“ปิยบุตร” ชี้รูปแบบ สสร. ของรัฐบาล คือ กระบวนการ “ผลัดกันเขียน เวียนกันอ่าน วานกันชม สุขสมกันเอง” ที่แนบเนียนขึ้นกว่าตอนทำรัฐธรรมนูญ 2560

“ปิยบุตร” ชี้รูปแบบ สสร. ของรัฐบาล คือ กระบวนการ “ผลัดกันเขียน เวียนกันอ่าน วานกันชม สุขสมกันเอง” ที่แนบเนียนขึ้นกว่าตอนทำรัฐธรรมนูญ 2560

ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคร่วมรัฐบาลที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันที่ 23 และ 24 กันยายนนี้ ได้กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบไปด้วยสมาชิก 200 คน มีที่มา ดังนี้

– 150 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
– 20 คน มาจากการเลือกโดยรัฐสภา
– 20 คน มาจากการเลือกโดยที่ประชุมอธิการบดี โดยแบ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชนหรือรัฐศาสตร์ 10 คน และผู้มีประสบการณ์การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ 10 คน
– 10 คน มาจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา

ปิยบุตร อธิบายว่า “ดูผิวเผิน ก็เหมือนจะดี ครอบคลุมทุกฝ่าย มี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงมากกว่าถึง 3/4 ในส่วนอีก 50 คนที่มาจากการคัดสรร ก็มีทั้งเลือกโดยอ้อมผ่านรัฐสภา มีทั้งผู้เชี่ยวชาญ และมีทั้งนักเรียน นิสิต นักศึกษา อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดถึงวิธีการเลือกตั้งและวิธีการคัดสรรแล้ว พบว่ามีโอกาสสูงมากที่พรรคร่วมรัฐบาลจะยึดกุมกระบวนการได้มาซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญ”

ในส่วนของ สสร. 150 คนที่มาจากการเลือกตั้งนั้น หากนำจำนวนประชากรสิ้นปี 2562 (66,558,935 คน) มาหารกับจำนวน สสร. ที่ต้องมาจากการเลือกตั้ง 150 คน ก็เท่ากับจำนวนประชากร 443,726 คนต่อ สสร. 1 คน การแบ่งสรรจำนวน สสร. ในแต่ละจังหวัดโดยประมาณการ (ดูตามแผนภาพ) หรือ หากมีการเลือกตั้ง สสร. ในกลางปี 2564 จำนวน สสร. ในแต่ละจังหวัด ก็คงไม่หนีไปจากนี้มากนัก

ตามมาตรา 256/5 วรรคท้าย กำหนดให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และมาตรา 256/6 วรรค 5 กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกผู้สมัครได้ 1 คน จึงเป็นไปได้ว่า ในจังหวัดที่มี สสร. มากกว่า 1 คนนั้น (มี 38 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ปริมณฑล หลายจังหวัดในภาคเหนือและภาคอีสาน) ลำดับและคะแนนที่ผู้สมัครแต่ละคนจะได้รับจะคล้ายคลึงกับผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2543 กล่าวคือ ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งในจังหวัดนั้นจะได้คะแนนมากทิ้งขาดผู้ที่ได้รับเลือกตั้งในลำดับที่สองจนถึงลำดับสุดท้ายที่ได้รับเลือกตั้ง

แม้การเลือกตั้ง สสร. จะกำหนดห้ามมิให้พรรคการเมืองมาข้องเกี่ยว แต่ขึ้นชื่อว่าการเลือกตั้งแล้ว เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการสนับสนุนผ่านฐานคะแนนของแต่ละพรรคก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญ เมื่อระบบการเลือกตั้ง สสร. เป็นเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้พรรคการเมืองที่มีคะแนนนิยมทั่วทั้งจังหวัดหรือทั่วทั้งภาคไม่อาจยึดกุมการเลือกตั้ง สสร. ได้ทั้งจังหวัดหรือทั้งภาค

แม้พรรคเพื่อไทยมีคะแนนนิยมในภาคเหนือและภาคอีสาน แต่พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย หรือพรรคอื่นๆ ซึ่งได้คะแนนนิยมรองลงมา อาจเข้าช่วงชิงได้ โดยผู้สมัครที่พรรคเพื่อไทย “เอาใจช่วย” อาจคว้าที่หนึ่งได้ในหลายจังหวัดในภาคเหนือและภาคอีสาน แต่ลำดับรองลงไป ก็จะตกเป็นของผู้สมัครที่พรรคพลังประชารัฐหรือพรรคภูมิใจไทย “เอาใจช่วย” อยู่

เช่นเดียวกัน แม้พรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนนิยมในภาคใต้ แต่พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย ซึ่งได้คะแนนนิยมรองลงมา ก็มีโอกาสเข้าช่วงชิงได้ ผู้สมัครที่พรรคประชาธิปัตย์ “เอาใจช่วย” อาจได้ที่หนึ่งในหลายจังหวัดในภาคใต้ แต่ลำดับรองลงไป ก็จะตกเป็นของผู้สมัครที่พรรคพลังประชารัฐหรือพรรคภูมิใจไทย “เอาใจช่วย” อยู่

ในขณะที่จังหวัดที่มี สสร. ได้ 1 คน มี 39 จังหวัด ส่วนใหญ่แล้ว พรรคฝ่ายรัฐบาลมีคะแนนนิยมยึดกุมไว้อยู่ จึงเป็นไปได้ว่า ผู้สมัครที่พรรครัฐบาล “เอาใจช่วย” จะชนะเลือกตั้งได้เป็น สสร.

