สมควรชดใช้กรรม?

“ยุติโทษประหาร” คงศักดิ์ศรี “ความเป็นมนุษย์”..

นี่..เป็นหัวข่าว “มติชนออนไลน์” เมื่อหลายวันก่อน โดย นายฮานน์ โซฟี เกรฟ กรรมาธิการคณะกรรมการสากลต่อต้านโทษประหารชีวิตกล่าว…

“ประเทศที่นำโทษประหารชีวิตมาใช้ใหม่ ไม่ได้ทำให้อัตราการก่ออาชญากรรมลดลง เมื่อยกเลิกโทษประหาร ก็ไม่ได้ทำให้อัตราก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้น

ฉะนั้น การใช้โทษประหารจึงไม่ได้มีผลในการป้องปรามอาชญากรรม”

ด้านนายโคทม อารียา บอก.. “โทษประหารชีวิตไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการป้องกันอาชญากรรมและป้องปรามผู้ที่จะกระทำความผิดให้ยับยั้งชั่งใจก่อนลงมือการกระทำ..

ในประการสำคัญ การประหารชีวิตเป็นการลิดรอนสิทธิในชีวิตซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และการปลิดปลงชีวิตน่าจะขัดกับหลักคำสอนของหลายศาสนา”

ครับ..ผมก็ไม่มีข้อมูลในเชิงวิชาการ และไม่ได้เป็นกรรมการ “สิทธิ” ขององค์กร-หน่วยงานไหน แต่ด้วยมโนสำนึก..

ผมไม่เชื่อว่า.. “การใช้โทษประหารไม่ได้มีผลในการป้องปรามอาชญากรรม”!

ข้อมูลคุณโคทมจะได้มาจากไหนไม่ทราบ แต่เท่าที่ฟังเสียงจากผู้คนส่วนใหญ่ ต่างเห็นว่า..โทษประหาร น่าจะช่วยให้ผู้กระทำได้เกิดการยับยั้งชั่งใจได้บ้างไม่มากก็น้อย และมองไม่เห็นเป็นการ..

ลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ตรงไหน?

ตรงกันข้าม อาชญากรรม-ผู้กระทำนั่นแหละที่เป็นฝ่าย “ลิดรอนสิทธิ”ในชีวิตของผู้อื่น และยิ่งสังคมปัจจุบันที่นับวันคนจะขาดศีล-ขาดธรรม..

ก็ควรอย่างยิ่งที่จะมีโทษประหารเอาไว้บังคับใช้!

เพราะหากไม่มี “โทษ” ที่หนัก-รุนแรงไว้คอยคุมคอยปราม ด้วยมองว่าเป็นการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์แล้ว..

คดีก่ออาชญากรรมร้ายแรง ก็ (น่า) จะมีมากขึ้นๆ!

โทษประหารชีวิตจะป้องปราม หรือป้องกันอาชญากรรมได้-ไม่ได้ ใครก็ไม่อาจตอบได้ จริง-ไม่จริง ใช่-ไม่ใช่ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า..

ทุกชีวิตย่อมต้องมี “สิทธิขั้นพื้นฐานของความมนุษย์เท่าเทียมกัน”

ฉะนั้น..การที่มีโทษประหารชีวิตใส่เอาไว้ในกฏหมาย จุดประสงค์ไม่ได้หมายจะไปรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้หนึ่งผู้ใด

แต่มีไว้เพียงเพื่อให้เกิดความยับยั้งชั่งใจ สำหรับผู้ที่คิดจะกระทำผิดอย่างร้ายแรงต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้อื่น ซึ่งจะป้องปรามหรือป้องกันได้หรือไม่?

นั่น..ก็สุดแท้แต่ “กรรม” ของแต่ละคน เพราะเมื่อรู้อยู่เต็มอก ว่าการกระทำแบบนี้เป็นความผิดมหันต์โทษถึงขั้น “ประหารชีวิต” แต่ยังจะทำ..

ถามนายฮานน์-คุณโคทม มันสมควร

“ชดใช้กรรม”มั้ยล่ะ?

Written By
More from pp
ทีเซลส์ ปั้นผู้ประกอบการ ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง และ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสมุนไพร ผ่านโครงการ TCELS Mentoring Program ขับเคลื่อนวิสาหกิจอุตสาหกรรม-ชีววิทยาศาสตร์ไทย
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ ประกาศรายชื่อผู้ชนะการแข่งขัน Pitching 5 รายจากผู้ประกอบการ 12 รายที่เข้าร่วมโครงการ TCELS Mentoring Program...
Read More
0 replies on “สมควรชดใช้กรรม?”