เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 เครือข่ายการจัดงาน Pride ทั่วประเทศและสมาชิก InterPride ในไทย เลือกภูเก็ตในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ InterPride Annual General Meeting & World Conference 2025 พร้อมยกระดับเศรษฐกิจ ในฐานะ Pride Friendly Destination สร้างโอกาสการเติบโตภาคการท่องเที่ยวและส่วนที่เกี่ยวข้อง คาดจะสร้างรายได้กว่า 1,140 ล้านบาทหากได้จัด InterPride Annual 2025 และปูทางสู่งานเทศกาลระดับโลก World Pride 2030
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มุ่งผลักดันให้สังคมไทยเป็นสังคมที่โอบรับความหลากหลาย พร้อมเดินหน้าต่อยอดความสำเร็จจากการผลักดันร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม เสริมสร้างภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของไทย ในฐานะจุดหมายปลายทางที่เป็นมิตรสำหรับทุกคน (Pride Friendly Destination) ดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยว LGBTQIAN+ สนับสนุนภาคการท่องเที่ยวไทยและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมสนับสนุนจังหวัดภูเก็ตของไทยในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม InterPride Annual General Meeting & World Conference 2025 คาดการณ์สร้างรายได้ 1,140 ล้านบาทเข้าประเทศ ตลอดจนแสดงความพร้อมของไทยภายใต้กิจกรรม Road to World Pride ในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานเทศกาลระดับโลก World Pride 2030
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) เปิดเผยว่า ไทยเตรียมสมัครเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม InterPride Annual General Meeting & World Conference สำหรับปี 2025 ซึ่งเป็นการประชุมของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศจากทั่วโลกที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยล่าสุดวันนี้ (11 กรกฎาคม 2567) เครือข่ายการจัดงาน Pride ทั่วประเทศและสมาชิก InterPride ในไทย ได้เลือกให้จังหวัดภูเก็ต เป็นเมืองสำหรับจัดการประชุมฯ ซึ่งไทยจะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพอย่างเป็นทางการในการประชุม InterPride Annual General Meeting & World Conference 2024 ที่สาธารณรัฐโคลอมเบีย ในเดือนตุลาคม 2567 ต่อไป โดยคาดการณ์ว่าไทยจะสามารถดึงดูดผู้เข้าร่วมการประชุมได้ 700 – 800 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศถึง 1,140 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาการจัดงาน 5 วัน ทั้งนี้ ไทยมีข้อได้เปรียบจากการมี Pride Community ที่เข้มแข็ง และมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นมิตรกับกลุ่ม LGBTQIAN+ ประกอบกับการผ่านร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมของสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นทางการ ถือเป็นข้อได้เปรียบของไทยที่แสดงให้เห็นถึงความจริงจังในการสนับสนุนความเท่าเทียม และความเสมอภาค รวมถึงยังสามารถนำไปเป็นแต้มต่อในการคว้าสิทธิเป็นเจ้าภาพจัดงานเทศกาลระดับโลก World Pride 2030 ซึ่งไทยจะมีการจัดกิจกรรม Road to World Pride เพื่อผลักดันต่อไป
นอกจากนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ต่อยอดความสำเร็จ เดินหน้าจัดกิจกรรม Pride ต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อการต้อนรับนักท่องเที่ยว LGBTQIAN+ จากทั่วทุกมุมโลก อาทิ งานขบวนพาเหรดเฉลิมฉลองความหลากหลายและความเท่าเทียม (Pride Parade) ที่จัดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน การจัดประกวดสตรีข้ามเพศระดับนานาชาติ (Miss International Queen) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 24 สิงหาคม 2567 และมหกรรมเทศกาลการเต้นระดับโลกสำหรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (White Party Bangkok) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 – 31 ธันวาคม 2567 ซึ่งการจัดกิจกรรมดังกล่าวจะเป็นประตูบานสำคัญที่เปิดให้เห็นว่า ไทยพร้อมเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวสร้างสรรค์สำหรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงนักท่องเที่ยว LGBTQIAN+ ซึ่งถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง ช่วยสร้างรายได้และโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ตลอดจนสนับสนุนเป้าหมายของไทยในการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Tourism Hub) ของภูมิภาค
“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญต่อสิทธิที่เสมอภาคและเท่าเทียมกันของคนทุกคนในสังคม โดยการผ่านร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ถือเป็นความสำเร็จก้าวแรกที่สำคัญ และรัฐบาลพร้อมเดินหน้าผลักดันกฎหมายและข้อเรียกร้องอื่น ๆ ต่อไป โดยเชื่อมั่นว่า ความสำเร็จดังกล่าวจะช่วยยกระดับความเท่าเทียมของประเทศ พร้อมต่อยอดสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้เติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ ยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงเป็นการย้ำศักยภาพและความพร้อมของไทยในการเป็นจุดหมายสำคัญสำหรับการจัดงานระดับโลก” นายชัย กล่าว