“รุ่นเก่า-รุ่นใหม่” ของจริง

๑๑ พฤษภา.ของปีนี้
ตรงกับแรม ๕ ค่ำ เดือน ๖ มีฤกษ์ยามกำหนดเป็นวัน “พืชมงคล” และวัน “เกษตรกร”
หยุดงานกันอีกวันหนึ่ง….
ฉะนั้น ผมจะเล่านิทาน “ชีวิตจริง” ที่สะท้อน “วิถีคิด-ชีวิตไทยฐานราก” จากคน ๒ วัย ที่เรียกกันว่า “รุ่นเก่า-รุ่นใหม่” ให้ท่านคิดกันเล่นๆ

ว่าคนจน-คนรวย โดยแก่นแท้ของมัน แบบไหนเรียกจน -แบบไหนเรียกรวย?
คนรุ่นเก่า-คนรุ่นใหม่ คือแบบไหนในความเป็นจริงของสังคมชาติ?
สะท้อนกันดูจาก “นิทานชีวิตจริง” ที่ผมเล่านี้ ต่อจากนี้แล้วตอบซิ ไหนเก่า-ไหนใหม่ เทียบกับทุกวันนี้?

ในกาลครั้งหนึ่ง คือครั้งนี้ พศ.๒๕๖๓ นี่แหละ
ไวรัสโควิด-๑๙ ระบาดทั้งโลก รวมทั้งที่ประเทศไทย เดือดร้อนในชีวิตเป็นอยู่กันไปหมด
คนไทยก็ช่วยเหลือกัน ใครมีอย่างไหน ก็นำอย่างนั้นออกแจกจ่ายแบ่งปันกัน
เมื่อต้นเดือนพฤษภา…..
มีชายหนุ่มคนหนึ่ง อายุไม่น่าเกิน ๓๐ ปี สวมหน้ากากอนามัย พร้อมลูกน้อง ๓-๔ คน นั่งรถตระเวนไปเรื่อยๆ
พบคนยากไร้-อดอยาก ตามท้องถนน ชายหนุ่มคนนั้น ก็หยุดรถ ในมือมีธนบัตรใบละ ๑๐๐, ๕๐๐, ๑,๐๐๐ เป็นปึกๆ
บอกให้คนเหล่านั้น สู้..สู้ ยิ้มไว้ อย่าท้อแท้
แล้วแจกเงิน ๕๐๐ บาทบ้าง ๑,๐๐๐ บาทบ้าง แลกยิ้ม

เรื่องนี้ มีผู้เผยแพร่คลิปในโซเชียล เขาตระเวนแจกเงินไปเรื่อยๆ หลายที่ น่าจะเป็นต่างจังหวัด
ไม่เพียงกับคนยาก-คนจนตามท้องถนน
เขายังมีเป้าหมาย แจกเงินคนสู้ชีวิต ประเภท “ตีนถีบ-ปากกัด” ที่ไม่งอมือ-งอเท้ารอใครมาช่วย และไม่เอาแต่โทษหรือร้องขอใคร
โดยเฉพาะ “คนเฒ่า-คนแก่” ที่งกๆ เงิ่นๆ ตระเวนเร่ หาบคอนของไปขาย

มีผู้ใช้นาม “อธิบดี ตี๋ ชูศักดิ์” ถ่ายคลิปลงโซเชียล อย่างเช่น ๒ พค.๖๓ พร้อมข้อความว่า

“มีคนส่งเรื่องมาให้ผม บอกว่ายาย นั่งขายของจนมืดทุกวัน บางวันขายไม่ได้ก็ต้องแจก วันนี้ผมเลยอยากให้ยายได้พักผ่อน #กอดยายหน่อย”

ก็ไม่ได้บอกว่าที่ไหน เท่าที่ผมฟังการสนทนากับยาย ชายหนุ่มคนนั้นบอก “เขามาจากนครปฐม”
ยายท่านหนึ่ง นั่งขายขนมริมถนน ชายหนุ่มผู้นั้น ควักให้ยาย ๑,๐๐๐ บาท บอกเหมาทั้งหมด

คุณยายงงๆ ชายหนุ่มย้ำ ผมเหมาแล้ว ยายช่วยแจกให้หมดละกัน และนับเงินให้ยายอีก ๑,๐๐๐ บาท
ยายยิ่งงง เขานับธนบัตรใบละร้อยปึกใหญ่ในมือให้อีก ๑,๐๐๐ บอกพรุ่งนี้ไม่ต้องขาย จ้างให้ยายพักอยู่กับบ้าน

ประเด็น ก็คือ “ผู้ให้” เต็มใจให้ แต่ “ผู้รับ” ไม่เต็มใจรับ พอใจเงินจากน้ำพัก-น้ำแรงตัวเองมากกว่า ซึ่งมันขัดแย้ง “สังคมรอแจก” ทุกวันนี้มาก

อีกรายหนึ่ง ในวันต่อมา……
หนุ่มคนนี้ ไปพบคุณยายท่านหนึ่ง หลังโกง ผอมเกร็ง อายุไม่น่าต่ำกว่า ๘๐ ใช้รถเข็น ๒ ล้อ เข็นผักไปวางขายข้างถนน ซึ่งเปลี่ยว ไม่มีผู้คน นอกจากรถวิ่งผ่าน
ชายหนุ่มแวะเอาเงินให้ยาย แต่ยายไม่ยอมรับ
เขาต้องยกมือไหว้ ขอร้องให้ยายรับ สุดท้าย ทำเป็นขอซื้อใบตองสด ให้ยายไป ๒,๐๐๐ บาท
และนี่ เป็นจุดเริ่มของเรื่องในวันต่อมา จากคลิป “อธิบดี ตี๋ ชูศักดิ์” ที่เกริ่นด้วยข้อความว่า

ชีวิตมันก็แค่นี้ ขนาดบ้านไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ยายยังยิ้มได้
ยายบอกว่าไม่ลำบาก ยายทำให้ทุกคนมีแรงมาก #รักยายดื้อ

คือ ชายหนุ่มซื้อกระบะ ๓ ล้อไปเปลี่ยนจาก ๒ ล้อเข็นให้ยาย เขาตามพบยายขณะเข็น ๒ ล้อกลับบ้าน วันต่อมา

ต่อจากนี้ เป็นเสียงสนทนาในคลิป เอาเท่าที่ฟังได้ชัด
หนุ่ม:ยายจ๋า หลานมาแล้ว
ยาย:ไม่เอาไม่ได้หรือหนูจ๋า
หนุ่ม:เอา…เอามาให้ จอดข้างทางก่อน
ยาย: โอ้โฮ…ตาย ตาย แล้วเงินก็ให้ตั้งเยอะแยะ แล้วจะทำอะไรให้ล่ะหนูจ๋า
หนุ่ม:เนี่ย…เอามาให้นี่ไง สะดวกสบายกว่าตั้งเยอะแยะ
ยาย:ไม่เอาไม่ได้หรือ เอาไปให้คนอื่นเขาไม่ได้หรือ
หนุ่ม:ไม่ได้…เอามาแลกกับผักนี่ไง ไม่ได้เอามาให้ยาย
ยาย:มีอะไรที่ไหน เอามาให้เยอะแยะ มีแต่กล้วย
หนุ่ม:มีกล้วยก็เอากล้วยไง
ยาย:ฉันไม่เคยใช้ของดีได้
หนุ่ม:มันเก่าแล้วไง
ยาย:เก่าก็ไม่เป็นไร
หนุ่ม:ถ้ายายไม่เอานะ เดี๋ยวผมจะขะโมยอันนี้ไป ยายจะแลกดีๆหรือจะให้ขะโมยไป
ยาย:เอามาให้เยอะแยะ แล้วยายจะไปทำอะไรให้ล่ะหนูจ๋า

