในพื้นที่ บุรีรัมย์
13 ธันวาคม 2567 นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร และเครือข่ายทางการศึกษา ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยมี...
Read More
0 replies on “สธ. ติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และเฝ้าระวังเข้มทั้ง 3 ระดับ”