ชุมชนหัตถกรรม น้อมนำแนวทางศิลปาชีพในสมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวง ทำหน้ากากจากหัวใจสู้ภัยโควิด ชาวบ้านยิ้มได้ คนไทยแห่อุดหนุนต่อลมหายใจให้มีรายได้

แม้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้หลายครอบครัวหลายชีวิตต้องประสบปัญหาเดือดร้อนแสนสาหัส แต่ก็ยังมีเรื่องราวดีๆ เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องได้เห็นถึงการช่วยเหลือแบ่งปันน้ำใจให้แก่กัน โดยเฉพาะเมื่อหลายเดือนก่อนชาวบ้านในหลายชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดและภัยแล้ง ไม่มีงานไม่มีเงิน ขาดรายได้ในการดำเนินชีวิต ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ได้เข้าไปส่งเสริมให้ครูช่างศิลปหัตถกรรมในท้องถิ่นต่าง ๆ เป็นผู้นำชุมชนในการให้ชาวบ้านเหล่านั้นได้น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในงานด้านศิลปาชีพและงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน มาเป็นแสงสว่างนำทางให้ชีวิตกลับมาสดใสได้อีกครั้ง ผ่านโครงการ “หน้ากากจากหัวใจชุมชน” ที่ขยายไปยังชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ และที่น่าชื่นใจคือได้รับการสนับสนุนด้วยน้ำใจอันยิ่งใหญ่จากคนไทยทั่วประเทศ ทำให้ชาวบ้านยิ้มได้เกิดกำลังใจในการสู้ชีวิตต่อไปภายใต้สถานการณ์ผลกระทบอันเลวร้ายทั้งในดานเศรษฐกิจและสังคมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ภารดี วงศ์ศรีจันทร์ ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2555 กล่าวว่า “ปกติทำงานศิลปหัตถกรรมอยู่แล้ว เป็นงานด้นมือทำเป็นเครื่องนอน ทั้งผ้าห่ม ผ้าปูเตียง ผ้าคลุม หมอนอิงต่าง ๆ แต่เมื่อโควิดมา ทุกอย่างนิ่งไปหมดไม่มีออร์เดอร์เลยแม้แต่รายเดียว เดือดร้อนกันมากค่ะ พอ SACICT เข้ามาส่งเสริมเรื่องแนวพระราชดำริในสมเด็จพระพันปีหลวงเข้ามา ทำให้ครูเองและชาวบ้านได้เข้าใจและนำแนวทางศิลปาชีพมาทำหน้ากากทางเลือก โดยนำผ้าฝ้ายของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯมาผลิตเป็นหน้ากากพิมพ์และเขียนลายจากครามธรรมชาติ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดีมาก มียอดเข้ามาจนผลิตไม่ทัน เกิดการรวมกลุ่มกันของชาวบ้าน ขยายไปสู่ชุมชนรอบข้างมากขึ้นเพราะตอนนี้ทุกคนก็หยุดอยู่บ้านกันมาหารายได้เพิ่มตรงนี้ ทำให้ชาวบ้านยิ้มออกค่ะ”

สุภาณี ภูแล่นกี่ ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2556 เล่าว่า “เราทำอาชีพทอผ้าขายผ้ามานานตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า สำหรับลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านหัวฝาย คือ ลายหมากบก และหมากจับ ผ้าทุกผืนมีลวดลายละเอียด ประณีต สีสันสวยงาม

SACICT เข้ามาส่งเสริมให้เราภาคภูมิใจในความเป็นไทยและการเป็นส่วนหนึ่งที่ของการสืบทอดงานศิลปาชีพและหัตถกรรมไทยให้อยู่คู่คนไทย ยิ่งตอนโควิดระบาด SACICT มาสนับสนุนให้เปลี่ยนรูปแบบจากการทอผ้าผืนขายมาเป็นการทำหน้ากากผ้าไหมแต้มหมี่ ซึ่งน่าดีใจมากว่าพอทำออกมาขาย ผู้บริโภคชอบมากสั่งซื้อเราจนผลิตแทบไม่ทัน ต้องขอบคุณคนไทยที่ไม่ทิ้งกัน ช่วยให้ชาวบ้านเดือดร้อนมีรายได้เลี้ยงชีพในยามลำบาก ต้องขอบคุณมากๆค่ะ”

ธนินทร์ธร รักษาวงศ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2556 กล่าวว่า “ภาคใต้เองก็ได้รับผลกระทบจากโควิดรุนแรง กระบี่ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวแต่หลายเดือนที่ผ่านมาไม่มีนักท่องเที่ยวเลย เศรษฐกิจท้องถิ่นหยุดชะงักหมด ชาวบ้านลำบากไม่มีงานทำไม่มีรายได้ แต่ภายใต้ความเดือดร้อนนี้เองที่ทั้งตัวครูเองและชาวบ้านได้เห็นความหวัง

เมื่อ SACICT ได้นำแนวทางศิลปาชีพและหัตถกรรมท้องถิ่นมาให้เราได้ทำงาน เปลี่ยนจากการทำผ้าบาติกขายนักท่องเที่ยว มาเป็นการทำหน้ากากทางเลือก โดยใช้ภูมิปัญญาการทำผ้าบาติกลวดลายและสีสันจากธรรมชาติมาออกแบบ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของเรากลายเป็นคนไทยจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศที่ได้เข้ามาช่วยซื้อช่วยสนับสนุน ครูน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขณะเดียวกันก็ซาบซึ้งในน้ำใจคนไทยทุกคนค่ะ

นายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า น่าดีใจที่โครงการ “หน้ากากจากหัวใจชุมชน” ได้รับน้ำใจที่ยิ่งใหญ่จากคนไทยช่วยสนับสนุนต่อเนื่อง โดยขณะนี้มีชาวบ้านร่วมโครงการกว่า 500 ราย สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยครัวเรือนละประมาณ 8,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะได้ขยายชุมชนออกไปทั่วประเทศ เพื่อช่วยต่อลมหายใจให้ชุมชนได้สามารถก้าวเดินต่อไปในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  เชิญชวนคนไทยร่วมแบ่งปันความรู้สึกดีๆ ด้วยการสั่งซื้อหน้ากากแห่งความสุขนี้ได้ที่ แอพลิเคชั่น SACICT Shop ทั้งระบบ IOS และ Android หรือโทร. 1289” ผอ SACICT กล่าวทิ้งท้าย


Written By
More from pp
SCGP มอบผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของสภากาชาดไทย
นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย รับมอบผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ ภายใต้แบรนด์ Almind by SCGP ขนาด 30 ml. จำนวน...
Read More
0 replies on “ชุมชนหัตถกรรม น้อมนำแนวทางศิลปาชีพในสมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวง ทำหน้ากากจากหัวใจสู้ภัยโควิด ชาวบ้านยิ้มได้ คนไทยแห่อุดหนุนต่อลมหายใจให้มีรายได้”