“พิมพ์ภัทรา” รับหนังสือร้องเรียนคัดค้านโครงการเหมืองแร่โพแทชและเกลือหิน ยัน กระทรวงอุตฯ จะกำกับดูแลตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและประชาชนเป็นสำคัญ

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังรับข้อเรียกร้องจากผู้แทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ที่ขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายเหมืองแร่โพแทชของประเทศไทย ก่อนการเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ณ จังหวัดนครราชสีมา

โดยสาระสำคัญหลัก ๆ ของกลุ่มผู้เรียกร้อง คือ ขอให้ยกเลิกแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโพแทชทั้งหมด ขอให้ทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับการพัฒนาเหมืองแร่โพแทช และ ขอให้เร่งรัดตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมาโดยเร่งด่วน

นางสาวพิมพ์ภัทราฯ เปิดเผยต่อว่า แม้รัฐบาลจะมีนโยบายในการผลักดันการนำแร่โพแทชขึ้นมาใช้ประโยชน์ แต่ก็ให้ความสำคัญต่อการป้องกันและการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ด้วยเช่นกัน สำหรับในกรณีโครงการเหมืองแร่ไทยคาลิ ได้รับประทานบัตรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 มีพื้นที่ประมาณ 9,005 ไร่

ต่อมาในปี พ.ศ. 2562 มีการร้องเรียนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่ ในประเด็นเรื่องดินเค็มทำการเกษตรไม่ได้ บ่อน้ำสาธารณะไม่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้

ซึ่งที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อตรวจสอบในประเด็นผลกระทบที่ประชาชนได้รับหลายคณะ ทั้งในระดับจังหวัดและในระดับกรม มีการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงหลายครั้ง ซึ่งผลการตรวจสอบในชั้นนี้ยังไม่สามารถชี้ชัด
ได้ว่าผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาจากโครงการเหมืองแร่โพแทชและเกลือหินของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด

โดยผลการตรวจสอบข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนที่การแพร่กระจายของคราบเกลือ พบว่าพื้นที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีความเค็มมาแต่เดิม

อย่างไรก็ดี ล่าสุด จังหวัดนครราชสีมาได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาใหม่อีกหนึ่งชุดโดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้แทนชุมชนในพื้นที่เพื่อตรวจสอบในประเด็นข้อเรียกร้องและผลกระทบอีกคณะหนึ่งสำหรับประเด็นเรื่องแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 เป็นแผนที่มีการจัดทำและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึง 2570 นั้น

ได้ผ่านการวิเคราะห์ทางวิชาการ การประชาพิจารณ์ ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ และ คณะรัฐมนตรี เป็นไปตามขั้นตอนที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 กำหนดไว้

อย่างไรก็ดี ได้ทราบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเริ่มทบทวนแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ อีกครั้งในปี 2568 ซึ่งจะได้นำประเด็นข้อเรียกร้องต่าง ๆ รวมทั้งข้อเสนอในเรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ไปประกอบในการทบทวนแผนดังกล่าวด้วย

“ดิฉันขอยืนยันว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะกำกับดูแลการดำเนินโครงการเหมืองแร่โพแทชให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด พยายามนำทรัพยากรแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า

ในขณะเดียวกันก็พยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด โดยในการบริหารจัดการแร่จะต้องคำนึงถึงดุลยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพประชาชนประกอบกันด้วย” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

Written By
More from pp
กคช. เปิดจองสิทธิ “เช่าทั่วไทย” เริ่มต้น 999 บาท ผ่านระบบออนไลน์วันแรก !!
การเคหะแห่งชาติมอบของขวัญปี 2563 ให้กับพี่น้องประชาชน จัดแคมเปญ “เช่าทั่วไทย” 10,000 หน่วย ทั่วประเทศ เริ่มต้นเพียง 999 บาท เปิดจองสิทธิเช่าผ่านระบบออนไลน์...
Read More
0 replies on ““พิมพ์ภัทรา” รับหนังสือร้องเรียนคัดค้านโครงการเหมืองแร่โพแทชและเกลือหิน ยัน กระทรวงอุตฯ จะกำกับดูแลตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและประชาชนเป็นสำคัญ”