“สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ต้องไม่ถูกใช้ไปแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของพรรคฝ่ายรัฐบาล

1 ก.ค.63 นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับการบริหารประเทศในแต่ละปี และสำคัญมากขึ้นเป็นทวีคูณ สำหรับการบริหารประเทศในภาวะวิกฤติแบบที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2564 ที่สภากำลังดำเนินการอยู่นี้ จึงต้องกระทำด้วยความรอบคอบ ละเอียดถี่ถ้วน และต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศเป็นหลัก

การจัดทำงบประมาณประจำปี จำเป็นอย่างยิ่งต้องจัดทำให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ และสังคมในช่วงเวลานั้นๆ

ขณะนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันวิกฤติด้านสาธารณสุขที่ถูกรับมือโดยมาตรการที่รุนแรงเกินกว่าเหตุของรัฐบาล กำลังจะนำประเทศไทยไปสู่อีกวิกฤติหนึ่ง นั่นคือวิกฤติเศรษฐกิจ การจัดทำงบประมาณในครั้งนี้ จึงมีลักษณะพิเศษที่ต้องพิจารณา นั่นคือ ต้องสามารถเป็นเครื่องมือรองรับวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังคืบคลานเข้ามาให้ได้

ต้องเข้าใจก่อนว่า วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 แตกต่างจากวิกฤติครั้งที่ผ่านๆ มาโดยสิ้นเชิง เช่น ในวิกฤติต้มยำกุ้ง ภาคธุรกิจชั้นบนมีปัญหาไม่ว่าจะเป็นภาคธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ แต่ภาคการผลิตข้างล่างไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร การท่องเที่ยว และการส่งออก ยังสามารถทำงานได้ และยังมีเรื่องของเงินบาทอ่อน ทำให้การส่งออกเป็นหัวหอกในการกอบกู้เศรษฐกิจในครั้งนั้นได้


แต่ในวิกฤติโควิด-19 นี้ กระทบพร้อมกันทุกภาคส่วน ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ จนถึงขนาดเล็ก ตั้งแต่ภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร และกระทบไปทั่วโลกพร้อมกัน และยังกระทบทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกำลังซื้อ การส่งออกที่เป็นอัมพาต และอุปทานที่เกี่ยวข้องกับการผลิต เรียกได้ว่า ทั้งหมดทุกอย่างพังพินาศไปพร้อมๆ กัน

แต่ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่…

ประเทศไทยได้รับผลกระทบน้อยในด้านการระบาดของโรค แต่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ กลับติดอันดับต้นๆ ของโลก นี่เป็นสิ่งที่น่ากังวล อันเกิดจากมาตรการที่ผิดพลาดของรัฐบาล เป็นมาตรการที่มีต้นทุนที่สูงเกินความจำเป็น โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นเบื้องต้น คาดว่าถึงระดับ 2 ล้านล้านบาท โดยล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย คาดการณ์ GDP ปี 2563 จะหดตัวติดลบ 8.1% ลงลึกกว่าตอนวิกฤติต้มยำกุ้ง ตอกย้ำความผิดพลาดของรัฐบาลในการรับมือโควิด-19 อย่างชัดเจน

เรื่องท้าทายสำคัญต่อรัฐบาลในเวลานี้คือ มาตรการรองรับผลกระทบด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างไร มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใ

ในระยะก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.เกี่ยวกับมาตรการทางการเงินอีก 2 ฉบับ รวมถึง พ.ร.บ. โอนงบประมาณปี 2563 เพื่อรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจ

โดยสรุปมองว่าที่ผ่านมา รัฐบาลใช้มาตรการแบบสักแต่ว่าได้ทำ แต่ไม่มองถึงประสิทธิภาพที่ปลายทาง ที่ผิดพลาด และมีช่องโหว่ และเข้าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายอยู่มาก

ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 จะมากหรือน้อย ฟื้นตัวเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่คาถาที่รัฐบาลต้องท่องไว้ 3 อย่าง คือ… ป้องกันธุรกิจล้ม รักษาการจ้างงาน ป้องกันผลกระทบที่ลามถึงระบบการเงิน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ธุรกิจล้มกันระยาว แรงงานตกงานมหาศาล และกำลังจะลามถึงสถาบันการเงินในระยะต่อไป หลังหมดมาตรการเยียวยาและพักหนี้ เราจะเห็นเสถียรภาพของระบบธนาคารที่มีปัญหา ถ้าเกิดขึ้น มันคือเรื่องใหญ่ หนี้ภาคเอกชนไม่ได้เพิ่มขึ้นเร็ว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ หนี้เสียที่จะพุ่งทะยานขึ้น

