เปลว สีเงิน
“การฟังไม่ได้ศัพท์แล้วจับไปกระเดียด”นี่ มันน่ากลัวจริงๆ!
อย่างเช่น เรื่องการตั้ง “คณะกรรมการสมานฉันท์”
พอประธานรัฐสภา “นายชวน หลีกภัย” บอกจะเชิญอดีตนายกฯ และอดีตประธานรัฐสภามาให้ความคิดเห็น ซึ่งตอนนี้ตกปากรับคำแล้ว ๓ ท่าน เท่านั้นแหละ
เซ็งแซ่!
พอเอ่ย ๓ ชื่อ ว่าตกปากรับคำจะมาร่วม มีนายอานันท์ ปันยารชุน, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และอีกท่าน “นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์” ที่ยังติดต่อไม่ได้ เท่านั้นแหละ
จากซุบซิบ เป็นฮือฮา ตามมาด้วยเกี๊ยะปลิวว่อน!
ปลิวไปที่ประธานชวน จวกกันยับ เป็นยาหมดอายุ เอามาทำไม?
คงเห็นกันแล้ว ว่อนในโซเชียลมีเดีย ถ้าผมเป็นประธานชวนก็คงน้อยใจ
สู้อดทน พยายามทุกวิถีทาง เพื่อประคับ-ประคองสถานการณ์ ไปสู่สังคม “ประนี-ประนอม”
แต่ดูเหมือน แต่ละคน-แต่ละฝ่าย จะ “เอาใจตัวเอง” เป็นที่ตั้ง ไม่ฟังอีร้าค่าอีรม พลุ่งพล่าน สาดใส่ ชนิดไม่ปรานี-ปราศรัย นึกว่าโก้
ผมก็เห็นใจท่านประธานชวนนะ
มุ่งมั่น เค้นหาทางออกให้สังคมชาติ กลับถูกรานน้ำใจ ทั้งที่เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง กลับต้องเอากระดูกแขวนคอตัวเองเช่นนี้
เจ็บกายแค่ผิวหนัง ผิดหวังในคนนี่ซี เจ็บลึกถึงหัวใจ
ระดับชาวบ้าน ตะโกนนั่น-นี่ พอเข้าใจได้ในวิสัยทัศน์ท่านผู้ชมบนอัฒจันทร์ ซึ่งอยู่วงนอก
แต่เมื่อวาน (๔ พย.๖๓) นายสิระ เจนจาคะ ถือเป็นคนวงใน อยู่บนเวทีในฐานะสส.ซ้ำเป็นสส.พลังประชารัฐ “พรรครัฐบาล” กลับตะคอกใส่ประธานชวน
น่าเกลียดหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ สำหรับผม มันใช่อยู่แล้ว แต่กับคนอื่นๆ มีความรู้สึกตอบสนองอย่างไร ใคร่ครวญเองละกัน
ลองอ่านที่สส.สิระเขาพูดดูนะ……
“ผมไม่เห็นด้วยที่จะเชิญบุคคลเหล่านี้เข้ามาร่วมอยู่ในคณะกรรมการปรองดองฯเพราะนายอานันท์ บอกว่าอยากให้พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ลาออก
ถามว่า “ใครจะมาเป็นนายกฯแทน” หรือว่า “ท่านหวังจะเป็นนายกฯ ส้มหล่นเหมือนที่ผ่านมา”?
ส่วนนายอภิสิทธิ์ ที่บอกไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ พอพล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ นายอภิสิทธิ์ก็เข้ามาเป็นส.ส.ระยะหนึ่งแล้วลาออก
หมายความว่า ท่านไม่ยอมรับระบบรัฐสภาหรือไม่?
