“วราวุธ” เยี่ยมชม ศูนย์ TTRS – ช่วยคนพิการทางการได้ยิน เข้าถึงข่าวสาร สิทธิสวัสดิการสังคมของรัฐ

19 พฤษภาคม 2568 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ไปยังมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ เพื่อเยี่ยมชมศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS) และศูนย์ผลิตสื่อภาษามือ พร้อมหารือถึงแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย (หูหนวกและคนหูตึง) ร่วมกับผู้แทนภาคีเครือข่าย อีกทั้งเยี่ยมชมหอศิลป์ยิ้มสู้ และร้านยิ้มสู้คาเฟ่

โดยมี ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ให้การต้อนรับ ซึ่งมี นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง พม. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. นายโชคชัย วิเชียรชัยยะ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และคณะผู้บริหาร ร่วมในงาน

นายวราวุธ กล่าวว่า จากข้อมูลการจดทะเบียนคนพิการของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวง พม. ที่วันที่ 30 เมษายน 2568 ประเทศไทยมีคนพิการทั้งสิ้น 2,242,693 คน แบ่งเป็นคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย (หูหนวกและคนหูตึง) 432,495 คน คิดเป็นร้อยละ 19.28 นับเป็นกลุ่มคนพิการมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ

ซึ่งกระทรวง พม. ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมสิทธิสวัสดิการสังคมและการเข้าถึงบริการของภาครัฐสำหรับกลุ่มคนพิการนี้ ผ่านการดำเนินงานของกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่

1. ระยะเร่งด่วน โดยจัดบริการล่ามภาษามือ โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานและสถาบันต่าง ๆ ได้แก่ สถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย และสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ในการออกแบบหลักสูตร อบรม และประเมินมาตรฐานล่ามภาษามือ

2. ระยะกลาง โดยสนับสนุนให้สถาบันการศึกษา หน่วยงาน และองค์กรต่าง ๆ เปิดหลักสูตรล่ามภาษามือทั้งระดับประกาศนียบัตร (1 ปี) และระดับปริญญาตรี สำหรับผู้สนใจทั้งที่เป็นคนพิการและบุคคลทั่วไป พร้อมผลักดันการกำหนดตำแหน่ง “ล่ามภาษามือ” เป็นตำแหน่งขาดแคลนในระบบราชการ พร้อมค่าตอบแทนพิเศษ และบรรจุประจำศูนย์บริการคนพิการทั่วประเทศ

3. ระยะยาว โดยมอบทุนการศึกษาให้แก่บุคลากรภาครัฐ โดยเฉพาะบุคลากรของกระทรวง พม. เพื่อเข้ารับการศึกษาในหลักสูตรล่ามภาษามือสำหรับรองรับภารกิจในหน่วยงานทั้งส่วนกลางและภูมิภาค และ

4. ระยะการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพื่อพัฒนาบริการล่ามภาษามือทางเลือก และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนพิการทางการได้ยินในอนาคต

สำหรับศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS) เป็นศูนย์บริการล่ามภาษามือออนไลน์ มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย (หูหนวกและคนหูตึง) ให้สามารถติดต่อสื่อสารกับบุคคลทั่วไปและเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และทันท่วงที โดยเฉพาะในสถานการณ์เร่งด่วนหรือฉุกเฉิน ซึ่งให้บริการถ่ายทอดการสื่อสารที่ครอบคลุม

ได้แก่ 1. บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาข้อความผ่านแอปพลิเคชัน TTRS Live Chat ในสมาร์ทโฟน หรือแท็ปเล็ต 2. บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาวิดีโอผ่านแอปพลิเคชัน TTRS Video ในสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต 3. บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาวิดีโอผ่านเครื่องบริการถ่ายทอดการสื่อสารสาธารณะ (ตู้ TTRS) และ 4. บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาวิดีโอผ่านโทรศัพท์วิดีโอ (TTRS Video Phone)

Written By
More from pp
ผู้มีบารมีเหนือเพื่อไทย-ผักกาดหอม
ผักกาดหอม จับได้คาหนังคาเขา           ความกะล่อนของพรรคเพื่อไทย  ไหนบอกว่า “ทักษิณ” ไม่เกี่ยว ไม่ถูกครอบงำ แต่ทำไมเบรกตัวโก่งกันแทบไม่ทัน หลัง “ทักษิณ” ไม่อยากเปิดศึกเพิ่ม...
Read More
0 replies on ““วราวุธ” เยี่ยมชม ศูนย์ TTRS – ช่วยคนพิการทางการได้ยิน เข้าถึงข่าวสาร สิทธิสวัสดิการสังคมของรัฐ”