2 กระทรวงจับมือ ยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมาตรฐานปลอดภัยด้านสุขภาพ

ร่วมกันแถลงข่าวโครงการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย หรือ Amazing Thailand Safety & Health Administration : SHA  โดยความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และภาคเอกชนเพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวควบคู่มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย โดยมีผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานฯ ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม ชั้น 2 โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก ถนนวิทยุ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า  จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ทำให้ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่นับจากปลายเดือนเมษายนจนถึงเดือนพฤษภาคมนี้ ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะสามารถควบคุมโรคได้ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินมาตรการด้านการควบคุมโรคที่ใช้หลายมาตรการควบคู่กัน และที่สำคัญเกิดจากความร่วมมือของประชาชนทุกคน และทุกภาคส่วนเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค อีกทั้งยังเห็นภาพของการช่วยเหลือกันอีกด้วย

ซึ่งในขณะนี้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ได้มีการผ่อนปรนมาตรการป้องกันโรคและกำหนดแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานกลางของแต่ละกิจการและกิจกรรม โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก และพิจารณาปัจจัยด้านสังคมและเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้มีการปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและสามารถเดินทางได้มากขึ้นในการผ่อนปรนระยะถัดไป ให้ประเทศไทยผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีความยินดีอย่างยิ่ง ที่จะร่วมมือและสนับสนุนการสร้างความเชื่อมั่นให้กับการท่องเที่ยวของประเทศไทย ที่จะกลับมาเป็นประเทศผู้นำด้านการท่องเที่ยวของโลกอีกครั้ง

นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า จากวิกฤติดังกล่าว อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมแรกที่ได้รับผลกระทบและอาจจะเป็นอุตสาหกรรมสุดท้ายที่ฟื้นกลับเข้าสู่ภาวะปกติ    ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับตัวครั้งสำคัญเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงได้มอบหมายให้ ททท. ปรับนโยบายให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีภายใต้พันธกิจของ ททท.

โดยนโยบายเร่งด่วนที่สำคัญ คือ การยกระดับมาตรฐานด้านความสะอาดและสุขอนามัย ตามแนวคิด “ซ่อม-สร้าง” เพื่อกระตุ้นให้สถานประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้เตรียมความพร้อมในการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีปกติใหม่ (New Normal) ที่ไม่เพียงแต่การนำเสนอสินค้าและบริการที่ดีเหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติกันมา ยังมีความจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่กระจายของโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 และการสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศในการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศไทยอย่างมีความสุข และมีประสบการณ์ที่ดี และทำให้การท่องเที่ยวเป็นอีกหนึ่งเสาหลักทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร  อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ยินดีอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในการสร้างความมั่นใจด้านสุขอนามัยให้การเปิดบริการกิจการต่าง ๆ โดยการกำหนดแนวทางการป้องกันโรค เชื่อว่าด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน จะช่วยทำให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็ว และสิ่งสำคัญทุกคนต้องมีการปรับตัวและพัฒนายกระดับด้านสุขอนามัยและสุขาภิบาล (Hygiene and Sanitation) ให้ดียิ่งขึ้นเพราะเป็นปัจจัยสำคัญพื้นฐานที่จำเป็นต่อการป้องกันโรคติดต่อต่าง ๆ อีกทั้ง ต้องอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อใช้ชีวิตวิถีใหม่ของนักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขและ ททท. ได้ร่วมกันจัดทำมาตรฐาน SHA เรียบร้อยแล้ว และกรมอนามัย ยังมีคู่มือและแนวทางการดำเนินงานที่พร้อมสนับสนุนสถานประกอบการในภาคการท่องเที่ยวและการกีฬา

นอกจากนี้ ยังมีทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทั้งระดับเขต จังหวัด อำเภอ ที่มีความรู้และสามารถให้คำแนะนำด้านการป้องกันโรค สุขลักษณะ สุขาภิบาล และอนามัยสิ่งแวดล้อมได้ อีกทั้งยังมีคณะกรรมการร่วม 2 กระทรวง ที่ขับเคลื่อนร่วมกันที่จะจัดทำแผนการงานอย่างต่อเนื่อง

ถึงแม้ขณะนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของไทยจะดีขึ้น แต่ประชาชนทุกคนยังต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เมื่อออกจากบ้านหรือเดินทางท่องเที่ยว ล้างมือบ่อย ๆ และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร  ส่วนผู้ประกอบการก็ต้องให้ความสำคัญเรื่องการทำความสะอาดอาคาร สถานที่ บริเวณโดยรอบและบริเวณที่อาจมีการปนเปื้อนหรือมีการสัมผัสบ่อย ๆ ด้วยน้ำยาทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ จึงจะมั่นใจได้ว่าสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ในภาคการท่องเที่ยว เอื้อต่อการมีสุขภาพดี จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการได้อย่างดี

