โฆษก ศบค. แถลงไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ เผย ผอ.ศบค. ย้ำขยายระยะเวลาประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อความมั่นคงด้านสาธารณสุข แจงการจัดทำมาตรการผ่อนคลายระยะ 3 แบ่งเป็น 5 ช่วง

22 พ.ค.63 เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน มาตรการในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และผลการประชุม ศบค. ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. เป็นประธานการประชุม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

 1. สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ในไทย
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทย ผู้ป่วยรายใหม่เป็น 0 ราย ผู้ป่วยสะสม 3,037 ราย มีผู้หายป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 2,910 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยังคงที่ 56 ราย ผู้ที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลลดลงเหลือ 71 ราย แต่ในตัวเลขผู้ป่วยใหม่ 0 รายวันนี้ไม่ได้เป็น 0 แบบเต็มที่ เพราะเมื่อคืนนี้ State Quarantine แห่งหนึ่งยังมีผลตรวจที่ต้องรออย่างเป็นทางการ โดยจะมีการยืนยันผลการตรวจช่วงเช้าวันนี้ จึงทำให้ตัวเลข 0 รายจะต้องวงเล็บไว้ 2 ราย คือมีรายที่กลับมาจากอียิปต์และอินเดีย ซึ่งอยู่ในกระบวนการของการรายงาน อย่างไรก็ตาม ต้องชื่นชมกับตัวเลข 0 รายที่ไม่มีการรายงานผู้ป่วยในพื้นที่ประเทศไทย ทั้งนี้ ได้มีการทบทวนข้อมูลในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 8-21 พฤษภาคม 63 พบว่า มีการรายงานผู้ป่วยใหม่ 45 ราย จำแนกเป็นผู้ป่วยกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ ผู้ป่วยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ เข้า State Quarantine 15 ราย กับผู้ป่วยที่อยู่ในศูนย์กักกัน ผู้ต้องกัก อีก 5 ราย รวมเป็น 20 ราย ส่วนที่เหลือ 25 ราย แบ่งเป็นผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายก่อนหน้า 11 ราย การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชน 6 ราย ผู้ป่วยที่ไปอยู่ในที่ชุมชน และอื่น ๆ 5 ราย อาชีพเสี่ยง พนักงานขายของ 3 ราย  โดย 25 รายนี้น่ากังวลใจ เพราะเป็นผู้ที่เดินไปเดินมาอยู่ในพื้นที่ชีวิตประจำวันทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ที่ยังมีผู้ติดเชื้ออยู่ด้วย “เบาใจได้ แต่วางใจไม่ได้”
ด้านระยะของการระบาดโควิด-19 จำแนกตามปัจจัยเสี่ยงและตามวันที่รับรายงานของประเทศไทย ที่มีคำถามบ่อย ๆ ว่าทำไมจึงต้องมีการเก็บข้อมูลเป็นเวลายาวนานถึง 60 วัน นั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับชุดข้อมูลด้านสาธารณสุข โดยตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 63 ถึง 20 พฤษภาคม 63 พบว่า ในช่วงแรกที่มีการแพร่ของโรคต่ำในวงจำกัด จาก 0 แล้วค่อย ๆ สูงขึ้น จากนั้น เริ่มมีรายงานการติดเชื้อที่สนามมวยวันที่ 11 มีนาคม 63 แล้วเริ่มสูงสุดช่วงสัปดาห์ที่ 3 และ 4 ของเดือนมีนาคม 63 ที่มีตัวเลขการรายงานผู้ป่วยต่อวันเป็นร้อยคน จากนั้น เข้าสู่เดือนเมษายน ตัวเลขก็ยังสูงอยู่ จนกระทั่งมีการประกาศ พรก. ฉุกเฉิน และประกาศเคอร์ฟิวตามมา ทำให้คุมสถานการณ์ได้ระดับหนึ่ง โดยกฎหมายมีความสำคัญระดับหนึ่ง แต่ความสำคัญที่สุดที่เป็นข้อสรุปในกลุ่มนักวิชาการและคณะกรรมการต่าง ๆ คือความร่วมมือของพี่น้องประชาชนที่มีความสำคัญสูงสุด กฎหมายคือสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญคือใจของทุกคนที่ทำให้สามารถควบคุมโรคได้ ทำให้ยอดผู้ป่วยสูงสุดช่วงเดือนเมษายน ปรับลดลง ควบคุมได้ พบผู้ป่วยประปราย ซึ่งเป็นความร่วมมือร่วมใจของทุกคน จนกระทั่งเข้าสู่เดือนพฤษภาคม ที่คุมได้เต็มที่ ยอดผู้ป่วยใหม่เป็นหลักหน่วย บางครั้งเป็นตัวเลข 0
