ผักกาดหอม
“เขา” บอกว่ากีฬาเป็นยาวิเศษ
“เขา” ที่ว่าจะเป็น “เขา” ไหนก็ตาม แต่ได้รับการยอมรับกันทั่วโลกว่า กีฬา เป็นยาวิเศษ จริงๆ
แก้กองกิเลส ทำตนให้เป็นคน
แต่…เมื่อไหร่ก็ตามที่เอาความเชื่อทางศาสนา และการเมือง ไปปนกับกีฬา กีฬาจะกลายเป็นยาพิษในทันทีเช่นกัน
กำลังพูดถึง พิธีเปิดโอลิมปิก ๒๐๒๔ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ครับ พอเริ่มจะตั้งหลักกันได้ เสียงวิจารณ์ก็ดังสนั่นไปทั่วโลก
เพราะมีเนื้อหาที่เลยเถิด และสับสน จนไม่รู้ว่าคณะผู้จัดต้องการสื่ออะไรให้ชาวโลกได้รับรู้กันแน่
มี ๒ ประเด็นหลักๆ
ประเด็นแรก การแสดงล้อเลียนภาพวาด The Last Supper อาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซู ผลงานชิ้นเอกของ เลโอนาร์โด ดา วินชี ศิลปินเอกชาวอิตาลี
คณะผู้จัดงาน ให้นักแสดงแต่งตัวเป็น Drag Queen แสดงเหตุการณ์จำลอง จนคล้ายกับภาพวาด The Last Supper ชาวพุทธอย่างเรายังมีความรู้สึกว่าไม่ควร
นับประสาอะไรกับ ชาวคริสต์ ที่ออกมาประณามไปทั่วโลก จนต้องลบคลิปพิธีเปิดโอลิมปิก ๒๐๒๔ ออกจากบัญชีทางการโอลิมปิก ที่เผยแพร่บนแพลตฟอร์มยูทูบ
เสรีภาพที่มาพร้อมกับการลบหลู่ มักเกิดขึ้นเสมอในสังคมตะวันตก แต่คราวนี้ดูเหมือนว่าจะหนักไปหน่อย จนเห็นสันดานคนที่คิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล
ปัจจุบันคนประเภทนี้สังคมไทยก็มีอยู่ไม่น้อยครับ เห็นว่าการไม่นับถือศาสนากลายเป็นเรื่องเท่ เรื่องของแฟชั่น วิจารณ์ศาสนาเป็นเรื่องงมงาย ฉะนั้นพฤติกรรมไม่เคารพผู้อื่นจึงกลายเป็นเรื่องปกติของคนกลุ่มนี้
ผลกระทบจากการล้อเลียนภาพวาด The Last Supper เริ่มมีให้เห็นเป็นระยะๆ
“อีลอน มัสก์” เจ้าพ่อ เทสลา สเปซเอ็กซ์ และ CEO ของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย X วิจารณ์ว่า การแสดงนี้ไม่ให้ความเคารพต่อคริสเตียนอย่างยิ่ง
บริษัท ซีสไปร์ ผู้ให้บริการสื่อสารไร้สายในสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ว่า รู้สึกช็อกกับการล้อเลียนอาหารมื้อสุดท้ายของพระเยซู และได้ประกาศถอดโฆษณาออกจากการเป็นสปอนเซอร์การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ๒๐๒๔ แล้ว
บิชอปคอปติกออร์โธด็อกซ์ประจำอเมริกาเหนือ ออกแถลงการณ์
“…เราขอแสดงความผิดหวังและประณามการแสดงพระกระยาหารครั้งสุดท้ายช่วงพิธีเปิดโอลิมปิกปี ๒๐๒๔ ที่ปารีส การแสดงนี้ซึ่งมีการล้อเลียนโดยกลุ่ม Drag (ชายที่แต่งกายคล้ายหญิง) ได้ทำให้ชาวคริสต์ทั่วโลกขุ่นเคืองอย่างหนัก
พระกระยาหารครั้งสุดท้ายเป็นช่วงเวลาศักดิ์สิทธิ์ในชีวิตของพระเยซูคริสต์ พระเจ้าของเรา เป็นการฉายถึงความเสียสละขั้นสูงสุดและความรักต่อมนุษยชาติ การเห็นเหตุการณ์นี้ถูกล้อเลียนในที่สาธารณะและไม่เคารพ ไม่ใช่เพียงแต่ทำให้เราเสียใจ แต่ยังด้อยค่าแนวคิดเอกภาพ การรวมทุกกลุ่มคน ความสามัคคี และความเคารพกันและกันที่กีฬาโอลิมปิกต้องการสนับสนุน
