พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีชี้แจงถึงการนับเวลาการเรียนการสอนตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 – 16 พฤษภาคม 2564 พร้อมให้สถานศึกษาเปิดสอนชดเชยให้ครบตามโครงสร้างเวลาเรียน โดยต้องคำนึงถึงความเหมาะสมทั้งในชั้นประถมศึกษา มัธยมตอนต้น มัธยมตอนปลาย และสถานศึกษาต่างๆ รวมทั้งการเรียนการสอนทางไกล ให้จัดตารางเวลาเรียนที่ชัดเจนเพื่อที่จะสามารถนับชั่วโมงการเรียนได้
สำหรับการจัดการเรียนการสอนทางไกลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้นำผลการดำเนินการในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 มาดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อดำเนินการในระยะที่ 3 ในช่วงวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 – 30 เมษายน 2564 แยกออกเป็น สถานการณ์ที่ 1 หากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย จะต้องจัดการเรียนการสอนระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ด้วยระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ระบบดิจิทัล ระบบดาวเทียม ระบบเคเบิลทีวี และระบบ IPTV จำนวน 15 ช่อง รวมถึงหาวิธีการที่เหมาะสม จัดเตรียมความพร้อมสำหรับอุปกรณ์
และ สถานการณ์ที่ 2 หากไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย มีการเรียนการสอนปกติในโรงเรียน จะต้องมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) มีมาตรการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
สำหรับการวัดและการประเมินผลจะต้องใช้ความร่วมมือจากหลายฝ่าย อาจใช้วิธีการสังเกต การสัมภาษณ์ ให้ข้อมูล ตรวจเยี่ยมบ้านนักเรียน ประสานความร่วมมือจากผู้ปกครอง ใช้การทดสอบรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การประเมินทางอีเมล จัดทำตารางนัดหมายเป็นกลุ่มขนาดเล็ก
ทั้งนี้ สพฐ. ได้เห็นชอบลดภาระค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน (เพิ่มเติม) ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมตั้งแต่ ในการใช้จ่ายการติดตามและเยี่ยมบ้านนักเรียน อาทิ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ ให้มีการดำเนินการจ่ายเงินสดให้แก่ผู้ปกครองสำหรับนักเรียนพิการ เด็กด้อยโอกาส ทั้งนักเรียนประจำและนักเรียนไป-กลับ