“สุณัฐชา” ระบุการให้นายกฯ ลาออก-ยุบสภาตอนนี้ ไม่ใช่ทางออกของปัญหา เห็นด้วย “หน.จุรินทร์” ตั้งคณะทำงานเพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาประเทศ

27 ต.ค. 2563 นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดตรัง เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะสมาชิกรัฐสภาอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่า การที่มีประชาชนจำนวนมากออกมารวมกันและยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลโดยมีเป้าประสงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน อาจจะเป็นเพราะช่วงเวลานี้เป็นจุดเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย อาจจะเป็นเพราะคนต่างวัยจึงเป็นที่มาของการเผชิญหน้ากันทางความคิดและอุดมการณ์

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ฟังดูปกติอาจกลับกลายเป็นความผิดปกติเมื่อการเผชิญหน้ากันทางด้านความคิดไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะฉนวนเหตุที่เกี่ยวข้องกับสถาบันทางการเมืองและคำนิยามของคำว่าประชาธิปไตยเท่านั้น แต่กลับเป็นความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับสถาบันอันเป็นที่รักยิ่งของคนไทยมาช้านาน เกิดการแสดงออกของคนกลุ่มหนึ่งโดยการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์และมีพฤติกรรมที่ส่อไปยังเรื่องของการขัดขวางขบวนเสด็จเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 เป็นการทำร้ายจิตใจของคนอีกกลุ่มหนึ่งจนมีการออกมาตอบโต้

ตลอดเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา เชื่อว่าเราทุกคนรับทราบและสัมผัสได้ถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเมื่อมีความเห็นต่างของภาคประชาชน แต่ใน 2 วันนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่สภาแห่งอันทรงเกียรติทำให้ภาคส่วนการเมืองตัวแทนของพี่น้องประชาชนจากทุกพื้นที่ได้มานั่งพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาเพื่อแสวงหาจุดร่วมและสงวนจุดต่าง หาทางออกให้กับประเทศซึ่งเมื่อพิจารณาถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม 3 ข้อด้วยกันถึงแม้วันนี้สภาแห่งนี้จะนำเรื่องข้อเสนอทั้ง 3 ข้อเข้าสู่ที่ประชุม

แต่อย่างไรก็ตามส่วนตัวเห็นว่าเนื้อหากลับไม่สอดคล้องกันเพราะคิดว่าที่เรากำลังถกเถียงกันอยู่นั้นยังไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งครั้งนี้เท่าที่ควร คำถามที่เกิดขึ้นคือเรากำลังทำเรื่องง่ายให้กลับกลายเป็นเรื่องยากหรือไม่ อย่างน้อยที่สุดวันนี้ควรมีการยกประเด็นข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นที่สามารถพูดคุยกันได้เข้ามาพิจารณาก่อน



ส่วนตัวในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตัวแทนของพี่น้องประชาชนจึงขอเสนอ 3 จุดยืนและ 1 ทางออกที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมดังต่อไปนี้

ประการแรก เมื่อมีการชุมนุมที่เกิดขึ้นโดยสงบส่วนตัวไม่สนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงทุกประเภทจากทุกฝ่ายซึ่งเห็นได้จากประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาหลายครั้งและทุกครั้งก็ได้สร้างบาดแผลให้กับสังคมและพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้แก้ปัญหาอย่างแท้จริงจากบทเรียนในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีการปราบนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยชนวนเหตุที่มีการสร้างความเกลียดชังของผู้เห็นต่างจนนำไปสู่การสูญเสีย เหตุการณ์ครั้งนั้นเชื่อว่ายังคงเป็นเครื่องเตือนสติให้กับทุกฝ่ายว่าเราไม่ควรสร้างเงื่อนไขให้กับสังคมกลับไปสู่จุดนั้นอีกเพราะฉะนั้นการชุมนุมที่เกิดขึ้นจะต้องไม่มีผู้สูญเสีย