ขณะที่นายสมชายนั้น สังคมรู้ว่า ฝักใฝ่ฝ่ายใด เป็นคนของใคร จึงไม่มีความน่าเชื่อถือ
“ผมอยากถามไปถึงนายชวน ว่าใช้อำนาจอะไรเพียงคนเดียวในการตั้งคณะกรรมการปรองดองฯ ทั้งที่เรามีสภา เหตุใดจึงไม่ขอความเห็นจากสภาว่า จะออกแบบคณะกรรมการชุดนี้อย่างไร
ท่านคิดว่า บ้านเมืองนี้เป็นระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ และยังมีสภาหรือไม่ ผมเห็นว่า บุคคลที่เตรียมเชิญเข้ามาล้าสมัย เก่าแก่ หมดสภาพที่จะมาทำงานในจุดนี้
ผมจึงไม่เห็นด้วย ไม่เหมาะสม ที่จะเป็นกรรมการปรองดอง แต่ถ้าเอาไปดองเค็มใส่เกลือจะเหมาะกว่า”
“เด็กที่มาชุมนุม ต้องการอนาคต แต่กลับเอาคนอายุ ๘๐-๙๐ ปี เดินไม่ไหว เก่าแก่เกินไป มาใช้ในยุคนี้ หากเอาไปดองเค็ม ผมจะเห็นด้วย
วันนี้ เรามีสภาควรให้ส.ส.เป็นคนออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นตัวกรรมการหรือจำนวน เพื่อหาทางออกประเทศ ไม่ใช่คนโบราณ
เราต้องดูผู้ชุมนุมว่าเขาเรียกร้องอนาคตไม่ใช่เอาเรื่องอดีตมาคุยกัน ท่านประธานรัฐสภา ทำไมตัดสินคนเดียว
ท่านต้องพิจารณา คิดถูกหรือคิดผิด อยากให้ตัดสินใจโดยผู้แทน ไม่ใช่บุคคลเพียงคนเดียว ที่เสนอชื่อใครเป็นกรรมการก็ได้”
ด้านความเห็น เป็นสิทธิ์ของท่าน แต่ด้านถ้อยคำ เป็นสิทธิสาธารณะต้องพูดจากัน
กับระดับประธานรัฐสภา ในฐานะท่านเป็นสส.สมควรใช้กิริยา-วาจา ให้เกียรติทั้งตัวเอง และทั้งกับตัวท่านประธานรัฐสภาด้วย
และมีอย่างหนึ่ง เข้าใจว่าสส.สิระก็น่าสำนึกได้อยู่แล้ว ในฐานะคนพรรคแกนรัฐบาล ว่า
รัฐบาลอยู่ถึงวันนี้ได้…….
ส่วนหนึ่ง มาจากการทำหน้าที่ ไม่บีบรัด ไม่มุโขโลกนะ ของท่านประธานชวน ยึดกติกา แต่ไม่ถือดีในอำนาจในการทำหน้าที่
การประคับ-ประคองรัฐสภา “ขิงรา-ข่าแรง” ให้อยู่รอด นั่นก็เท่ากับประคับ-ประคองรัฐบาลให้อยู่รอดด้วย!
การแสดงความเห็นชนิด “จิกหัวด่า” ทั้งประธานชวน และอดีตนายกฯ ๒-๓ ท่าน อย่างนั้น
ไม่ใช่ภาพ “ผู้ทรงเกียรติ” ที่สังคมมุ่งหวังจะได้เห็นเลย
ที่ผมพูดข้างต้น “ฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด” ในเรื่องนี้ เป็นอย่างนั้นจริงๆ
เพราะที่นายกฯ ชวนบอก ไปทาบทามอดีตนายกฯ มาร่วมนั้น ก็ทึกทักกันทันทีว่า จะให้ท่านเหล่านั้นมาออกแบบสมานฉันท์
ไม่ใช่ครับ…
โปรดตั้งสติ และทบทวนคำประธานชวนแจกแจงให้ถ้วนถี่ก่อนจะแยกเขี้ยวใส่
การฟังแค่ ๓ ชื่ออดีตนายกฯ แล้วใช้ความชอบ-ไม่ชอบฟันฉับ ว่าเป็นยาหมดอายุ เป็นคนแก่เกินแกง เคยมีทัศนคติปฏิเสธนายกฯ ประยุทธ์ ไม่เอา…เราไม่ฟัง นั้น
อย่ารวบรัดถึงขนาดนั้นเลย เตียวหุยน่ะเก่ง แต่ทำให้กองทัพต้องพ่ายแพ้หลายครั้ง ไม่เพราะความหุนหันพลันแล่นดอกหรือ?