ขณะนี้เราอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจ ภาคธุรกิจก็กำลังจะล้มละลาย ภาคแรงงานก็จะตกงานมากมายเหลือเกิน จึงต้องตรวจสอบดูว่า ในระยะต่อไปคือ เราจะจัดทำงบประมาณอย่างไร เพื่อแก้ไขและบรรเทาผลกระทบต่อความผิดพลาดของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา

งบประมาณแผ่นดินเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ที่สามารถมีพลังมากในการขับเคลื่อนและปลุกเศรษฐกิจให้ฟื้นขึ้นมาได้ ถ้าทำอย่างเข้าใจและถูกวิธี

คำถามที่สำคัญ คือ งบประมาณที่รัฐบาลจัดทำมา คำตอบที่จะแก้ไขปัญหาเศรฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น

งบประมาณ ปี 2564 ฉบับนี้ ไม่ได้ตอบโจทย์เหล่านี้เลย ยังคงใช้วิธีการจัดทำงบประมาณแบบเก่าๆ ไม่ได้มีการปรับให้เหมาะกับสภาวะเศรษฐกิจที่เราเผชิญอยู่ นอกจากนั้นยังยึดโจทย์เดิมๆ ที่ต้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณแบบเก่าๆ ไม่ทันต่อสถานการณ์ ไม่ได้ตอบโจทย์ข้างต้น

งบประมาณ ปี 2564 ถูกจัดสรรแบบเก่า มุ่งไปสู่การก่อสร้าง ขุดลอกคูคลอง รวมถึงการจัดอบรมต่างๆ เสมือนทำไปวันๆ ทำตามหน้าที่ไปเรื่อยๆ ตามที่หน่วยราชการเสนอมา ซึ่งรัฐบาลไม่ได้มองไปที่ภาพใหญ่กว่านั้น คือ อนาคตของไทยจะก้าวไปในทิศทางไหน จะรองรับธุรกิจที่จะเกิดขึ้นใหม่จากพฤติกรรมผู้บริโภคใหม่ยังไง สินค้าการเกษตรจะถูกยกระดับอย่างไร เพื่อให้เกษตรสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งการอุดหนุนภาครัฐไปเรื่อยๆ อุตสาหกรรมใดจะเป็นเป้าหมายในระยะ 5 ปีข้างหน้า เราจะเอาประเทศไทยไปอยู่ส่วนไหนของห่วงโซ่อุปทานใหม่ของโลก

ยิ่งไปกว่านั้น “ทรัพยากรมนุษย์” เป็นสิ่งที่ถูกละเลยมาตลอด และงบประมาณ ปี 2564 ก็ยังขาดแผนเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า หากประชาชนขาดทักษะในการสร้างรายได้ ประเทศไทยไม่มีทางก้าวหลุดพ้นประเทศรายได้ปานกลางได้ อยากฝากไว้ว่างบประมาณควรถูกใช้ไปกับการสร้างทักษะเพื่อสร้างงานที่มีผลผลิตต่อหน่วยสูง เพื่อให้คนไทยมั่งคั่งขึ้นแบบถาวรและยั่งยืน

นอกจากนั้น งบประมาณปี 2564 ต้องไม่ถูกใช้ไปแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของพรรคฝ่ายรัฐบาล โดยนโยบายสารพัดแจกเพื่อหวังผลด้านคะแนนเสียงและความนิยม เสมือนเป็นการรีดภาษีประชาชนไปซื้อเสียงล่วงหน้า ขอย้ำว่าไม่อยากเห็นนโยบายแจกเงินเที่ยว รวมถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในส่วนที่เป็นทางผ่านของเม็ดเงินไปสู่กลุ่มทุนใหญ่ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล เป็นมาตรการเพื่อตนและพวกพ้อง โดยใช้ประชาชนและภาษีประชาชนเป็นเครื่องมือ เหมือนที่กระทำมาในอดีต

