18 กรกฎาคม 2567 น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกลางกรุงและมีการตรวจพบสารไซยาไนด์บริเวณที่เกิดเหตุว่า จริง ๆ แล้ว สารไซยาไนด์ หาได้ง่ายและสามารถพบได้ในชีวิตประจำวัน เพราะมีสารชนิดนี้อยู่ในผัก ผลไม้ เช่น ข้าวเจ้า ข้าวสาลี พืช มะม่วง
ส่วนในทางอุตสาหกรรม ไซยาไนด์ใช้ในการผลิตไนล่อน และพบมากที่สุดในยาฆ่าแมลง ซึ่งไซยาไนด์มีพิษร้ายแรงมาก เมื่อรับสารพิษเข้าไปแม้เพียงนิดเดียว อวัยวะในระบบประสาทส่วนกลาง ตับ ไตและระบบหัวใจจะได้รับผลกระทบทันที
น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า โดยความรุนแรงของอาการขึ้นกับปริมาณของสารพิษที่ได้รับ ระยะเวลาในการได้รับสารพิษและวิธีการที่ได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะจากการกิน การสูดดม หรือการดูดซึมผ่านทางผิวหนัง หากได้รับไซยาไนด์เข้าไปในปริมาณมาก อาการมักจะเกิดขึ้นในทันที
เริ่มจากปวดศีรษะ ใจสั่น หน้าแดง หายใจติดขัด ชัก วูบหมดสติ หยุดหายใจ และอาจมีภาวะหัวใจหยุดเต้นได้ภายในเวลา 10 นาที หรือหากได้รับในปริมาณเล็กน้อยต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน จะทำให้กดการทำงานของระบบประสาทและการหายใจเกิดอาการปวดศีรษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น และอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น รูม่านตาขยาย ตัวเย็น อ่อนแรง หายใจช้า เป็นต้น
หากไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลานาน อาจทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด
“รัฐบาลโดยกระทรวงยุติธรรม จึงขอเตือนประชาชนว่า ไซยาไนด์จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 23 ประกอบมาตรา 73 “ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยมิได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”