เรื่องนี้ เท่าที่ผมฟัง ประธานชวน เชิญมาให้ความคิดเห็นเท่านั้น
ไม่ใช่ให้มาเป็นตัวชี้กฎ-กำหนดกรอบสมานฉันท์ และเป็นคณะกรรมการฯ ทันทีทันใด อีกทั้งแต่ละอดีตนายกฯ จะยอมเป็นหรือไม่ ในทางปฏิบัติ ยังไปไม่ถึงขนาดนั้น
แต่มโนกันไปไกล จนแทบกู่ไม่กลับกันแล้ว!
ที่ว่า เรื่องนี้ ต้องให้สภาเป็นผู้ออกแบบ ไม่ใช่ประธานชวนหรือใครคนนอกมาออกแบบ นั้น
ก็ใช่ไง…..
สมาชิกรัฐสภาเองนั่นแหละ คราวอภิปรายไม่ลงมติเมื่อ ๒๖-๒๗ ตค. เสนอให้ตั้งคณะกรรมการหาทางออก นายกฯ ก็เห็นชอบ และให้รัฐสภาเป็นเจ้าภาพ
ประธานชวน ก็ขอแรงสถาบันพระปกเกล้าให้ทำหน้าที่ออแกไนเซอร์ เพราะมีเครื่องไม้-เครื่องมือ พร้อม
ทางสถาบัน โดยเลขาฯ “นายวุฒิสาร ตันไชย” บอก ขั้นแรก “ต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คู่ขัดแย้งก่อน”
ประธานชวนก็เชิญผู้นำแต่ละฝ่ายมาเคาะดูท่าที ว่าจะร่วม/ไม่ร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ขนาดไหน
ท่านบอก รูปแบบคณะกรรมการฯ ที่ตั้งเป็นตุ๊กตาในการหารือกับสถาบันพระปกเกล้า มี ๒ รูปแบบ
คือแบบ คณะกรรมการ ๗ ฝ่าย ตามที่หัวหน้าประชาธิปัตย์เสนอ
กับแบบ “มีคนกลาง” โดยเสนอจากทุกฝ่ายหรือให้ประธานรัฐสภาไปสรรหาบุคคล
หรือประธานรัฐสภา ตั้งประธานคณะกรรมการและให้ประธานกรรมการไปคัดเลือกบุคคลคัดเลือก
ประธานชวนก็บอกชัด…..
จะเอาทั้ง ๒ แบบผสมผสาน โดยขั้นแรก ท่านจะเชิญอดีตนายกฯ, อดีตประธานรัฐสภามาให้ความเห็น
ส่วนฝ่ายอื่นๆ รวมทั้งคู่ขัดแย้งที่เห็นในถนน ที่เป็นอีแอบตามซอกหลืบ ต่างๆ นานา ทางสถาบันก็จะไปเชิญมาเคาะดูท่าทีว่าจะเอายังไงกันบ้าง
สรุปแล้ว ทั้งหลาย-ทั้งปวง แค่อยู่ในขั้นตอน “สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คู่ขัดแย้ง” ก่อนเท่านั้น
ยังไปไม่ถึงและยังไกลขั้นตอน ว่าตกลงเอาโมเดลไหน ฝ่ายไหน ใครบ้าง มาเป็นคณะกรรรมการสมานฉันท์ และมีรูปแบบอย่างไรที่จะทำให้ทุกฝ่ายสรุป ณ จุดสมานฉันท์!
ฉะนั้น……..
อย่าเพิ่งโฉงเฉง เฉ่งปี๋ท่านประธานชวนด้วยคิดเอา-นึกเอา ว่าท่านชวนจะคิดไม่ซื่อ
นี่ถ้าประธานชวนเกิดรำคาญ เก่งกันนัก งั้น…ฉันวางอุเบกขา แค่นั้น หายนะระบบรัฐสภา จะนำโกลาหล ด้วยมีคนถือเป็นเหตุ เผาลงกาทันที!