ด้วยระบบเช่นนี้ หากพรรครัฐบาลวางแผนแบ่งสรรพื้นที่กันอย่างเป็นระบบ ก็เป็นไปได้ว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น สสร. ที่พรรครัฐบาล “เอาใจช่วย” จะได้รับเลือกตั้งเข้ามาเกือบ 100 คน

ในส่วนของ สสร. 20 คน ที่มาจากการเลือกโดยรัฐสภานั้น มาตรา 256/7 กำหนดให้ “รัฐสภาดำเนินการคัดเลือกโดยให้มีจำนวนตามหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา”

เมื่อคำนวณตามสัดส่วนแล้ว สสร. 20 คน จะมาจากการคัดเลือกโดย

– ส.ส. เลือก สสร. 13 คน
– ส.ว. เลือก สสร. 7 คน

ในส่วนที่ ส.ส. คัดเลือก เมื่อแบ่งตามสัดส่วนที่นั่ง ส.ส. ที่แต่ละพรรคการเมืองมีอยู่ ก็จะได้ดังนี้

– พรรคร่วมรัฐบาลเลือก สสร. 7 คน ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ 3 พรรคภูมิใจไทย 2 พรรคประชาธิปัตย์ 1 พรรคอื่นๆ 1
– พรรคร่วมฝ่ายค้านเลือก สสร. 6 คน ได้แก่ พรรคเพื่อไทย 4 พรรคก้าวไกล 1 พรรคอื่นๆ 1

เท่ากับว่า พรรคร่วมรัฐบาล + (พรรค) วุฒิสภา จะได้เลือก สสร. 14 คน !!!


ในส่วนของ สสร. 20 คน ที่ที่ประชุมอธิการบดีเลือกมานั้น ดังที่ทราบกันดีว่า โครงสร้างของผู้บริหารมหาวิทยาลัยของประเทศไทยเป็นเช่นไร

โอกาสที่นักวิชาการกฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์ของฝ่ายประชาธิปไตย ที่ต่อต้านระบอบ คสช. มาโดยตลอด จะได้รับการคัดเลือกให้เป็น สสร. คงมีน้อยเต็มที หรือ ถ้าหลุดรอดเข้าไปได้ ก็คงมีจำนวนน้อยนิดกลายเป็น “เครื่องประดับ” ให้พวกเขาเอาไปอ้างเอาความชอบธรรม ตรงกันข้าม สสร. 20 คนในส่วนนี้ เราจะได้ “นักยกร่าง

รัฐธรรมนูญของปี 2550 และ 2560” และผู้เชี่ยวชาญในแวดวง “อุตสาหกรรมการปฏิรูป” เข้ามาร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกรอบหนึ่ง

ในส่วน สสร. 10 คน ที่เป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา ปรากฏว่า ในมาตรา 256/8 วรรคสอง กำหนดให้ “คณะกรรมการการเลือกตั้งคัดเลือกนักเรียน นิสิต นักศึกษา” นั่นหมายความว่า ต่อให้มีนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่เข้าร่วมการชุมนุมในเวลานี้ สนใจสมัครเป็น สสร. มากเท่าไรก็ตาม ในท้ายที่สุด กกต. จะเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดในการออกใบอนุญาตให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา คนใดได้เป็น สสร.

ด้วยโครงสร้างและที่มาของ สสร. แบบนี้ มีโอกาสสูงมากที่รัฐบาลจะยึดกุมชี้นำ สสร. ได้เกินครึ่ง หรืออาจถึง 120-130 คน

สสร. เหล่านี้ก็จะไปเลือกคนมาเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างเสร็จ ก็เอากลับมาให้ สสร. ให้ความเห็นชอบ

เมื่อผ่าน สสร. ก็เอามาให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ

รัฐสภาที่มี พรรครัฐบาล 277 + (พรรค) วุฒิสภา 250 = 527 ให้ผ่าน รัฐธรรมนูญนี้ก็ประกาศใช้ โดยไม่มีการลงประชามติ

นี่คือกระบวนการ “ผลัดกันเขียน เวียนกันอ่าน วานกันชม สุขสมกันเอง” ที่แนบเนียนขึ้นกว่าตอนทำรัฐธรรมนูญ 2560

#คณะก้าวหน้า #แก้รัฐธรรมนูญ #สสร #สวมีไว้ทำไม #คสช

Written By
More from pp
โอซีซี กรุ๊ป มอบความรู้ด้านความงามให้ประชาชนฟรี
สุวภา ศิริวรรณ หัวหน้าหน่วยอบรมแต่งหน้าและพัฒนาบุคลิกภาพ บริษัท โอซีซี จำกัด (มหาชน) จัดอบรมการแต่งหน้า “KMA PROFESSIONAL MAKEUP EXCLUSIVE”...
Read More
0 replies on ““ปิยบุตร” ชี้รูปแบบ สสร. ของรัฐบาล คือ กระบวนการ “ผลัดกันเขียน เวียนกันอ่าน วานกันชม สุขสมกันเอง” ที่แนบเนียนขึ้นกว่าตอนทำรัฐธรรมนูญ 2560”