เราเรียกร้องไปยังผู้จัดงานโอลิมปิกและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ออกมาแสดงคำขอโทษอย่างจริงใจแก่ประชาคมชาวคริสต์ทั้งมวล และทำให้แน่ใจว่าการกระทำที่ไม่เคารพกันนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในภายภาคหน้า…”
ท้ายแถลงการณ์ ลงนามโดย บิชอปทั้ง ๑๔ ของศาสนจักรคอปติกออร์โธด็อกซ์แห่งอเล็กซานเดรียในอเมริกาเหนือ
จะเห็นว่าในสังคมตะวันตกเอง ยังไม่สามารถยอมรับพฤติกรรมแบบนี้ได้
แต่น่าประหลาดใจมีเด็กเมื่อวานซืนที่ประเทศไทย เกิดมามี ๓ นิ้ว พากันชอบอกชอบใจ ว่าเป็นการแสดงออกความหลากหลายทางเพศที่สวยงาม
สมองเม็ดถั่ว ไม่มีรากเหง้าอะไรเลย!
ประเด็นถัดมา มีคนแสดงเป็นพระราชินี มารี อ็องตัวเน็ตต์ ถือศีรษะตัวเอง
ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Piriyadit Manit เขียนไว้ดีมากครับ
“…ผมไม่แน่ใจ…
พิธีเปิดกีฬาโอลิมปิคที่กรุงปารีสเมื่อคืนที่ผ่านมา สวยงามยิ่งใหญ่จริงๆ
แต่มีอยู่อย่างหนึ่งที่ผมดูแล้วรู้สึก ‘แปลกๆ’
นั่นคือภาพ Marie-Antoinette หัวขาดยืนถือหัวตัวเอง
ผมรู้สึกว่า ‘รสนิยม’ ของภาพนั้นแปร่งพิกล
ก่อนอื่น ขอยืนยันว่า คติ ‘เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ’ นั้น เป็นคติที่ถูกต้อง สมควรสนับสนุนให้มีในสังคมสมัยใหม่ทุกแห่ง
และขอยืนยันเช่นกันว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองในฝรั่งเศส การล้มเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งอำนาจอธิปไตยอยู่ในมือคนคนเดียวนั้นเป็นเรื่องชอบแล้ว
แต่ที่ผมรู้สึกทำใจชอบภาพ Marie-Antoinette หัวขาดไม่สนิท ก็เพราะ
๑.ผมรู้สึกว่านั่นเป็นการพูดถึงการปฏิวัติฝรั่งเศสแบบภาพสำเร็จรูป (cliché) ไปสักหน่อย โดยเฉพาะการใช้ Marie-Antoinette เป็นภาพสรุปรวมของความเลวร้ายแห่งระบอบเก่า
แน่นอน ระบอบเจ้าฝรั่งเศสนั้นเลว
แน่นอน Marie-Antoinette มีพฤติกรรมอันมีส่วนทำให้ชาติฝรั่งเศสล่มจม
แต่ Marie-Antoinette มิใช่ ความเลวร้าย ‘ทั้งหมด’ ของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ฝรั่งเศส
ทั้งนี้ต้องไม่ลืมด้วยว่า คณะปฏิวัติเองก็ ‘ใช่ย่อย’ ในการดำเนินคดีกับ Marie-Antoinette นั้น ทั้งใช้ความเป็นต่างชาติและความเป็นผู้หญิงมาเล่นงานนาง มีการกล่าวหาโดยปราศจากหลักฐานว่านางมีพฤติกรรมวิตถารทางเพศกับลูกชาย (องค์รัชทายาท)
การนำภาพ Marie-Antoinette มาเป็นสัญญะแทนความเลวร้ายทั้งหมดของระบอบเก่า จึงไม่ต่างอะไรจากการขุดศพเธอขึ้นมาให้คนชี้หน้าหัวเราะเยาะว่า ‘นังหญิงออสเตรียนชั่วช้า’ เหมือนเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน ทั้งแฝงคติเหยียดอิตถีเพศ (misogynie) อยู่ลึกๆ (ก็ทำไมไม่เอาหลุยส์ที่ ๑๖ มายืนด้วยกันเล่า ?)