โดยสรุป งบประมาณ ปี 2564 ไม่ได้ตอบคำถามที่สำคัญในหลายๆ ข้อ เช่น

งบประมาณ ปี 2564 ไม่ได้ตอบคำถามว่าจะปรับปรุงการรองรับแรงงาน ที่ตกงานจำนวนมหาศาลอย่างไร คนเหล่านี้รัฐบาลมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับอย่างไร จะใช้ภาคส่วนไหนในการรองรับ มีการจัดสรรงบประมาณไปภาคส่วนนั้นอย่างไร

งบประมาณ ปี 2564 กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายหลังโควิด-19 อย่างไร จะใช้อุตสาหกรรมในลักษณะไหน เป็นที่ทราบกันดีว่าพฤติกรรมผู้ผลิตและผู้บริโภคมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากหลังเกิดโควิด-19 อุตสาหกรรมดาวรุ่งเกิดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ด้านความมั่นคงทางอาหาร ด้านการบริการ และด้านอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ รวมถึงการจัดสรรระเบียบโลกใหม่ ห่วงโซ่การผลิตรูปแบบใหม่ รัฐบาลมียุทธศาสตร์แล้วหรือยังว่า ประเทศไทยจะเดินไปทางไหน ก่อนที่จะจัดสรรงบประมาณหว่านไปทั่วแบบเก่าๆ แบบนี้จะไม่ทำให้ประเทศฟื้นตัว และสามารถไขว่คว้าโอกาสที่เกิดจากวิกฤติได้เลย

งบประมาณ ปี 2564 มีแผนรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างไร ณ ปัจจุบัน สิ่งที่งบประมาณต้องเข้าไปดูแลให้มากคือด้านกำลังซื้อ ด้านการสร้างงานที่มีผลผลิตต่อหน่วยสูง รัฐบาลมีแผนเหล่านี้อย่างไร

งบประมาณ ปี 2564 มีแผนในการรับมือธุรกิจที่ล้มตายจำนวนมากอย่างไร และหากมาตรการเยียวยาหมดอายุลง งบประมาณ ปี 2564 จะรับมือผลกระทบถึงสถาบันการเงินอย่างไร หากมีการผิดนัดชำระหนี้จำนวนมาก จะทำอย่างไร

สุดท้าย งบประมาณ ปี 2564 วางแผนการรับมือภาวะราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำอย่างไร มีงบประมาณสำหรับพัฒนาผลผลิตการผลิตต่อหน่วยของเกษตรกรหรือไม่ หรือแค่คิดแบบเดิมๆ ทำแบบเดิมๆ แล้วเกษตรกรก็ยากจนแบบเดิมๆ ต่อไป

คำถามเหล่านี้ ก็เพื่อให้รัฐบาลได้เกิดแนวคิดว่าขณะนี้เรากำลังประสบกับปัญหา จากการที่โควิด-19 ได้ทำให้เราต้องหยุดทุกสิ่งทุกอย่างอย่างไป 2-3 เดือน พี่น้องประชาชนขาดรายได้ และเมื่อโควิด-19 ดีขึ้นแล้วเราจะทำอย่างไร จะรับมืออย่างไร

จึงอยากให้รัฐบาลช่วยตอบคำถามเหล่านี้

งบประมาณฉบับนี้ หากดำเนินการไม่ถูกต้อง ก็จะเป็นอันตรายกับประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติเช่นนี้

หากรัฐบาลไม่สามารถชี้แจงต่อคำถามข้างต้นนี้ได้ ก็ไม่อาจจะสนับสนุบงบประมาณฉบับนี้ให้ผ่านไปได้

Written By
More from pp
บัตรมิวพาส ชวนเที่ยว 10 แหล่งเรียนรู้ช่วงเดือนตุลาคม
บัตรมิวพาส ชวนเที่ยวแหล่งเรียนรู้ 10 แห่ง ช่วงเดือนตุลาคม 2562 ได้แก่  1. สยามเซอร์เพนทาเรียม  2. พิพิธภัณฑ์ริบลีส์เชื่อหรือไม่  3. มิวเซียมสยาม  4. สเปซอินสไปเรียม 5. พิพิธภัณฑ์ของเล่นของสะสมตูนนี่  6. รับเบอร์แลนด์  7. พิพิธภัณฑ์โชคชัย รังสิต...
Read More
0 replies on ““สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ต้องไม่ถูกใช้ไปแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของพรรคฝ่ายรัฐบาล”