โฆษก ศบค. กล่าวว่า ระยะเวลาที่มีความสำคัญคือประมาณ 2 เดือน ถ้ามีการติดเชื้อรายที่ 1 ที่ไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่เมื่อคนที่ 2 ติดเชื้อแล้วมีอาการไข้ สมมติคนที่ 1 อายุน้อย คนที่ 2 มีอายุมาก ติดเชื้อจากคนที่ 1 จะต้องย้อนกลับไปถามว่าคนที่ 1 คือใคร ซึ่งต้องใช้เวลา 14 วันหรือมากกว่านั้นจึงจะทราบว่าคนที่ 1 เป็นใคร แต่ถ้าคนที่ 1 อายุน้อย คนที่ 2 อายุน้อย ไปเจอคนที่ 3 อายุมาก แล้วคนที่ 3 มีอาการ ก็จะต้องไล่ย้อนประวัติว่าไปสัมผัสกับใคร โดยต้องเป็น 3 ช่วง ซึ่งจากการรายงานพบว่ามีถึง 4 ช่วงที่มีอาการ ดังนั้น การเก็บข้อมูลเป็นเวลายาวนานถึง 60 วัน จึงมีที่มาในเชิงวิชาการทั้งสิ้น ยืนยันว่าไม่อยากให้ต้องใช้มูลปริมาณมาก แต่ใช้อย่างพอเหมาะเพื่อให้สามารถติดตามเคสต่าง ๆ ได้
2. สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ของโลก
สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ของโลก พบผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยู่ที่ 5,194,210 ราย เสียชีวิตไป 334,000 กว่าราย โดยสหรัฐอเมริกา ยังเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 ของโลก รองลงมาคือรัสเซีย และบราซิล รวมทั้งประเทศที่มีผู้เสียชีวิตรายใหม่อันดับที่ 1 ก็ยังเป็นสหรัฐอเมริกา 1,360 ราย ตามด้วยบราซิล 1,188 ราย และรัสเซีย ตามลำดับ  ทั้งนี้ ยังมีความกังวลใจเกี่ยวกับประเทศทางฝั่งเม็กซิโก อินเดีย และปากีสถานอยู่ ในส่วนสถานการณ์โควิด-19 ของอาเซียนและเอเชียพบว่า สิงคโปร์ยังนำขึ้นสูงอยู่ รวมถึงบังกลาเทศ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ก็ยังสูงเช่นกัน  ขณะที่เกาหลีใต้ รายใหม่ก็เพิ่มขึ้นมาเพียง 20 รายเท่านั้น
ทั้งนี้ โฆษก ศบค. ให้ข้อสังเกตกรณีสถานการณ์ของประเทศสวีเดนซึ่งอยู่ในอันดับที่ 24 ว่า สวีเดนใช้วิธีการไม่ล็อคดาวน์ และมีอิสระเสรีทั้งหลายได้ ซึ่งขณะนี้พบว่ามีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยู่ที่ 32,000 กว่ารายแล้ว และเสียชีวิตไปถึง 3,871 ราย โดยเสียชีวิตเพิ่มเมื่อวานนี้ 40 ราย ภาพสะท้อนดังกล่าวเป็นวิธีการที่แต่ละประเทศเลือกใช้ และชุดข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบเรียนรู้ว่าวิถีของการเลือกในการที่จะดำเนินมาตรการของแต่ละประเทศแตกต่างกัน แต่ก็ต้องยอมรับในเรื่องของการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น หลายประเทศก็เลือกในสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นดังที่ปรากฏดังกล่าว ส่วนอันดับของกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียพบว่าอันดับที่ 1 คืออินเดีย ขณะที่ประเทศไทยลงมาจากอันดับที่ 70 ไปอยู่ในอันดับ 73 ของโลกแล้ว
สถานการณ์โควิด-19 ของโลกจำแนกตามผู้ป่วยรายใหม่ ผู้ป่วยกลับบ้าน และเสียชีวิตประเมินเปรียบเทียบกับของประเทศไทยพบว่า สถานการณ์ของประเทศไทยจากเส้นกราฟที่ขึ้นไปขณะนี้ได้ลดลงมาแล้ว ส่วนสถานการณ์ของโลกเส้นกราฟยังมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยทิศทางของผู้ป่วยรายใหม่ ผู้ป่วยกลับบ้าน และเสียชีวิต ยังชันขึ้น ทั้งนี้ ย้ำว่าข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญและจำเป็นซึ่งผู้บริหาร ศบค. ได้รับทราบเพื่อนำมาพิจารณาในการตัดสินใจอย่างรอบด้านก่อนมีมาตรการต่าง ๆ ออกมา
