จากประกาศโรงพยาบาลรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส งดให้บริการผู้ป่วยทั่วไปทุกกรณี โดยจะเปิดให้บริการเฉพาะผู้ป่วยอาการทางเดินหายใจที่เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้ป่วยฉุกเฉินเท่านั้น เนื่องจากมีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์จำนวน 28 คนเสี่ยงต่อการติดเชื้อและต้องถูกกักตัว 14 วัน ส่งผลต่อขวัญกำลังใจบุคลากรทางการแพทย์และการรับบริการตรวจรักษาของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
วานนี้ (วันจันทร์ที่ 20 เมษายน 2563) พลอากาศเอก มานัต วงษ์วาทย์ สั่งการให้กองบิน 6 จัดเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 8 หรือ C-130 ลำเลียงถุงยังชีพและนวัตกรรมที่เกิดจากภูมิปัญญาบุคลากรของกองทัพอากาศ ไปมอบให้ประชาชนและโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามโครงการ “กองทัพอากาศ ร่วมตั้งการ์ด สู้ COVID-19” ที่กองทัพอากาศได้จัดทำเพื่อเป็นกำลังใจให้กับนักรบชุดขาวกับชาวไทยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ผ่านพ้นวิกฤติไปด้วยกัน โดยมอบหมายให้ พลอากาศโท ธนศักดิ์ เมตะนันท์ รองเสนาธิการทหารอากาศ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและเพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนกองทัพอากาศ เป็นผู้แทน นำสิ่งของดังกล่าวไปมอบให้แก่ประชาชนและโรงพยาบาลประจำจังหวัด ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยสิ่งของที่จะนำไปมอบให้กับประชาชนและโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย
– ถุงยังชีพ สำหรับชาวมุสลิม จำนวน 1,200 ชุด และชาวพุทธ 200 ชุด รวม 1,500 ชุด
– น้องถาดหลุม หุ่นยนต์ช่วยการพยาบาล จำนวน 3 ชุด
– น้องบุญสุข เครื่องวัดอุณหภูมิ จำนวน 15 เครื่อง
– น้องบุญช่วย เครื่องช่วยหายใจ จำนวน 2 เครื่อง
– Shield Box ฉากกั้นระหว่างแพทย์และคนป่วย แบบนั่ง จำนวน 12 กล่องและแบบนอน จำนวน 63 กล่อง
– ตู้อบฆ่าเชื้อ จำนวน 6 ตู้
– อินทรีย์อนามัย เครื่องกดแอลกอฮอล์ล้างมือแบบใช้เท้ากด จำนวน 6 เครื่อง
– แอลกอฮอล์เจลแบบขวดกด 300 ซีซี จำนวน 50 ขวด และแอลกอฮอล์รีฟิลแกนลอนขนาด 6 ลิตร จำนวน 4 แกลลอน
ในโอกาสนี้ได้นำ “น้องจักจั่น” โดรนกระจายเสียง ซึ่งผลิตโดยภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า กองการศึกษา โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช ไปทำการบินสาธิตการกระจายเสียงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยข้อความที่ใช้กระจายเสียงได้จัดทำทั้งสองภาษาคือภาษาไทยและภาษายาวี
ทั้งนี้ นวัตกรรมที่นำไปมอบให้โรงพยาบาลประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อต่อสู้กับไวรัส COVID-19 ทั้งหมดเป็นผลผลิตทางความคิดของบุคลากรกองทัพอากาศ ที่ขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติจริง ด้วยความทุ่มเททุกระดับชั้น โรงงานและบุคลากรของกองทัพอากาศได้รับการพิสูจน์แล้วว่า จากโรงงานสร้างและซ่อมเครื่องบิน สามารถปรับเปลี่ยนมารองรับการผลิตนวัตกรรมใหม่ ๆ สู้กับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นได้จริง ต้องลงมือคิดและทำ ต้องร่วมมือกัน เราจะพ้นวิกฤตทุกวิกฤตไปด้วยกัน