นายประภัตรโพธสุธนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและพบปะสมาชิกสหกรณ์โคนมสอยดาวจำกัด ต.ทับช้าง อ.สอยดาว จ.จันทบุรีว่า
การลงพื้นที่ในวันนี้เพื่อรับฟังปัญหาของเกษตรกรใน. จ.จันทบุรีโดยในช่วงที่ผ่านมา สหกรณ์ฯ ประสบปัญหาด้านต่างๆ ทั้งจากผลกระทบการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ส่งผลให้โรงเรียนปิดเทอมก่อนกำหนดและเปิดเทอมล่าช้าทำให้สหกรณ์ฯ ต้องนำน้ำนมดิบไปผลิตเป็นนมกล่อง UHT และยังขายไม่ได้อีกจำนวน 3,000,000 กล่อง มูลค่ากว่า 21,000,000 บาท ซึ่งทำให้สมาชิกได้รับผลกระทบและขาดทุนอย่างมาก
ทั้งนี้ได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนและจะนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ในวันอังคารที่ 25 ส.ค. นี้ที่จ.ระยองต่อไป
นายประภัตร กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้เกษตรกรยังประสบปัญหาภัยแล้ง จากฝนทิ้งช่วง อีกทั้งเกษตรกรปลูกลำไยจึงใช้น้ำตลอดทั้งปี ส่งผลให้แปลงหญ้าและลำไยเกิดความเสียหาย ขาดน้ำทางการเกษตร จึงได้ประสานขอความร่วมมือจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าสำรวจพื้นที่เพื่อขุดบ่อบาดาล ให้เกษตรกรได้มีน้ำใช้ในฤดูแล้งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
อีกทั้ง ขณะนี้เกษตรกรผู้ปลูกลำไยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานเนื่องจากได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ทำให้แรงงานจากประเทศกัมพูชาต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา และยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ ซึ่งต้องใช้แรงงานไม่น้อยกว่า 35,000 คน
ทางจังหวัดจึงได้มีการประชุมหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยจะผ่อนปรนให้แรงงานเข้ามาในประเทศ โดยจะจัดเตรียมและจัดหาสถานที่สำหรับเป็นที่กักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ให้อยู่ในการกำกับดูแล เพื่อการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามหลักเกณฑ์และแนวทาง การควบคุมป้องกันโรค (State Quarantine)
“ขณะนี้ผลผลิตลำไยเริ่มออกแล้ว มีพื้นที่ 200,000 กว่าไร่ มีลำไยไม่น้อยกว่า 300,000 ตัน จึงต้องนำคนงานเข้ามาเก็บ โดยทางจังหวัดได้มีการประชุมหารือในการแก้ไขปัญหา โดยร่วมมือกับเจ้าของสวน ล้ง
กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมจัดทำ State Quarantine กักตัวคนงานที่จะมาทำงาน โดยได้กำชับให้ต้องวางมาตรการอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดซ้ำ” นายประภัตร กล่าว
ทั้งนี้ สหกรณ์โคนมสอยดาว จำกัด ได้จดทะเบียนครั้งแรกตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2534 และได้เริ่มดำเนินธุรกิจตั้งแต่วันที่ วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา มีสมาชิกสหกรณ์จำนวน 2 กลุ่ม คือ 1. ผู้เลี้ยงโค และ2. กลุ่มปลูกพืชอาหารสัตว์และไม้ยืนต้น
โดยดำเนินธุรกิจ อาทิ รวบรวมน้ำนมดิบ ธุรกิจแปรรูปน้ำนมดิบ ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ ผลิตอาหารสัตว์จำหน่ายให้กับสมาชิกเพื่อเป็นการลดต้นทุนเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกผู้เลี้ยงโคนม โดยทางสหกรณ์ฯ มีการผลิตอาหารข้นเพื่อจำหน่ายให้แก่สมาชิกเพื่อลดต้นทุน