กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท แนะเกษตรกรเลี้ยงแมลงหางหนีบ ศัตรูธรรมชาติปราบหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ปลอดภัยต่อเกษตรกร รักษาสภาพแวดล้อม และระบบนิเวศภายในแปลงข้าวโพด
นายสมโชค ณ นคร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท (ผอ.สสก.1 จ.ชัยนาท) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ระบาดในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเกือบทั่วประเทศที่เคยผ่านมา ได้สร้างความเสียหายให้กับพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเป็นอย่างมาก
ขณะนี้ในพื้นที่การเกษตร 9 จังหวัดภาคกลาง มีการปลูกข้าวโพดในช่วงฤดูฝนแล้ว ประมาณ 41,683 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลูกมาในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ลพบุรี และชัยนาท ซึ่งขณะนี้ ยังไม่พบการระบาดของหนอนกระทูข้าวโพดลายจุด แต่เพื่อความไม่ประมาทเราต้องมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
ลักษณะของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน มีขนาด 3.2 – 4 เซนติเมตร มีแถบสีขาวที่ขอบปีกคู่หน้า กลางปีกมีแถบลักษณะเป็นวงรีสีน้ำตาล เพศเมียมีสีและลวดลายจางกว่าเพศผู้ เพศเมียจะวางไข่ในเวลากลางคืน โดยวางไข่เป็นกลุ่มใต้ใบพืช แต่ละกลุ่มจะมีไข่ประมาณ 100 – 200 ฟอง และมีขนสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม เพศเมียหนึ่งตัววางไข่ได้ประมาณ 1,500 – 2,000 ฟอง ระยะไข่ 2 – 3 วัน ระยะหนอน 14 – 22 วัน
หนอนที่โตเต็มที่ มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 3.2 – 4 เซนติเมตร ส่วนบนของหัวมีแถบสีขาวเป็นรูปตัว Y หัวกลับ ส่วนหลังและด้านข้าง มีแถบสีขาวตามยาวลำตัวปล้องท้องก่อนปล้องสุดท้ายมีจุดสีดำ 4 จุด เรียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตัวหนอนจะเข้าดักแด้ในดิน ระยะดักแด้ 7 – 13 วัน จึงออกเป็นตัวเต็มวัยและมีชีวิตอยู่ได้ 10 – 21 วัน
วงจรชีวิตของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดใช้เวลาประมาณ 30 – 40 วัน หลังจากการผสมพันธุ์แล้วการเข้าทำลาย ตัวหนอนจะทำลายข้าวโพดตั้งแต่อายุประมาณ 7 วัน จนกระทั่งออกฝัก โดยกัดกินยอดและใบข้าวโพดแหว่งหรือกัดกินทั้งใบ ช่อดอกตัวผู้ ฝัก เมล็ด ตัวหนอนหลบซ่อนแสงอยู่ที่ยอดหรือโคนกาบใบ หากหนอนทำลายในระยะต้นอ่อนจะทำให้ต้นข้าวโพดตาย ถ้าทำลายในระยะต้นแก่ข้าวโพดจะไม่เจริญเติบโต และถ้าทำลายฝัก ฝักจะลีบเล็กไม่สมบูรณ์ หากระบาดรุนแรงจะทำให้ผลผลิตลดลง 73 %
การป้องกันและกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัด ซึ่งในระยะยาวอาจส่งผลต่อสุขภาพของเกษตรกรเอง นอกจากนี้ ยังมีการใช้สารชีวภัณฑ์กำจัดหนอนขนาดเล็ก โดยการฉีดพ่นด้วยสารบีทีสายพันธุ์ไอโซไว หรือสายพันธุ์เคอร์สตากิ หรือการใช้ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ แมลงหางหนีบ มวนเพชฌฆาต หรือมวนพิฆาต ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัยกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด
ผอ.สสก. 1 จ.ชัยนาท กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท โดยศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดชัยนาท (ศทอ.ชัยนาท) ภายใต้การนำของ ผอ.บรรจวบ ปกิจเฟื่องฟู ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดชัยนาท ได้มีการผลิตพ่อแม่พันธุ์แมลงหางหนีบ ให้เกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร นำไปเพาะเลี้ยง เพิ่มปริมาณเพื่อใช้ควบคุมศัตรูพืช อย่างหนอนกระทูข้าวโพดลายจุด ในแปลงของตนเอง
โดย ศทอ.ชัยนาท ได้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับแมลงหางหนีบ และวิธีการเพาะเลี้ยง ให้กับเกษตรกรในพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งเกษตรกรต้องทราบ ขนาดแปลง/พื้นที่ ที่จะปล่อยแมลงหางหนีบว่ามีจำนวนกี่ไร่ โดยมีอัตราการปล่อย 100 – 2,000 ตัว/ไร่ ขึ้นกับปริมาณศัตรูพืช ซึ่งเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสามารถขยายพันธุ์แมลงหางหนีบ โดยนำกะละมังพลาสติก (ขนาดปากกะละมังประมาณ 40-50 ซม.) ใส่ดินร่วน สูง 1/3 ของกะละมัง แบ่งพ่อแม่พันธุ์เป็น 5 ส่วน (จะมีพ่อแม่พันธุ์ประมาณส่วนละ 200 ตัว) จะได้แมลงหางหนีบ 5 กะละมัง เลี้ยงไว้อย่างน้อย 1 – 1 ½ เดือน แมลงหางหนีบจะวางไข่/ขยายพันธุ์ได้รุ่นลูกอย่างน้อยกะละมังละ 2,000 ตัว ซึ่งจำนวนที่เพาะเลี้ยง 5 กะละมัง รวมแล้วได้แมลงหางหนีบ 10,000 ตัว
ในการเพาะเลี้ยงแต่ละรอบ ควรกันแมลงหางหนีบไว้เพื่อขยายพันธุ์ ประมาณ 30-40 % จะทำให้มีแมลงหางหนีบเพาะเลี้ยงได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันความเสียหายกับผลผลิตข้าวโพดที่อาจเกิดจากการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด จึงขอแนะนำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ
หากพบกลุ่มไข่หรือตัวหนอนให้เก็บทำลายทิ้ง และสำหรับในแปลงที่ไม่ใช้สารเคมี ให้ใช้แมลงตัวห้ำ เช่น แมลงหางหนีบ หากเกษตรกรท่านใดสนใจต้องการเพาะขยายแมลงหางหนีบไว้ใช้ในแปลงด้วยตนเอง สามารถขอคำแนะนำ และขอรับพ่อแม่พันธุ์ได้ที่ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตร ด้านอารักขาพืช จังหวัดชัยนาท โทร 056 47665 และหากพบการระบาดของหนอนกระทู้ข่าวโพดลายจุด โปรดแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่านโดยด่วน ผอ.สสก.1 จ.ชัยนาท กล่าวในที่สุด