กรมการแพทย์รณรงค์ “รู้ทัน…กันหักซ้ำ” ในผู้สูงวัย

กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลเลิดสิน ชี้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว พบภาวะกระดูกสะโพกหักหรือจากภาวะกระดูกพรุนมีอุบัติการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะพบกับโรคต่างๆ ในผู้สูงอายุ หนึ่งในโรคที่พบบ่อยคือ โรคกระดูกพรุน เป็นภัยเงียบเนื่องจากจะไม่แสดงอาการ แต่จะรู้เมื่อกระดูกหัก เกิดจากมวลกระดูกที่ลดลง โครงสร้างกระดูกเปลี่ยนแปลงไปและเมื่อถูกแรงกระแทกเพียงเล็กน้อยอาจทำให้กระดูกหักได้ง่ายขึ้น โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ จึงได้จัดทำโครงการ “รู้ทัน…กันหักซ้ำ” ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานทุกภาคส่วน เป็นโครงการดูแลรักษาผู้ป่วยสูงอายุที่มีกระดูกสะโพกหักเพื่อป้องกันการเกิดกระดูกหักซ้ำซ้อนจากโรคกระดูกพรุน ด้วยการดูแลครบวงจรจากบุคลากรทางการแพทย์ เช่น ศัลยแพทย์ด้านกระดูกและข้อ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด เป็นต้น

นายแพทย์ศักรินทร์ วงศ์เลิศศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ที่กระดูกหักหนึ่งจุดอันเนื่องมาจากกระดูกพรุน พบว่ามีโอกาสหักได้บ่อย ได้แก่ กระดูกสะโพก กระดูกหลัง กระดูกข้อมือและผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนเนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีส่วนช่วยในการสร้างกระดูกจะลดต่ำ จึงทำให้เกิดภาวะสลายเซลล์กระดูกมีมากกว่าการสร้างเซลล์กระดูก ซึ่งโครงการรู้ทัน…กันหักซ้ำ เป็นโครงการดูแลรักษาผู้ป่วยสูงอายุที่มีกระดูกสะโพกหัก เพื่อป้องกันกระดูกหักซ้ำซ้อน นอกจากนี้ยังให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องต่าง ๆ เช่น การเสริมสร้างเนื้อกระดูกแข็งแรงตั้งแต่เด็ก ตรวจวัดความหนาแน่นกระดูกด้วยเครื่อง Bone Densitometry ดูแลสุขภาพช่องปาก ใช้เครื่องมือวิเคราะห์การทรงตัวป้องกันหกล้ม แนะนำการออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อกระดูกแข็งแรง แนวทางการรักษาภาวะกระดูกหักซ้ำ ประกอบด้วย การผ่าตัดรักษากระดูกสะโพกหักแบบ Fast Track sugery (ผ่าตัดไว) เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนเพิ่มอัตราการฟื้นตัวที่ดียิ่งขึ้น

0 replies on “กรมการแพทย์รณรงค์ “รู้ทัน…กันหักซ้ำ” ในผู้สูงวัย”