ประการที่สอง ทุกฝ่ายต้องเคารพกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายต้องเป็นธรรมเพราะประเทศไทยเราเองปกครองด้วยหลักนิติรัฐและนิติธรรมซึ่งเป็นสิ่งสำคัญไม่ใช่เป็นเพียงเพราะบัญญัติในรัฐธรรมนูญแต่มันเป็นหัวใจหลักในการใช้บริหารบ้านเมือง
ดังที่นายชวน หลีกภัย ได้เคยกล่าวไว้ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีว่าถึงแม้ท่านจะไม่สามารถทำให้คนรวยเท่ากันได้แต่ท่านเองสามารถทำให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันได้ สิ่งนี้คือสิ่งที่ผู้นำทุกคนต้องปฏิบัติตาม การประกาศ พรก. ฉุกเฉินก่อนหน้านี้ ส่วนตัวเข้าใจดีว่าท่านนายกรัฐมนตรีทำไปบนพื้นฐานของเหตุและผล

แต่อย่างไรก็ตามบนความเห็นที่ไม่ตรงกันในช่วงเวลานั้นนายกรัฐมนตรีก็ควรจะระมัดระวังให้มากกว่านี้โดยเฉพาะในเรื่องของการเข้าจับกุมและการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมตามพรก.ฉุกเฉินทราบมาว่ามากกว่า 40 ราย

ประการสุดท้าย คงหนีไม่พ้นเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอดเพราะส่วนตัวคิดว่าการเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะมาตรา 256 นั้นสามารถลดความตึงเครียดในภาวะเช่นนี้ได้หลังจากนั้นก็ควรจะมีการตั้ง ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่พิจารณาประเด็นต่าง ๆ

ส่วนจะปิดสวิตช์ สว. หรือไม่นั้นก็ต้องมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชนเป็นผู้พิจารณาและเมื่อ สสร. พิจารณาเสร็จสิ้นหากกลุ่มผู้ชุมนุมจะเรียกร้องให้มีการยุบสภาในตอนนั้นส่วนตัวก็คิดว่าฟังดูแล้วก็คงจะมีน้ำหนักแต่การที่ผู้ชุมนุมจะเรียกร้องให้มีการยุบสภาหรือให้ท่านนายกรัฐมนตรีลาออกในตอนนี้แลดูจะไม่ใช่ทางแก้ปัญหา

ทุกฝ่ายรู้ดีว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในตอนนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างผู้ชุมนุมกับรัฐบาลมันไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลในสภาที่จะส่งผลให้สภาแห่งนี้เดินหน้าต่อไปไม่ได้และท้ายที่สุดต้องคืนอำนาจให้กับประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ

ส่วนตัวจึงเห็นว่าการขอให้มีการยุบสภาและการขอให้นายกรัฐมนตรีลาออกในตอนนี้ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายจึงไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมดังที่ประธานวิปฝ่ายค้านได้ระบุว่าการยุบสภาไม่ใช่ทางออกของปัญหา

อีกทั้งยังให้สัมภาษณ์ว่าฝ่ายค้านเองจะพยายามทำงานร่วมกับรัฐบาลและ สว. เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสังคมมากที่สุดและนี่คือเป็นเครื่องยืนยันว่าชั่วโมงนี้สภาแห่งนี้ยังคงเดินหน้าต่อไปได้ก่อนที่การเผชิญหน้าทางด้านความคิดและอุดมการณ์จะหนักกว่านี้ก่อนที่อะไรอะไรจะเกินเลยและก่อนที่จะสายเกินไป

ถึงเวลาแล้วที่สภาอันทรงเกียรติแห่งนี้จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อหาทางออกประเทศอย่างจริงใจรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายอย่างเป็นรูปธรรมโดยยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดังที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้กล่าวเอาไว้เมื่อวาน

Written By
More from pp
“พล.อ.ประวิตร” นำทัพ พปชร.ลงพื้นที่บ้านมูโนะ จ.นราธิวาส มอบถุงยังชีพให้ ปชช.-จนท.-ผู้บาดเจ็บ จากเหตุโกดังพลุระเบิด สั่งระดมเร่งด่วนฟื้นฟูที่อยู่อาศัย ใช้เงินให้เป็นธรรมและโปร่งใส
7 สิงหาคม 2566 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง...
Read More
0 replies on ““สุณัฐชา” ระบุการให้นายกฯ ลาออก-ยุบสภาตอนนี้ ไม่ใช่ทางออกของปัญหา เห็นด้วย “หน.จุรินทร์” ตั้งคณะทำงานเพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาประเทศ”