บ่ายวันนี้ (12 พฤษภาคม 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ดร.ธีรพร สถิรอังกูร ที่ปรึกษาระดับกระทรวง ด้านการพยาบาล กล่าวว่า วันที่ 12 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันพยาบาลสากล และปีนี้องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นปีของ “พยาบาลและผดุงครรภ์”
การพยาบาลเป็นศาสตร์การดูแลผู้ป่วยบนพื้นฐานวิทยาศาสตร์การแพทย์และเทคโนโลยี ความเมตตา สัมพันธ์อันดี และอยู่กับผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง แม้ในสถานการณ์โรคโควิด 19 จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่พยาบาลทุกคนยังคงทุ่มเททำงานในทุกจุดของสังคม ทั้งในโรงพยาบาลและในชุมชน กระทรวงสาธารณสุข ได้แต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์ประสานงานความร่วมมือของพยาบาลในภาวะการติดเชื้อโควิด 19 เป็นแกนกลางประสานความร่วมมือและให้คำปรึกษาในโรงพยาบาลทุกระดับในการบริหารจัดการการบริการพยาบาลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 ภาพรวมประเทศ
สำหรับการจัดพยาบาลในการดูแลผู้ป่วย/ผู้สงสัยติดเชื้อโควิด 19 จะคำนึงถึงอาการ ระดับความรุนแรงของผู้ป่วย และความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ของพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัย โดยกลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรงมาก จะดูแลโดยพยาบาลผู้ป่วยหนัก/ วิสัญญีพยาบาล/ พยาบาลอายุรกรรม, กลุ่มผู้ป่วยอาการปานกลางและผู้ป่วยอาการรุนแรงน้อย จะดูแลโดยพยาบาลอายุรกรรม และพยาบาลของสาขาอื่นๆ, กลุ่มผู้มารับบริการคัดกรองการติดเชื้อที่โรงพยาบาล จะใช้พยาบาลผู้ป่วยนอก ส่วนการคัดกรองในชุมชน จะเป็นพยาบาลชุมชน/ พยาบาลอาชีวอนามัย/ พยาบาลจิตเวช โดยทุกโรงพยาบาลจะมีพยาบาลป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล ดูแลระบบการเฝ้าระวังการติดเชื้อเพื่อให้เกิดความปลอดภัยของบุคลากร พยาบาล และประชาชน
นางสุทธิพร เทรูยา รองผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาล สถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า สถาบันบําราศ ฯ ได้ตรวจรักษาผู้ป่วย ตั้งแต่ 4 มกราคม 63 ถึงปัจจุบัน มีผู้รับบริการ 14,327 ราย สงสัยติดเชื้อ 5,062 ราย มีผู้ป่วยยืนยันรักษาที่สถาบันบำราศฯ 214 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 210 ราย เสียชีวิต 4 ราย ไม่มีพยาบาลติดเชื้อแม้แต่รายเดียว หัวใจการทำงานคือยึดหลักการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลและการปฏิบัติตามมาตรฐานการพยาบาลของผู้ป่วยในแต่ละระดับ
นอกจากนี้ พยาบาลจะเป็นผู้ให้กำลังใจ ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ได้มีการเตรียมพร้อมทั้งเรื่องการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันร่างกายที่ถูกต้อง ทักษะการใช้อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องช่วยหายใจ และเตรียมพร้อมร่างกายและจิตใจของพยาบาล ตรวจสุขภาพประจำปี ฉีดวัคซีนป้องกันโรค หัวใจสำคัญคือ ผู้ป่วยปลอดภัย พยาบาลปลอดภัย ไม่มีการแพร่กระจายเชื้อสู่สิ่งแวดล้อม และผู้ป่วยอื่นๆ ในการปฏิบัติงานรับผู้ป่วย จะมีการวางแผนตั้งแต่เส้นทางจากสนามบินจนถึงห้องผู้ป่วย จัดทีมพยาบาล เจ้าหน้าที่ รับผู้ป่วยโดยใช้มาตรการป้องกันขั้นสูงสุด มีเส้นทางเฉพาะในโรงพยาบาล และเตรียมอุปกรณ์ป้องกันร่างกายให้มีใช้อย่างเพียงพอ บทเรียนครั้งนี้ สามารถถ่ายทอดให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ต่อไป
นางศิริมา ลีละวงศ์ ผู้อำนวยการกองการพยาบาล กล่าวว่า พยาบาลได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ในการให้บริการ 6 ประการ คือ 1.สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาปฏิบัติงานและเปลี่ยนทุก 8 ชั่วโมง 2.ล้างมือบ่อยๆ ทั้งก่อนและหลังการให้บริการ 3.อาบน้ำสระผมก่อนกลับบ้านหรือทันทีเมื่อถึงบ้าน 4.ไม่ใส่ชุดพยาบาลกลับบ้าน 5.พกพาเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ล้างมือติดตัวตลอดเวลา และ6.ไม่สวมชุดพยาบาลไปในพื้นที่สาธารณะ