ความคิดนกกระจอกมันไม่เท่านกอินทรีเห็นจะจริง ผมมองว่า การเชิญอดีตนายกฯมาให้ความเห็น เป็นแต้มหมากแหลมคมมาก
ไม่มีใครเอาไม้กลมมากลึง มีแต่เอาไม้เหลี่ยมมากลึงให้กลม การสมานฉันท์ ไม่ได้หมายถึงให้ทุกคนต้องคิดเห็นไปในทางเดียวกัน
แต่หมายถึงการจัด “ความเห็นต่าง” ในเรื่องเดียวกันให้เรียงตัวเข้าสู่กระบวนการสร้างสรร แทน “ทัศนคติปฏิปักษ์” มุ่งหักร้าง-ทำลายซึ่งกันและกัน
การยอมรับในความเห็นต่าง คือสมานฉันท์ ของสังคมเชิงชั้นสังคมปัญญา
การตีกรอบให้ทุกคนต้องเห็นตามกัน ไม่ใช่สมานฉันท์ มันคือการบีบคั้น ของสังคมเชิงชั้นสนตะพาย
การเชิญอดีตนายกฯ ที่มีทัศนคติลบกับนายกฯ ประยุทธ์มาให้ความคิดเห็นนั่นแหละดีแล้ว
จะได้ฟังเขา ว่าที่ไม่ดีนั้น แบบไหน และแบบไหนที่ว่าดี จะได้เป็นข้อมูลสรุปสู่ประเด็นแสวงหาหนทางที่ยอมรับกันได้หรือไม่ได้เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น
ยาทุกอย่างในโลก ถ้าขาดยาดำคือยาประเภทขมแทรก ใช้รักษาโรคไม่ได้หรอก!
อย่าลืม เมื่อเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ ไม่มีเพียงแค่อดีตนายกฯ เท่านั้น ยังประกอบด้วยคนหลายฝ่าย ซึ่งไม่มีใครยอมอยู่ใต้ความคิดใครหรอก
แต่ด้วยเหตุและผล ด้วยจริงที่ควรเป็น ด้วยกฎ-กติกาสังคม คณะกรรมการฯซึ่งได้ชื่อว่า “ชนชั้นวิญญูชน” ย่อมไม่ดื้อด้านที่จะขึ้นไปอยู่เหนือสิ่งเหล่านั้น
และต้องไม่ลืม………
สมมติ คณะกรรมการฯ มีผลสรุปออกมาแล้ว ก็ใช่ว่า ต้องเป็นไปตามนั้น มันแค่ผลสรุป ผลศึกษา ยังต้องผ่านมติสมาชิกรัฐสภาอีกขั้น
นั่นก็ยังไม่สำคัญเท่า ๑..๒..๓..๔..๕ ที่ออกมานั้น ต้องผ่านด่านประชาชน คือ
ต้องทำ “ประชามติ” ก่อน ว่าที่เห็นชอบ จะเอาอย่างนั้น-อย่างนี้กันนั้น ประชาชนเอาด้วย-เห็นด้วยมั้ย?
ในเมื่อบอกว่า “ราษฏรเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ก็ต้องให้ราษฏรคนมี ๕ นิ้ว ออกเสียงชี้ขาด คน ๒ นิ้ว ๓ นิ้ว นิ้วเดียว ชี้ขาดไม่ได้!
แต่สรุปด้านความเห็นผม เพื่อไม่ให้กาน้ำที่เดือดระเบิด จะเจาะรูให้มันได้ระเหย แค่นี้ก็ดีแล้ว ไปหวังอะไรให้มันมากไปเล่า?
ก็เห็นพวกคางคกหัวฝน ยืน ๓ ขา ต้องนายกฯ ลาออก ต้องเขียนรัฐธรรมนูญตามต้องการ ต้องล้มพูดเลี่ยงๆ ว่าต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์สถานเดียว
ไม่งั้น..ไม่คุย ลุยลูกเดียว!
ก็ชัด…สามสัสร่างทรงไอ้สัส ไม่ต้องการสมานฉันท์
ฉะนั้น ก็จะบอกว่า…….
หัดเป็นคนโง่ไว้บ้าง แล้วจะฉลาด!