24 ส.ค.63 เวลา 8.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 3 (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำ 6 ประเทศสมาชิก เข้าร่วม นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
ในช่วงแรกของการประชุม นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีลาว ในฐานะประธานร่วม ได้กล่าวเปิด มีใจความสำคัญโดยสรุปดังนี้ นายกรัฐมนตรีลาวรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นประธานร่วมในการประชุมนี้ ขอบคุณความช่วยเหลือระหว่างกันในช่วง โควิด-19 ชื่นชมมาตรการเพื่อป้องกันและควบคุมโรคของทุกประเทศ เชื่อมั่นว่า กรอบ MLC จะช่วยส่งเสริมความรุ่งเรืองในอนุภูมิภาค พัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม ท่ามกลางความท้าทาย และร่วมกันปรับตัวเพื่อฟื้นฟูภายหลังช่วง โควิด-19
ต่อจากนั้นนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนในฐานะประธานร่วมอีกท่าน ได้กล่าวเปิด มีใจความสำคัญโดยสรุปดังนี้ ขอบคุณความร่วมมือของผู้นำทุกประเทศ ความร่วมมือ MLC เกิดจากความช่วยเหลือ ร่วมมือกันผ่านแหล่งน้ำ อนุภูมิภาคนี้จึงควรร่วมมือกันพัฒนาเศรษฐกิจผ่านการเชื่อมโยงทางการค้า แม้จะประสบกับความท้าทาย โควิด-19 ความร่วมมือยังดำเนินต่อเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป
ลำดับต่อมาเป็นการกล่าวถ้อยแถลงของผู้นำประเทศที่เข้าร่วม ซึ่งในนามผู้นำประเทศไทย นายกรัฐมนตรีได้แสดงความยินดีและชื่นชมที่กรอบ MLC มีพัฒนาการและมีความร่วมมือเพิ่มขึ้นตามลำดับ แม้การประชุมครั้งนี้จะเป็นการหารือผ่านระบบทางไกล แต่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายที่จะสานต่อความร่วมมืออย่างต่อเนื่องในภาวะที่ทุกประเทศต้องเผชิญกับความท้าทายจากสถานการณ์โควิด-19
และถือเป็นอีกวาระหนึ่งที่จะร่วมกันพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสที่จะยกระดับความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน พร้อมเชื่อมั่นว่าปฏิญญาเวียงจันทน์จะสามารถย้ำเจตนารมณ์ร่วมของประเทศสมาชิก ทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะกองทุนพิเศษในกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ซี่งไทยได้รับอนุมัติทั้งหมด 10 โครงการในปีนี้
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงสาขาความร่วมมือที่ไทยให้ความสำคัญและมีความพร้อมทั้งหมด 4 สาขา ได้แก่
1. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ไทยสนับสนุนข้อริเริ่มในการติดตามประเมินผลความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ขยายความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำโขง พัฒนาร่วมกับประสบการณ์และรูปแบบการดำเนินการที่ดีของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission – MRC) และสนับสนุนให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านทรัพยากรน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้ความร่วมมือก้าวหน้าเห็นผลโดยเร็ว
2. ความมั่นคงด้านสาธารณสุข ไทยได้รับการยอมรับว่าจัดการ และควบคุมสถานการณ์โควิด – 19 เป็นผลจากความร่วมมือของประชาชน และนโยบายด้านสาธารณสุขที่ให้ความสำคัญกับความพร้อมของบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์ ความสามารถในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและยา ตลอดจนความพร้อมเมื่อเจอภาวะวิกฤต ซึ่งไทยพร้อมให้ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนกับนานาชาติภายใต้กรอบ WHO โดยจะเร่งพัฒนาขีดความสามารถของไทยในการเป็นฐานการผลิตยาและวัคซีนของอนุภูมิภาค รวมทั้งเห็นพ้องกับประเทศสมาชิกว่า เมื่อผลิตวัคซีนสำเร็จประชาชนทุกภาคส่วนควรจะสามารถเข้าถึงได้
3. ยกระดับความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค ผ่านความร่วมมือในทุกมิติ ทั้งกายภาพ กฎระเบียบ และประชาชน ซึ่งไทยยินดีที่จะเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ โดยต้องคำนึงถึงความสมดุลและความมั่นคงทางสาธารณสุขควบคู่กัน โดยเฉพาะด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ พลังงาน ดิจิทัล และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อกระจายรายได้ไปสู่พื้นที่ที่ห่างไกลจากระเบียงเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง รวมไปถึงการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น อาเซียน ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS) ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BRI) เป็นต้น
4. การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 (Post Covid-19 Economic Recovery) เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่า ปัจจัยสำคัญที่จะเป็นการวางรากฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืนคือการสร้าง ความยืดหยุ่น (Resilience) ให้ภาคเอกชน ผ่านการสนับสนุนภาคธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อย (MSMEs) พร้อมช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศสมาชิก และสนับสนุนให้ประเทศใน MLC ร่วมกันกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ทั้งการค้าชายแดน การท่องเที่ยว และการไปมาหาสู่ของประชาชน โดยคำนึงถึงความสมดุลกับความมั่นคงด้านสาธารณสุข
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการร่วมแสดงเจตจำนง และความแน่วแน่ร่วมกันของประเทศสมาชิกที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายต่าง ๆ โดยเปลี่ยนวิกฤตที่ทุกประเทศกำลังเผชิญอยู่ ให้เป็นโอกาสในการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด สร้างสรรค์ และต่อเนื่อง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโต เสถียรภาพ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเพื่อการพัฒนาและความมั่งคั่งของพลเมือง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
อนึ่ง ที่ประชุมได้รับรองปฏิญญาเวียงจันทน์ของการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 3 และในโอกาสนี้ จีนและลาวในฐานะประธานร่วม ได้รับรองถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยการทำงานร่วมกันและสอดคล้องกันระหว่างกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง กับระเบียงทางการค้าเชื่อมทางบก-ทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor)