28 ก.ย.63 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 3/2563 ณ ณ ห้องประชุม 351 อาคาร 3 ชั้น 4 สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อดำเนินการประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไป 2 เรื่อง และมาตรฐานบังคับใช้ 1 เรื่อง รวม 3 เรื่อง ได้แก่
1. พืชสมุนไพรแห้ง จำนวน 5 เล่ม คือ เล่ม 1 หัว เหง้า และราก เล่ม 2 ใบ ส่วนเหนือดิน และทั้งต้น เล่ม 3 ดอก เล่ม 4 ผลและเมล็ด และเล่ม 5 เปลือกและเนื้อไม้
2. การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตก้อนเชื้อเห็ด และ
3. การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง
สำหรับ ร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบเป็นมาตรฐานบังคับ โดยจะบังคับใช้กับปางช้างทุกขนาด ระยะเวลาบังคับใช้ จะมีผลนับแต่วันประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ต่อไป เพื่อเป็นการปรับปรุงการปฏิบัติที่ดีในการจัดการเลี้ยงช้างที่ถูกต้องและเหมาะสม ให้เป็นไปตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ รวมทั้งเป็นการยกระดับมาตรฐานปางช้างไทย
โดยขอบข่ายของมาตรฐานนี้ กำหนดการปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง ครอบคลุมองค์ประกอบปางช้าง การจัดการปางช้าง บุคลากร สุขภาพช้าง สวัสดิภาพสัตว์ สิ่งแวดล้อม การจัดการด้านความปลอดภัย การบันทึกข้อมูล เพื่อให้ช้างมีสุขภาพที่ดี โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ สิ่งแวดล้อม รวมถึงสุขภาพและความปลอดภัย และสวัสดิภาพของบุคลากรและความปลอดภัยของผู้มาใช้บริการ
ซึ่งมาตรฐานนี้ไม่ครอบคลุม 1) การเลี้ยงช้างในครัวเรือน โดยไม่มีการประกอบกิจการเกี่ยวกับช้างเพื่อการท่องเที่ยวหรือการแสดง 2) การเลี้ยงช้างไว้ใช้แรงงาน เช่นการชักลาก และ 3) ศูนย์อนุรักษ์ เพื่อการอนุรักษ์และบริบาลช้าง โดยเป็นกิจการที่ไม่แสวงหากำไร
“ประเทศไทยมีปางช้างจำนวนมากที่ทำธุรกิจบริการ เช่น การแสดงช้าง หรือกิจการท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับช้าง ซึ่งปางช้างส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการปฏิบัติที่ดีในการจัดการควบคุมดูแลและเลี้ยงช้างที่ถูกต้อง ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพช้าง รวมทั้งเกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม
ดังนั้นเพื่อเป็นการปรับปรุงการปฏิบัติในการจัดการควบคุมดูแลและเลี้ยงช้างให้ถูกต้องเหมาะสม เป็นไปตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติการที่ดีสำหรับปางช้าง เป็นมาตรฐานบังคับใช้ เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานปางช้างไทย” นายประภัตร กล่าว
ทั้งนี้ ปางช้างแต่ละขนาดมีความพร้อมที่แตกต่างกันในการเข้าสู่ระบบมาตรฐาน โดยจำนวนปางช้างในประเทศไทยมี 250 แห่ง แบ่งเป็น 1. ปางช้างขนาดเล็ก (ไม่เกิน 10 เชือก) จำนวน 200 ปาง 2. ปางช้างขนาดกลาง (11 – 30 เชือก) จำนวน 40 ปาง และ 3. ปางช้างขนาดใหญ่ (31 เชือกขึ้นไป) จำนวน 10 ปาง