๒.ใครที่เห็นด้วยกับโทษประหารก็แล้วไป แต่หากใครคัดค้านโทษแบบนี้ก็โปรดไตร่ตรอง
การคัดค้านโทษประหารนั้นมีหลักอยู่ว่า ไม่มีใครเลวจนสมควรตาย และไม่เชื่อเรื่อง ‘ตาต่อตาฟันต่อฟัน’ (เอ็งไปฆ่าเขา เอ็งจึงต้องถูกยิงเป้าตายตกตามกันไป)
สมมติว่า Marie-Antoinette เลวขนาดที่คณะปฏิวัติกล่าวอ้าง คำถามคือ ต้องถึงขนาดเอาไปตัดหัวหรือไม่
สิ่งที่เป็น ‘ตลกร้าย’ ที่สุดก็คือ คนฝรั่งเศสตื่นเต้นยินดีกับภาพ Marie-Antoinette หัวขาดในพิธีเปิดโอลิมปิค ทั้งๆ ที่ประเทศฝรั่งเศสเองนั่นแหละที่ยกเลิกโทษประหารกีโยติน คนฝรั่งเศสเองนั่นแหละที่เห็นว่าการประหารชีวิตเป็นเรื่องป่าเถื่อน
Albert Camus (ซึ่งเรียกร้องการยกเลิกโทษประหาร) เคยกล่าวว่า โทษประหารนั้นไปด้วยกันไม่ได้กับหลักเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ
แล้วนี่เอาภาพนักโทษประหารมาประกอบการแสดง Liberté Égalité Fraternité จะไม่ให้รู้สึกพิกลไหวหรือครับ…”
ประเด็นพระราชินี มารี อ็องตัวเน็ตต์ ก็ไม่ต่างจาก การล้อเลียนภาพวาด The Last Supper กลุ่มสมองถั่ว มีนิ้วแค่ ๓ นิ้ว ปลาบปลื้มราวกับได้ ๑๐๐ เหรียญทอง
ทั้งเฒ่าหัวหงอกยันเด็กที่ยังเช็ดขี้มูกตัวเองไม่เป็น ยินดีปรีดากับปฏิวัติฝรั่งเศสกันยกใหญ่
คนพวกนี้แหละครับที่บอกว่ารักในประชาธิปไตย และเสรีภาพ แต่ไม่รู้ว่ารู้จักปฏิวัติฝรั่งเศสดีแค่ไหน
ขอเสริมคุณ Piriyadit Manit นิดหนึ่งครับ
หลังปฏิวัติฝรั่งเศสปี ๑๗๘๙ แทนที่คนฝรั่งเศสยุคนั้นจะได้เสรีภาพ กลับกลายเป็นยุคสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว
เป็นยุคแห่งอนาธิปไตย
การโค่นล้มพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ สมาคมฌาโกแบ็ง หรือ “สมาคมมิตรแห่งรัฐธรรมนูญ” ภายใต้การนำของ มักซีมีเลียง โรแบสปีแยร์ คือกลุ่มที่ขึ้นมามีอำนาจแทน
ประชาชนนับหมื่นถูกจับโทษฐานตั้งตนเป็นศัตรู กระด้างกระเดื่อง ถูกจับประหาร
คู่แข่งทางการเมืองในขบวนการปฏิวัติด้วยกันถูกนำขึ้นสู่แท่นประหารกิโยตีน เช่น การประหารกลุ่มผู้นิยมด็องตง และกลุ่มผู้นิยมเอแบร์
๑๕ ปีผ่านไป ไม่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี
แต่ได้จักรพรรดินโปเลียนแทน