เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 5 สิงหาคม 2563 ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาด ไทย (มท.2) เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการ “ตาสับปะรด ช่วยลดน้ำสูญเสีย” ระหว่างการประปานครหลวง (กปน.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.)
เพื่อบูรณาการความร่วมมือการบริหารจัดการน้ำสูญเสีย โดยมี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายปริญญา ยมะสมิต ผู้ว่าการ กปน. นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา ประธานอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำสูญเสียและแรงดันน้ำ กปน. และคณะผู้บริหารจากทั้งสองหน่วยงาน เข้าร่วมพิธี
นายนิพนธ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย ให้ความสำคัญในการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน ซึ่ง กปน.เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่ผลิตและบริการน้ำประปาแก่ประชาชนใน กทม. นนทบุรี และสมุทรปราการ ให้มีน้ำประปาสะอาดปลอดภัย ใช้อุปโภคบริโภคอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเพียงพอ
การลดน้ำสูญเสียจึงเป็นหนึ่งในนโยบายที่กระทรวงมหาดไทยกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการ โครงการ “ตาสับปะรด ช่วยลดน้ำสูญเสีย” ระหว่าง กปน. และ กทม. เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ เพื่อสร้างความสุขให้พี่น้องประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
โดยให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตผู้มีหน้าที่จัดเก็บขยะ กวาดถนน งานสวนสาธารณะ งานระบายน้ำและงานด้านอื่นๆ ของทั้ง 50 เขต ได้แจ้งข้อมูลให้การการประปานครหลวง เพื่อสามารถดำเนินการซ่อมท่อได้รวดเร็วขึ้น
“การประปานครหลวงสามารถผลิตน้ำประปา 6 ล้านคิวต่อวัน ซึ่งในแต่ละวันมีน้ำสูญเสียจากท่อประปาแตกรั่วประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 12 ล้านบาท จึงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับความร่วมมือจากกรุงเทพมหานคร และสามารถนำโมเดลนี้ไปใช้ในพื้นที่ จ.นนทบุรี และ จ.สมุทรปราการ ต่อไป
นอกจากการลดความสูญเสียจากท่อน้ำแตกรั่วแล้ว อยากขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนหากพบน้ำประปารั่วไหล หรือท่อ อุปกรณ์น้ำประปาชำรุด ขอให้ช่วยกันแจ้งการประปานครหลวงไม่ปล่อยให้น้ำไหลทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ อีกทั้งตรวจสอบและซ่อมแซมอุปกรณ์และระบบท่อประปาภายในบ้านให้อยู่ในสภาพดีเสมอ เพื่อสงวนต้นทุนน้ำของประเทศไว้ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกภาคส่วน”
สำหรับโครงการ “ตาสับปะรด ช่วยลดน้ำสูญเสีย” มีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี โดย กปน. ได้จัดให้มีการอบรมเกี่ยวกับวิธีสังเกตท่อแตกรั่ว วิธีสังเกตน้ำประปาไหลรั่วในท่อระบายน้ำ ให้แก่เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานด้านการจัดเก็บขยะ กวาดถนน ด้านการงานสวนสาธารณะ รวมทั้งด้านอื่น ๆ ทั้ง 50 เขต เขตละ 700 คน ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 35,000 คนเป็นอย่างน้อย และสร้างช่องทางการแจ้งข่าวสารโดยตรงระหว่างกปน. และ กทม. เพื่อให้แจ้งข้อมูลได้อย่างทันท่วงที เพื่อช่วยลดน้ำสูญเสียและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนผู้ใช้บริการน้ำประปาในกรุงเทพมหานคร อย่างยั่งยืนต่อไป