นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยผลการค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด 19 เชิงรุกในกลุ่มแรงงานต่างด้าวและกลุ่มเปราะบางของเขตสุขภาพที่ 5 ไม่พบผู้ติดเชื้อ กำชับให้ อสม.และอสต. ออกเคาะประตูห้องพักแรงงาน แนะนำการปฏิบัติตัวป้องกันการติดเชื้อ
เมื่อวันที่ 21 พ.ค.63 ที่โรงพยาบาลนครท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร เยี่ยมให้กำลังใจผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 และการดำเนินงานค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในกลุ่มแรงงานต่างด้าว และกลุ่มเปราะบางในเรือนจำ รวมทั้งเยี่ยมชมการดำเนินงานศูนย์รังสีรักษา โรงพยาบาลนครท่าฉลอม โดยมีนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครให้การต้อนรับ
นายอนุทินกล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ประเทศไทยในขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง แต่ยังคงเข้มมาตรการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก นำเข้าสู่การรักษาเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ เน้นในกลุ่มเสี่ยง เช่น แรงงานต่างด้าว กลุ่มผู้ต้องขัง บุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งกลุ่มอาชีพที่ต้องพบปะคนจำนวนมาก
สำหรับเขตสุขภาพที่ 5 ซึ่งมีแรงงานต่างด้าวอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก ได้มอบนโยบายให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ออกเคาะประตูบ้าน/ หอพักคนงาน ดูแลให้ความรู้เรื่องการเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากาก การล้างมือบ่อย ๆ และคัดกรองค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก
โดยผลการตรวจหาเชื้อด้วยน้ำลาย (Pool Sample) จากแรงงานต่างด้าวและผู้ต้องขังในเรือนจำ รวมทั้งสิ้น 3,446 ตัวอย่าง ในจำนวนนี้เป็นตัวอย่างจากจังหวัดสมุทรสาคร 2,168 ตัวอย่าง ผลการตรวจไม่พบมีผู้ติดเชื้อในตัวอย่างที่เก็บมาทั้งหมด เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับการควบคุมโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 เพิ่มขึ้น
“ขอชื่นชมและขอบคุณ ทั้ง อสม.และอสต.ที่ช่วยกันดูแลพี่น้องของตนเองให้เข้าใจแนวทางการควบคุมป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข ขอให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เชิญผู้ประกอบการ นายจ้างของ อสต. มารับทราบว่าเราตระหนักถึงความสามารถ ความร่วมมือที่ส่งผลดีต่อชาวสมุทรสาครและจังหวัดใกล้เคียง” นายอนุทิน กล่าว
สำหรับศูนย์รังสีรักษา โรงพยาบาลนครท่าฉลอม เปิดให้บริการเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2563 รองรับผู้ป่วยรายใหม่ได้สัปดาห์ละ 15 ราย และให้บริการฉายรังสีได้วันละ 45 ราย ผู้ป่วยจากจังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 5 ช่วยลดระยะเวลารอคอย ผู้ป่วยได้รับการฉายแสงภายใน 6 สัปดาห์จำนวนเพิ่มขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดการส่งต่อผู้ป่วยออกนอกเขต
นอกจากนี้ มีผู้ป่วยจากเขตรอยต่อกรุงเทพฯ มารับบริการ ทำให้ตอบโจทย์นโยบายจตุรทิศของกระทรวงสาธารณสุข กระจายการให้บริการ 4 มุมเมือง ลดแออัดโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ โดยได้รับการสนับสนุนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ เพื่อจัดบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ศูนย์รังสีรักษาฯ ได้รับงบประมาณการก่อสร้างและจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ประมาณ 140 ล้านบาท จากมูลนิธิโรงพยาบาลนครท่าฉลอม มีคุณสุวรรณ แสงสุขเอี่ยม เป็นประธาน ผ่านการตรวจประเมินขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะทางด้านรังสีรักษาฯ จากคณะทำงานพัฒนามาตรฐานหน่วยบริการที่ให้บริการรักษาโรคมะเร็งด้วยเคมีบำบัดและรังสีรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้บริการผู้ป่วยสิทธิบัตรทองได้ครอบคลุม