โฆษก ศบค. กล่าวถึงประเด็นข่าวที่น่าสนใจในต่างประเทศว่า เกาหลีใต้ระบุว่าป่วนเปิดเรียนวันแรกพบติดเชื้อโควิด-19 ปิดอีกรอบ โดยมีโรงเรียนมัธยม 75 แห่งในเกาหลีใต้ต้องรุดส่งเด็กกลับบ้านไม่กี่ชั่วโมงหลังเพิ่งกลับมาเปิดการเรียนการสอนวันพุธที่ 20 พฤษภาคม 2563  หลังพบนักเรียน 2 คนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นักเรียนบางส่วนถูกส่งตัวกลับบ้านทันทีที่เพิ่งเดินผ่านประตูรั้วเข้าไปในโรงเรียนเป็นครั้งแรกในรอบปี หลังจากนั้นนักเรียน 2 คนของโรงเรียนระดับมัธยมเมืองอินชอนมีผลตรวจโควิด-19 ออกมาเป็นบวกในเช้าวันพุธ
3. การผลิตวัคซีนโควิด-19 ของไทย และการตรวจตามมาตรการผ่อนคลาย
โฆษก ศบค. ได้กล่าวรายงานสาระสำคัญการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ชุดใหญ่ ที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชม โดยได้กล่าวถึงกรณีที่ทั่วโลกได้ชื่นชมประเทศไทยที่ได้มีการป้องกันควบคุมโรค โดยการให้ความรู้กับประชาชนจนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดโรคได้ในระดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งเอกอัครราชทูตรัฐคูเวตประจำประเทศไทยได้กล่าวชื่นชมการทำงานและการจัดการกับโรคติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยว่า ประเทศไทยมีการดูแลแรงงานไทยที่อยู่ในต่างประเทศอย่างดี จึงอยากให้มีการเชื่อมการทำงานในทุกระดับ ให้ผลงานที่ดีของไทยได้ขยายกว้างออกไป จึงต้องการให้มีการร่วมมือกันในหลายๆ ด้าน ทั้งในการพัฒนาประเทศ แรงงาน การลงทุน เศรษฐกิจต่าง ๆ และได้กล่าวถึงการผลิตวัคซีนของไทยที่มีความสำเร็จในระดับสัตว์ทดลอง แต่ยังต้องมีอีกหลายขั้นตอนที่จะต้องใช้เวลาเป็นปี โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้รายงานว่า ผู้ที่พัฒนาวัคซีนทั้งหมด 6 เทคโนโลยี โดยผู้ทำงานล้วนแล้วแต่เป็นระดับแนวหน้าของไทย บางท่านเป็นนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก ซึ่งอยู่ในทิศทางเดียวกับการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของโลก โดยระยะเวลาในการผลิตวัคซีนจะต้องใช้เวลารอคอยอย่างน้อย 1 ปี มีการร่วมมือกับหลายประเทศทั่วโลกในการพัฒนาวัคซีน ในด้านกระบวนการทดสอบวัคซีนในคน การพัฒนาวัคซีน การรับถ่ายทอดเทคโนโลยี และการซื้อวัคซีนล่วงหน้า ทางภาครัฐของไทยได้มีการสนับสนุนเจรจาในระดับรัฐบาลเพื่อให้เชื่อมโยงกับต่างประเทศ จะต้องมีการสนับสนุน ทั้งในเรื่องงบประมาณ การสนับสนุนการขับเคลื่อนระดับชาติ เพื่อให้ผู้ที่มีความสามารถมาทำงานด้านนี้
โฆษก ศบค. เผยจำนวนชุดตรวจตามมาตรการผ่อนคลาย โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ซึ่งมีการวางกำลังชุดชุดตรวจตามมาตรการหลัก แบ่งออกเป็น ชุดตรวจร่วม 90 ชุดตรวจ ชุดตรวจทั่วไป 1,992 ชุดตรวจ และชุดตรวจส่วนกลาง 148 ชุดตรวจ โดยชุดตรวจอื่น ๆ ได้แก่ชุดตรวจตามมาตรการเสริม จะมีกรุงเทพมหานคร ศูนย์ปฏิบัติการจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ ศูนย์ปฏิบัติการตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบ และชุดตรวจเฉพาะ (ตรวจตามคู่มือ) จะมีกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้รับผิดชอบ โดยผลการตรวจ ตั้งแต่วันที่ 3 – 21 พฤษภาคม ได้ทำการตรวจทั้งหมด 353,495 แห่ง ปฏิบัติครบ 304,946 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 86.3 ปฏิบัติไม่ครบ 43,415 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 12.3 ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ 5,134 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 1.5
4. ผลการประชุม ศบค.