หนุ่ม (ขนของจากรถเข็น ๒ ล้อของยายไปใส่รถกระบะ ๓ ล้อที่ซื้อมาให้ใหม่)
ยาย:มีแต่กล้วย กับใบตอง หัวปลี ๒ หัว ยายก็กลัวไปเป็นบริวารชาติหน้า
หนุ่ม:มันไม่เกี่ยวกันหรอก ผมให้ยาย ๒ พัน ยายยังไม่อยากเอาเลย
ยาย:เรามี ๑๐ นิ้วเหมือนกัน ต้องสู้
(ยายเข็นรถคันใหม่ไปตามถนน พลางบ่น)
ยาย:โธ่…ตาเถร เนี่ย มันเข็นสู้เข่งไม่ได้รู้เปล่า เข่งมันหนีเข้าป่าได้ นี่มันฝืด มันหนักด้วย
(หนุ่มกับยายเข็นรถไป เดินคุยกันไป มุ่งหน้ากลับบ้าน เมื่อถึงปากทางเข้าบ้าน ช่วยกันรื้อสัมภาระต่างๆ ที่สุมปิดกันคนอื่นเข้าบ้านออก)
หนุ่ม:ให้อะไรยายก็ไม่ค่อยเอา
ยาย:เอาไปได้ไง ลูกเรา ยังไม่เอาของเขาเลย มีมือ ๑๐ นิ้วเหมือนกัน
หนุ่ม:ก็ยายแก่แล้ว มีมือ ๑๐ นิ้วอ่ะ
ยาย:เออ ยายยังจะคืนเงินให้พวกหนูเลยนะ
หนุ่ม:ไม่คืน…ไม่เอา ถ้ายายไม่เอา พวกผมร้องไห้เลยวันนี้
ยาย:แล้วพี่น้องหนูเขาไม่ว่าหรือเนี่ย มาช่วยยาย
หนุ่ม:ใครจะมาว่าหนู ไม่มีใครว่าหนูได้หรอก มีแต่คนภูมิใจ มีแต่คนอยากให้มาช่วยยาย
ยาย:อู้หู…ไม่เคยเบียดเบียนใคร ถือว่ายังไง ก็ยังงั้น
หนุ่ม:ใช่ ก็เพราะยายเป็นคนดีไง ไม่เบียดเบียนใครไง ผมจึงมาช่วยยาย ชาติที่แล้วผมอาจเป็นลูกยายก็ได้ ใครจะไปรู้ล่ะ ใช่มั้ยล่ะ
……………
ยาย: เช้าไปขายของ เย็นไปขายของ ก็เจอคนพูด กลับมาบ้านก็เงียบ กินข้าวแล้วนอน บางทีไม่กิน กินน้ำแข็ง ข้าวเขิ้วไม่กิน
หนุ่ม:ทำไมไม่กินข้าว
ยาย:ก็ ไม่มีเวลาหุง กลับมาก็ขี้เกียจกิน มันเบื่อข้าว กินน้ำแข็ง ก็อยากตาย แต่ไอ้ห่าเอ๊ย ตายแล้วไปอยู่ที่ไหนก็ยังไม่รู้ สร้างวิหารไปพันนึง สร้างอะไรไปสี่-ห้าพัน
หนุ่ม:ทำบุญน่ะเหรอ
ยาย:เออ…สะพานข้ามแม่น้ำนั่นน่ะ ๕๐๐ ที่หน้าวัดนั่น ไม่รู้จะทำยังไง
(คงสะท้อนหัวอกตัวเอง ยกมือเช็ดน้ำตาที่ไหลซึมตามรอยยับย่นบนใบหน้าสีกล้วยตาก)
หนุ่ม:ยายยังต้องอยู่กับผม ผมเพิ่งมาเป็นหลานยายเองอ่ะ (เอื้อมมือไปบีบแขนยายเหมือนปลอบ)
ยาย:เออ…จะเป็นหลานยังไงก็ยังไม่รู้ เพราะหลานเรายังไม่รู้จะเรียนอะไรได้ หนูมาให้ตั้ง ๒ พัน ของตั้งเยอะแยะ
หนุ่ม:โอย แค่นี้เอง แล้วหนูจะมาดูยายบ่อยๆ
ยาย:เดี๋ยวพี่น้องเค้าจะมาว่ามาดูแลคนอื่น หนูเอามาให้ ๒ พัน
หนุม:ไม่เกี่ยว มีแต่ภูมิใจ หนูมีความสุขที่ได้ทำ ความสุขของหนู ก็ความสุขของทุกคน
