อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ

วันนี้ “๒๔ กันยา.๖๓” มีเรื่องสนุกหลายเรื่อง!

คดี “นายวัฒนา เมืองสุข” ก็ตัดสินวันนี้
ประชุมรัฐสภา แก้รัฐธรรมนูญ ก็วันนี้
พวกเทียมแอก-เทียมไถคณะสามสัส ก็จะมาชุมนุมโชว์เขาหน้ารัฐสภาวันนี้
เมื่อวาน “วันสุกดิบ” สส.-สว. สังสรรค์หน้าศพ วันนี้ได้พิธีประชุมเพลิง โดยสรุปลงตัวว่า ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ผลประโยชน์ร่วมกัน ก็สามัคคี
แก้รัฐธรรมนูญมาตรา ๒๕๖ เบิกทวารนำทางไปสู่การตั้งสสร. “ฆ่าทิ้งรัฐธรรมนูญ ๖๐” ทั้งฉบับ

แล้วให้สสร. “เขียนใหม่” ทั้งฉบับ!
ถ้าเป็นไปตามนี้ ต้องใช้งบราวๆ ๑๕,๐๐๐-๒๐,๐๐๐ ล้าน ในการเขียนกฎกติกาใหม่ให้พวกเขาเข้าสู่อำนาจ “เผด็จการรัฐสภา” คราบประชาธิปไตย คล่องคอ เหมือนที่เคย

ดูตามรูปไพ่ สส.ฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน จับมือกันแบบนี้ การแก้ ๒๕๖ ผ่านฉลุยอยู่แล้ว
แต่จะติดกระเดือกตรงที่มีสว.๘๔ เสียงขึ้นไปสนับสนุนด้วยหรือไม่เท่านั้น ฉะนั้น วันนี้ถึงต้องลุ้นกันมันหยดติ๋งไงล่ะ

เพราะต้องขานชื่อโหวต “รายตัว-รายญัตติ” ทั้ง ๗๕๐ คน ใครจริง-ใครปลอม ประจานหน้า ประจักษ์ใจ กันละ

ถ้ามี ๘๔ สว.ขึ้นไปร่วมโหวตให้แก้ ก็หมายความว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่นี้ เตรียม “ตราสังหลักประหาร”

รอ สสร.ทำหน้าที่เพชฌฆาต…ตัดหัว!
มันจะง่ายเหมือนกล้วยในมือลิงศาลพระกาฬขนาดนั้นเชียวหรือ ผมแอบคิดดังๆ ในใจ

เห็นเมื่อวาน (๒๓ กย.) “หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม” ประธานกลุ่มไทยภักดี กับคณะ นำ ๑๓๐,๐๐๐ รายชื่อ ไปยื่นคัดค้านการแก้ต่อประธานสภาผู้แทนและประธานวุฒิสภา
เหตุผลในข้อแถลงของคุณหมอ น่ารับฟัง ที่ว่า……..

“รัฐธรรมนูญปี ๖๐ มาจากประชามติของประชาชน ๑๖.๘ ล้านเสียง ถือว่าประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นมา

“ศาลรัฐธรรมนูญ” เคยมีคำวินิจฉัย สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ ที่ผ่านประชามติมาแล้วครั้งหนึ่ง
ศาลฯ วินิจฉัยว่าสามารถแก้ไขได้รายมาตรา แต่การยกร่างใหม่ต้องถามประชาชนก่อนว่ายอมหรือไม่?

ดังนั้น รัฐธรรมนูญปี ๖๐ นี้ก็เช่นกัน การจะตั้ง ส.ส.ร.เพื่อร่างฉบับใหม่ ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อน”

จะลูบเคราครางอืมมม เคราก็ยังไม่ขึ้น เพราะหนุ่มเกิน ตรงนี้ เป็นประเด็นน่าคิดนะ
ยิ่งคุณหมอวรงค์ตบตูดการแถลงว่า…….