นายยุทธศักดิ์  สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวในรายละเอียดว่า โครงการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย หรือ Amazing Thailand Safety & Health Administration : SHA คือ ความตั้งใจของ ททท. ที่จะสร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวหรือผู้มาใช้บริการหลังจากสถานการณ์โควิด-19 อยู่ในระดับที่ปลอดภัยสำหรับการเดินทาง  ด้วยการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ดำเนินการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการบริการและด้านสุขอนามัยให้เป็นไปตามมาตรการทางสาธารณสุข

โดยกิจการที่สามารถขอรับมาตรฐาน SHA  แบ่งเป็น 10 ประเภทกิจการ ดังนี้

1. ประเภทภัตตาคาร/ร้านอาหาร 2. ประเภทโรงแรม/ที่พักและสถานที่จัดประชุม 3. ประเภทนันทนาการและสถานที่ท่องเที่ยว 4. ประเภทยานพาหนะ 5. ประเภทบริษัทนำเที่ยว 6. ประเภทสุขภาพและความงาม 7. ประเภทห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า 8. ประเภทกีฬาเพื่อการท่องเที่ยว 9.ประเภทการจัดกิจกรรม การจัดประชุม (MICE) โรงละคร โรงมหรสพ และ 10. ประเภทร้านค้าของที่ระลึกและร้านค้า อื่นๆ

โดยได้มีมาตรฐานเบื้องต้นจากกรมควบคุมโรคของทุกสถานประกอบการ มี 3 องค์ประกอบ  คือ

1. สุขลักษณะอาคารและอุปกรณ์เครื่องใช้ที่มีอยู่ในอาคาร 2. การจัดอุปกรณ์ทำความสะอาดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค และ 3. การป้องกันสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ทั้งนี้ มีรายละเอียดของมาตรฐานเฉพาะประเภทกิจการเพิ่มเติม โดยผู้ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานจะได้รับตราสัญลักษณ์ SHA ต่อไป

ผู้ว่าการ ททท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ททท. จะเป็นผู้ควบคุมการออกตราสัญลักษณ์โดยการระบุหมายเลขของตราสัญลักษณ์ SHA ให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อบันทึกเป็นฐานข้อมูลรายชื่อ ซึ่งมีอายุ 2 ปี และหากพบว่าผู้ประกอบการไม่สามารถรักษามาตรฐาน SHA ได้ ในเบื้องต้นจะแจ้งให้ผู้ประกอบการพัฒนาและปรับปรุง หากยังไม่สามารถรักษามาตรฐานได้ก็จำเป็นต้องเพิกถอนตราสัญลักษณ์และตัดรายชื่อออกจากฐานข้อมูล SHA

สำหรับสถานประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใด โดยสามารถศึกษาแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐาน SHA ซึ่งดาวน์โหลดเป็น e-Book ได้ที่ https://thailandsha.tourismthailand.org/ebook จากนั้นปรับปรุงสถานประกอบการให้เป็นไปตามมาตรฐาน SHA และสมัครขอรับการตรวจและรับตราสัญลักษณ์ SHA ได้ที่ www.tourismthailand.org/thailandsha

หลังจากนั้น พันธมิตรของโครงการ เช่น สภา สมาพันธ์ หรือสมาคมต่างๆ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ผู้ประกอบการนั้น ๆ เป็นสมาชิก จะเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ (Checklist) และให้การรับรองว่าผู้ประกอบการได้ดำเนินการตามมาตรฐาน SHA หรือหากไม่เป็นสมาชิกของสมาคมท่องเที่ยวใด ททท. จะประสานผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ตรวจสอบ ทั้งนี้ ททท. จะเป็นผู้รวบรวมขั้นตอนสุดท้ายก่อนมอบตราสัญลักษณ์ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 – 3 สัปดาห์

นอกจากนี้ ททท. เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ช่วยตรวจสอบสถานประกอบการหรือกิจการที่ได้รับสัญลักษณ์ SHA อีกทางหนึ่ง เพื่อเป็นเสียงสะท้อน (Voice of Customers : VOC) จากการใช้บริการ นอกจากนี้   มีคณะกรรมการตรวจสอบมาตรฐาน SHA ประกอบด้วยกรมอนามัย สาธารณสุขจังหวัด กรมการท่องเที่ยว ททท. และ อพท. สุ่มตรวจประเมินเป็นระยะอีกด้วย

สำหรับผู้ที่ได้รับรองมาตรฐาน SHA  ททท. จะประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ ททท. ได้เปิดให้ลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการตรวจสอบตามมาตรฐาน SHA ตั้งแต่วันที่  18 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นมาในขณะนี้มีผู้สนใจทยอยลงทะเบียนจำนวนมาก สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ทาง [email protected] หรือ Line Official : @thailandsha  และ 1672 เพื่อนร่วมทาง

Written By
More from pp
DSI จับกุมหญิงรับจ้างอุ้มบุญผิดกฎหมายคาสนามบิน หลังกลับจากต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2567 เวลาประมาณ 02.00 น. ชุดปฏิบัติการสืบสวน ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว ภายใต้การอำนวยการของ นายวิทวัส สุคันธรส...
Read More
0 replies on “2 กระทรวงจับมือ ยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมาตรฐานปลอดภัยด้านสุขภาพ”