โฆษก ศบค. กล่าวว่า พลเอก สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้รายงานเรื่องเพื่อพิจารณา เรื่องการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ด้วยเหตุผล 3 ข้อ โดย ผอ.ศบค. ได้เน้นย้ำขยายเพื่อความมั่นคงด้านสาธารณสุข คือ 1. ยังคงมีความจำเป็นและต้องมีการบังคับใช้ พ.ร.ก. โดยการป้องกันการแพร่ระบาดในราชอาณาจักรของโรคโควิด-19 จะต้องสามารถดำเนินการต่อไปให้ได้อย่างมีเอกภาพ รวดเร็ว มีความต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานกลางในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวโยงกับทางด้านสาธารณสุขการควบคุมโรค ไม่ใช่แค่นำ พ.ร.บ.โรคติดต่อมาใช้แล้วได้ผล  ซึ่งไม่เพียงพอ ยังต้องมีการประกอบกฎหมาย 40 กว่าฉบับ มาอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถึงจะปฏิบัติตรงนี้ได้  ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ  การเคลื่อนย้าย การใช้ยานพาหนะ อากาศยาน การตรวจคนเข้าเมือง และอื่น ๆ อีกมากมาย  2. การเตรียมรองรับในระยะต่อไป ประเทศไทยอยู่ระหว่างการกำหนดมาตรการผ่อนคลายในระยะที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นกิจกรรมและกิจการที่มีความเสี่ยงสูง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการตามกฎหมาย เพื่อกำกับการบริการจัดการ เพื่อบริหารจัดการมาตรการผ่อนคลายให้เป็นระบบในเวลาที่เหมาะสม  3. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคยังคงไม่สิ้นสุด โดยมีข้อมูลว่า หลายประเทศยังคงมีการระบาดและมีจำนวนผู้ที่ติดเชื้อในระดับที่สูง  และเมื่อประเทศไทยได้จัดทำมาตรการครบทั้ง 4 ระยะแล้ว  จำเป็นจะต้องมีระยะเวลาเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ อาทิ มาตรการด้านกฎหมาย  แผนปฏิบัติการในการบริหารวิกฤตการณ์เพื่อรองรับกับความเสี่ยงที่อาจจะมีการกลับมาแพร่ระบาดของโรค
โฆษก ศบค. กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค. เห็นชอบให้มีการเสนอข้อเสนอนี้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขยายต่อ พรก.ฉุกเฉิน จากวันที่ 1 ถึง 30 มิถุนายนนี้ ขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 ของการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่จะหมดสิ้นเดือนนี้  ถ้าให้ยกเลิก พ.ร.ก.จะเกิดอะไรขึ้น ขณะนี้มีความมั่นใจในทุก ๆ เรื่องถึงแม้มี พ.ร.ก. ไม่ได้หมายความว่าเป็นที่สุด แต่ก็เป็นเครื่องมือที่ทำให้ทุกคนมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และมีความเข้าใจว่าเป็นการทำเพื่อคนทุกคนและเพื่อประเทศไทย จึงประสบความสำเร็จถึงวันนี้
โฆษก ศบค. กล่าวว่า การจัดทำมาตรการผ่อนคลายในระยะที่ 3 แบ่งออกเป็น 5 ช่วง ดังนี้ ขั้นตอนที่  1 วันที่ 23-24 พฤษภาคม การจัดเตรียมข้อมูลเพื่อประชุมคณะทำงานกลั่นกรองกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้ ในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขั้นตอนที่ 2 วันที่ 25-26 พ.ค. ประชุมคณะทำงานกลั่นกรองกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อฯ ขั้นตอนที่ 3 วันที่ 27 พ.ค. ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อฯ ขั้นตอนที่ 4 ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อฯ ขั้นตอนที่ 5 มาตรการผ่อนคลายในระยะที่ 3 มีผลบังคับใช้ต่อไป
Written By
More from pp
ดวงประจำวันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2563
ฤกษ์ดีประจำวันเสาร์เวลา 19:09 – 24:09 น. เรื่องทองคำช่วงนี้ต้องรอวันจันทร์ถึงจะขึ้น แต่สามารถซื้อเก็บเอาไว้ได้เพราะมีโอกาสทองตกช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์
Read More
0 replies on “โฆษก ศบค. แถลงไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ เผย ผอ.ศบค. ย้ำขยายระยะเวลาประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อความมั่นคงด้านสาธารณสุข แจงการจัดทำมาตรการผ่อนคลายระยะ 3 แบ่งเป็น 5 ช่วง”