ในการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 นายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.จังหวัดกำแพงเพชร เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่าต้องยอมรับว่าปีนี้เป็นปีที่ไม่ปกติและเป็นภาระหนักของรัฐบาล แต่ด้วยข้อจำกัดของการจัดเก็บภาษี และจัดเก็บรายได้ก็เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการได้
ทั้งนี้ ความสำคัญของงบประมาณในปี 2564 จากเอกสารงบประมาณทำให้เห็นว่ารัฐบาลได้จัดลำดับความสำคัญตั้งแต่การให้ความช่วยเหลือรากหญ้า ผู้มีรายได้น้อย ควบคู่กับการบรรเทาและเยียวยาแก้ปัญหาต่างๆจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ และยังทำเพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติสุขจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลง ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะผ่านพ้นไปได้ในช่วงใด
อย่างไรก็ตามแม้ว่าประเทศจะประสบปัญหาวิกฤติโควิด-19 และรัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างเต็มที่กว่า 30 ล้านคน ซึ่งไม่เคยได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเช่นนี้มาก่อนในอดีต การให้ความช่วยเหลือเยียวยาในครั้งนี้ ก็ยังเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจ SME และธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ได้อานิสงส์จากการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย เพราะทำให้ไปส่งเสริมสนับสนุนให้มีการกระจายความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ของประเทศอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และยังมองว่างบประมาณในปี 64 ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ก็ยังไม่ได้เป็นการกระจุกตัวเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
นอกจากนี้ รัฐบาลมุ่งที่จะจัดสรรงบประมาณที่ยึดกับประชาชนเป็นศูนย์กลางโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่รัฐบาลได้ดูแลไปก่อนหน้านี้ก่อนเกิดสถานการณ์โควิค-19 ใน 5 พืชหลักเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนไปแล้ว แต่เมื่อมาเจอกับสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้เกษตรกร ได้รับผลกระทบไม่มากนัก ขณะเดียวกันรัฐบาลยังให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้และขาดโอกาสทางสังคมผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนชรา คนพิการ
นายอนันต์ ระบุว่าแม้รัฐบาลจะเยียวยา และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเป็นเงิน 15,000 บาท ยังมีเสียงสะท้อนจากเกษตรกรว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่เกษตรกรอยากได้มากกว่าเงินคือปัจจัยการผลิตเพิ่ม เพราะจะทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง อย่างเช่น วันนี้ระบบชลประทานในประเทศไทย โดยกรมชลประทานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถบริหารจัดการน้ำได้เพียง 29 ล้านไร่ จากพื้นที่การทำเกษตรของเกษตรกร 130 ล้านไร่ทั่วประเทศ โดยคำถามก็คืออีก 120 ล้านไร่ รัฐบาลจะบริหารจัดการอย่างไรกับงบประมาณนี้
ขณะเดียวกันเกษตรกรอยากได้ความหวังจากรัฐบาลให้กรมน้ำบาดาล และกระทรวงพลังงานเข้าไปเติมน้ำบาดาล โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพราะคนอีกร้อยละ 70 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นเกษตรกร หากมีน้ำก็จะอยู่รอด
พร้อมกันนี้ยังขอให้รัฐบาลทำให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีอยู่ทั่วประเทศ 29 ศูนย์ เป็นศูนย์เพื่อคนทำนาโดยแท้จริง และให้กรมพัฒนาที่ดินเข้าไปพัฒนาดินอีกด้วย เพราะหากมีเมล็ดพันธุ์ น้ำ และดิน ที่มีความพร้อม ก็จะเป็นปัจจัยการผลิตที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับภาคการเกษตรด้วย ดังนั้นจึงอยากฝากไปยังรัฐบาลว่างบประมาณปี 64 นอกจากการให้เงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแล้ว ยังอยากให้มีการจัดสรรปัจจัยการผลิตให้ตรงกับความต้องการของเกษตรกร