“เรื่องนี้จะต้องถึงศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน ถ้าดื้อดึง เราจะไปดำเนินการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าศาลฯ มีบรรทัดฐานอยู่แล้ว ไม่มีไรต้องกลัว ชนะอย่างเดียว”

เคราไม่ขึ้น ขนหัวลุกตั้งแทน!
คดีเจ๊ทูเจี๊ยะ โครงการรับจำนำข้าว รัฐมนตรีต้องเข้าคุก ยิ่งลักษณ์ต้องเผ่นช่องทางหมาลอด ยี่ห้อหมอวรงค์ตีตราประทับรับประกันคุณภาพอยู่แล้ว

ดังนั้น เมื่อคุณหมอประกาศเปรี้ยง “ชนะอย่างเดียว” เสียวกันทั้งสภา!
เสียวยังไง เรื่องแม่นกฎหมาย ใครก็ยกนิ้วให้หมอความอย่างท่านประธานรัฐสภา “ชวน หลีกภัย” อยู่แล้ว

แต่เมื่อหมอยาอย่างคุณหมอวรงค์ ท้าความแม่นกับหมอความระดับซือแป๋ รายการนี้ ต้อง ๕ ดาว

เอาละ มาดูหนังตัวอย่างซักนิดเป็นไง ดูแล้วอาจช่วยการมองเกมแก้เพื่อเขียนใหม่ทั้งฉบับได้ชัดเจนขึ้นว่า จะรูดปรื๊ดหรือติดแหง็ก?

ย้อนไปปี ๒๕๕๕ ยุคยิ่งลักษณ์ สส.ฝ่ายรัฐบาลเขาแก้รัฐธรรมนูญ เปิดประตูไปสู่การเขียนใหม่ทั้่งฉบับเหมือนกัน ตอนนั้น ขุนค้อน “นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” เป็นประธานรัฐสภา
พลเอก สมเจตน์ บุญถนอม, นายวันธงชัย ชํานาญกิจ, นายวิรัตน์ กัลยาศิริ, นายวรินทร เทียมจรัส, นายบวร ยสินทร
ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ(ปี ๕๐)มาตรา ๖๘

๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ………
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย สรุปประเด็นหลักว่า

“การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องทำประชามติ ต้องถามประชาชน ในฐานะผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ ๕๐ ก่อน

“ยกเว้นแก้รายมาตรา” ให้เป็นอำนาจของรัฐสภา”

ชะอุ๊ย…(ผมร้องเอง ไม่มีในคำวินิจฉัย)!
เพื่อเป็นกรณีศึกษาในทางเทียบเคียง จะนำคำวินิจฉัยฉบับย่อจาก web.krisdika.go.th มาให้อ่าน
ย่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18 – 22/2555

เรื่อง คำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68

กรณีส่งเรื่อง ตามมาตรา 68 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 68 และมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

ผู้ร้องทั้งห้ายื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

เนื่องจากเห็นว่า…….
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เป็นการล้มล้างหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
ซึ่งขัดกับหลักการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

เป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 68 และมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแยกเป็นสามประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง
ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องทั้งห้าคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยได้

ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรา 68 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ ให้สิทธิแก่ผู้ทราบการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 68 วรรคหนึ่ง สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้โดยตรง

แม้ว่าผู้ร้องจะได้เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบแล้วก็ตาม แต่มาตรา 68 มีความมุ่งหมายให้ชาวไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการปกป้องพิทักษ์รักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตย
และการเข้าสู่อำนาจในการปกครองประเทศให้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มิให้ถูกล้มล้าง โดยสภาพจึงเป็นการป้องกันไว้ล่วงหน้า

กรณีอัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ยังไม่มีคำสั่งประการใด
หากปล่อยให้กระบวนการลงมติในวาระที่สามลุล่วงไปแล้ว แม้ต่อมาอัยการสูงสุดจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ให้วินิจฉัยว่ากระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้นเป็นไปโดยมิชอบด้วยมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ให้เลิกการกระทำนั้น ก็จะไม่สามารถบังคับตามคำวินิจฉัยในทางใดได้อีก