ยาย:จะให้ที่ (ดิน) ซักงานนึง เอามั้ยล่ะ
หนุ่ม:ไม่เอา… ผมไม่อยากได้อะไรเลย บนโลกนี้ผมไม่อยากได้อะไรแล้ว
ยาย:จะให้ที่ (ดิน) ซักงาน อยู่…(เสียงมอเตอร์ไซค์กลบ) คนละฝั่งทางด่วนด้วย
หนุ่ม:ไม่เอา…สิ่งเดียวที่ผมปรารถนา อยากให้ยายมีความสุข ได้พักเหนื่อย ไม่ต้องเหนื่อย
ยาย:ก็…มันก็เคยเรื่อยมา
หนุ่ม:ก็นั่นไง นี่คือสิ่งที่ผมไม่อยากได้ทรัพย์สินเงินทอง ผมไม่เอา
ยาย:มันเคยไง ไม่เคยท้อใจ แต่ว่ามัน ไอห่า…สภาพเรามัน… อยู่ป่านนี้แล้ว มันก็บอกไม่ถูกเหมือนละนะ ห่วงหลาน ยังไม่ได้บวชหลานซักคนนึงเลย
หนุ่ม:ยายจะบวชหลานเมื่อไหร่ ยายบอกผม ผมจะมาช่วย เพราะยายเป็นคนแบบนี้
ยาย:(หัวเราะแห้งๆ แบบปลงชะตาชีวิต)
หนุ่ม:ต้องบังคับ ถ้ายายไม่เอาของของผม ก็ตื๊อยายอยู่อย่างนี้ พอยายเอาปุ๊บ ผมมีความสุข ผมกลับบ้าน นอนหลับ ถ้ายายไม่เอา ผมคงนอนไม่หลับ
ยาย:เห็นว่าเขาเปลืองเงินเยอะ เงินทองบางทีเราก็ทำไม่ได้ มันไม่แน่
หนุ่ม:ก็ของนอกกายเงินทองน่ะ
ยาย:นอกกายก็เถอะ บางทีมันทำไม่ได้ ฉันทำมาตั้งแต่เด็กยันโต ไม่มีเงินซักแสน ให้ลูกไปสี่หมื่นกว่า บอกแม่ตายมาเผาแม่ด้วยนะ
…………
หนุ่ม:ก็ไม่ท้อ?
ยาย:ไม่ท้อ เพราะเราต้องต่อสู้ความจนเรื่อยมา
หนุ่ม:ท้อไปก็ไม่มีประโยชน์ แต่ยายอายุ ๘๐ กว่าแล้วนะ
ยาย:๘๔
หนุ่ม:ผมให้เงินยาย ทำไมยายไม่เอาล่ะ
ยาย:ก็…ฉันอยากจะคืนให้หนู นี่ไง ยังเก็บไว้เลย
หนุ่ม:ไม่คืน ไม่เอา ทำไมยายถึงไม่อยากรับ
ยาย:ก็เพราะคนเรามีมือ ๑๐ นิ้วเหมือนกันไง
หนุ่ม:คนเรามีมือ มีแรงก็สู้ใช่มั้ย
ยาย:เออ…เบียดเบียนคนอื่นเขา ยังจะต้องใช้เขาอีกเยอะ
หนุ่ม:ยายเป็นผู้หญิงที่เก่งมาก สุดยอด
ยาย:เฮอะๆ
นิทานชีวิตจริงจบแค่นี้ ได้ข้อคิดอะไรจาก “รุ่นใหม่-รุ่นเก่า” เล่าสู่กันฟังบ้างก็ดีนะ.

 

LineID : plewseengern.com

Written By
More from plew
ซ่านักก็ “ส่งกลับคุก” – เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน จะเรียกว่าอะไรดีล่ะ? “เสือกเพื่อชาติ” หรือเรียกว่ากระสัน “สถาปนาอำนาจเหนือรัฐบาล” ให้ตัวเอง ก็คงไม่ผิดทั้งสองอย่างแหละน่า ก็ใครซะอีกล่ะ ….. ถ้าไม่ใช่ “ก้อนกรวดในรองเท้า”...
Read More
One reply on ““รุ่นเก่า-รุ่นใหม่” ของจริง”
  1. says: Chaiyaporn Yu-orn

    เป็นนิทานที่อ่านจบแล้วน้ำตาซึม

Comments are closed.