รวมทั้งไม่อาจย้อนคืนแก้ไขผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำดังกล่าวได้

ประเด็นที่สอง
อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของประชาชน อันเป็นที่มาโดยตรงในการให้กำเนิดรัฐธรรมนูญ โดยถือว่ามีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญที่ก่อตั้งระบบกฎหมายและองค์กรทั้งหลายในการใช้อำนาจทางการเมืองการปกครอง
เมื่อองค์กรที่ถูกจัดตั้งมีเพียงอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้และอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้องค์กรนั้นใช้อำนาจที่ได้รับมอบมาจากรัฐธรรมนูญนั้นเอง กลับไปแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเหมือนการใช้อำนาจแก้ไขกฎหมายธรรมดา
แม้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะเป็นอำนาจของรัฐสภาก็ตาม

แต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ

เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้มาโดยการลงประชามติของประชาชน
ก็ควรจะให้ประชาชนได้ลงประชามติเสียก่อนว่า สมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

หรือรัฐสภาจะใช้อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราก็เป็นความเหมาะสม และเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าวได้

ประเด็นที่สาม
ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พุทธศักราช… เป็นผลมาจากมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ
และกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญยังไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะถือได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง
กล่าวคือ ขั้นตอนการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญยังมิได้เป็นรูปธรรม


การกล่าวอ้างของผู้ร้องจึงเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าซึ่งยังไม่ปรากฏผลประการใด บันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พุทธศักราช…ให้เหตุผลว่า จะยังคงรักษาระบอบประชาธิปไตย…ไว้ตลอดไป

และมาตรา 291/11 วรรคห้าของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ ฉบับดังกล่าว ก็ยังบัญญัติคุ้มกันเพื่อรับรองการร่างรัฐธรรมนูญที่จะไม่กระทบถึงสาระสำคัญแห่งรัฐไว้ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์ และหากร่างรัฐธรรมนูญมีลักษณะดังกล่าว มาตรา 291/11 วรรคหก ก็กำหนดให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป

อนึ่ง หากสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์แล้ว
ทั้งประธานรัฐสภาและรัฐสภาก็มีอำนาจยับยั้งร่างรัฐธรรมนูญนั้นได้


รวมทั้งหากบุคคลใด ทราบว่ามีการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวก็ยังมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้

ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ จึงวินิจฉัยให้ยกคำร้องทั้งห้าคำร้องดังกล่าว

ครับ…..
เพราะด้วยบรรทัดฐานนี้ คุณหมอวรงค์จึงยก ๓ นิ้ว I love you เราชนะอย่างเดียว เมื่อวาน!

ชัดเจนว่า “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจของประชาชน”

ในเมื่อรัฐธรรมนูญมาจากประชามติ จะทำอะไรก็ควรเห็นหัวประชาชน ต้องถามประชาชนก่อนว่าจะยอมมั้ย ที่จะตั้งสสร.เขียนใหม่ทั้งฉบับนั่นน่ะ
แต่ถ้าจะแก้รายมาตรา เป็นอำนาจรัฐสภา ก็ว่ากันไป

ถ้าแค่นี้ ยังไม่ชัด….
พรุ่งนี้จะเอาอีกซักคำวินิจฉัยมาให้ถ่างตา ที่ตั้งท่าจะแก้สว.ให้เลือกตั้งคืนสู่ระบบ “สภาผัวเมีย” นั่นน่ะว่า
ทำได้หรือไม่ได้?


Written By
More from plew
๒๑ มกรา. “มีใครจะลาบวช?”
วันนี้…จันทร์ที่ ๒๐ มกรา.๖๓ ผมว่า…… คนฉีกปฎิทินไปรอพรุ่งนี้ “อังคารที่ ๒๑ มกรา.” กันหมดแล้ว เพราะตอนเวลา ๑๑.๓๐ น....
Read More
0 replies on “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ”