ยุคไม่รู้ใครปราบโกง #ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

เรามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร?

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับ ประเทศไทยมีหน่วยงานปราบโกงเยอะจนสับสนวุ่นวาย ไม่รู้ว่าใครต้องปราบโกงอะไร หรือปราบใคร

เพิ่งจะถึงบางอ้อจริงๆ ครับ! ตอนนี้หายสงสัยแบบร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มแล้วว่า ทำไมนายกฯ เศรษฐาถึงได้อัญเชิญเนติบริกร “วิษณุ เครืองาม” กลับมาช่วยงานกฎหมาย

เพราะมือกฎหมายของรัฐบาลที่มีอยู่มันไม่ได้เรื่อง

มีพวกเก่งแต่พูดเยอะ แต่พอลงมือปฏิบัติ ออกทะเลทุกคน

วานนี้ (๒๐ มิถุนายน) “วิษณุ เครืองาม” แถลงความคืบหน้าการทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

หรือที่เรียกในภาษาข่าวว่า เกาเหลา “บิ๊กต่อ” กับ “บิ๊กโจ๊ก”

กรณีนี้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาหลายชุด

ช่วง ๔ เดือนที่ผ่านมามีการสอบพยานไปกว่า ๕๐ คน สรุปออกมาได้ ๕ ข้อ

๑.มีความขัดแย้งและความไม่เรียบร้อยในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จริง มีความขัดแย้งทั้งในระดับสูง กลาง เล็ก ทุกระดับ ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากเหตุเดียวกันหรือเหตุอื่น จนกระทั่งเกิดเป็นคดีความร้องเรียนกันทั้งภายในและภายนอก สตช.

๒.เรื่องที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเกี่ยวพันกับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ และแต่ละคนจะมีทีมงานของตัวเอง ทีมงานก็เกิดความขัดแย้งกันด้วย โดยมีคดีสำคัญที่เกี่ยวพันกับคนเหล่านี้ เช่น คดีเป้รักผู้การ ๑๔๐ ล้านบาท คดีกำนันนก คดีมินนี่ คดีพนันออนไลน์บีเอ็นเค และคดีย่อยๆ อีก 10 คดี กระจายกันตามสถานีตำรวจต่างๆ และศาล โดยเฉพาะศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ความขัดแย้งบางเรื่องเพิ่งเกิด และบางเรื่องเกิดขึ้นเป็น 10 ปีแล้ว

๓.เมื่อเป็นเช่นนี้ ต้องดำเนินการส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบไป บางเรื่องส่งให้หน่วยงานกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล ว่ากันตามปกติ

๔.บางเรื่องเกี่ยวกับหน่วยงานนอกกระบวนการยุติธรรม คือ องค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. ปปง. ดีเอสไอ ซึ่งคดีต่างๆ มีเจ้าภาพรับผิดชอบแล้วทั้งสิ้น

๕.กรณีของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ที่ถูกสั่งให้มาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๗ แต่เนื่องจากได้รับคำสั่งให้กลับไปปฏิบัติราชการที่ สตช. ตั้งแต่ ๑๘ เมษายน ๒๕๖๗ และวันเดียวกันมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดเพื่อสอบสวนทางวินัย และตามมาด้วยคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน

ส่วนกรณี พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ที่ยังไม่ได้กลับไป เมื่อแต่ละเรื่องมีเจ้าภาพรับผิดชอบแล้ว จึงสมควรที่จะส่ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์กลับไปปฏิบัติราชการในตำแหน่งหน้าที่เดิม เพราะวันนี้ไม่มีอะไรสอบสวนแล้ว สอบสวนเสร็จแล้ว หรืออะไรที่ยังไม่เสร็จก็อยู่ในมือ ป.ป.ช. จึงให้กลับไปดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ส่วนคดีจะเป็นอย่างไร ให้ดำเนินการตามสายงาน หรือจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยเพิ่มเติมหรือไม่ ให้เป็นเรื่อง สตช.

สรุปคือ…งานงอกครับ!

ประเด็นแรก “บิ๊กต่อ” กลับไปนั่งเก้าอี้ ผบ.ตร.ได้ “บิ๊กโจ๊ก” ก็มีโอกาสกลับเช่นกัน

ประเด็นที่สอง ต้องกุมขมับ เริ่มแยกระหว่างมาเฟียกับตำรวจไม่ออกเสียแล้วล่ะครับ

ประเด็นที่สาม คนที่กระบวนยุติธรรมเองยังงงว่าใครมีหน้าที่ตรวจสอบอะไร แล้วชาวบ้านจะเหลืออะไรล่ะครับ

ตามคำอธิบายของ “วิษณุ เครืองาม” บอกว่า คณะกรรมการชุดนี้ที่มี “ฉัตรชัย พรหมเลิศ” เป็นประธาน ไม่ได้ชี้มูลว่าใครถูกใครผิด

แต่ได้รายงานผลการสอบสวนให้นายกฯ ว่า พบเห็นความยุ่งยาก สับสน ระหว่างอำนาจสอบสวนของหลายหน่วยงาน

ไม่รู้ว่าอยู่ในอำนาจของใคร

ไม่รู้ว่าเรื่องไหนอยู่ในตำรวจ หรือ ป.ป.ช. เพราะคดีทุจริตมีเจ้าภาพมากเกินไป

ถึงบรรทัดนี้เห็นต้นเหตุของความวิบัติหรือเปล่าครับ

ก็ถึงขั้นต้องเสนอแนะให้ใช้บริการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยตรวจสอบให้ชัดว่าอำนาจหน้าที่อยู่ที่ใคร

เอาให้ชัดเพื่อเป็นบรรทัดฐานสำหรับคดีในอนาคต!

ที่ผ่านมาร้องกันเละเทะ แล้วแต่ใครถนัดไปช่องทางไหน

เกิดมีใครหัวหมอ ร้องขอให้รื้อฟื้นคดี เพราะผิดช่องทางตั้งแต่ต้น ไม่โกลาหลหรือ

ก็รับทราบโดยทั่วกันนะครับ ประเทศไทยมีหน่วยงานทำคดีทุจริตมากเกินไป จนคนในองค์กรตรวจสอบเองก็สับสน

มาถึงประเด็นที่พีกสุดๆ!

คืออนาคตของ “บิ๊กต่อ” และ “บิ๊กโจ๊ก”

คณะกรรมการชุดที่ว่านี้ บวกกับความเห็นทางกฎหมายของ “วิษณุ เครืองาม” ให้นายกฯ เศรษฐา ออกคำสั่งสำนักนายกฯ ให้ “บิ๊กต่อ” กลับไปนั่งเก้าอี้ ผบ.ตร.ตามเดิม

ส่วนกรณี “บิ๊กโจ๊ก” ดูจะซับซ้อนหน่อย เพราะกระทบไปหลายชิ่ง

สรุปคือการออกคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ทำไปโดยไม่ดูกฎหมายให้รอบคอบ

เดิมทีการออกคำสั่งลักษณะนี้ ทำไปตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๕

แต่บังเอิญว่ามีการแก้ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เมื่อปี ๒๕๖๕ มาตราหนึ่งที่้เพิ่มขึ้นมา เขียนว่า

“…ในกรณีที่สั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนแล้วไปกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของบุคคลนั้น คำสั่งให้ออกราชการไว้ก่อนต้องทำโดยคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวน…” แต่คำสั่งออกโดยไม่มีคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวน

เรื่องนี้คณะกรรมการกฤษฎีกามีมติ ๑๐ ต่อ ๐ คำสั่งเด้ง “บิ๊กโจ๊ก” ไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรม

แต่ก็มีทางออก!

คือกลับไปทำให้ถูกต้อง

ขณะนี้ “บิ๊กโจ๊ก” ยังคงเป็นรอง ผบ.ตร. ที่มีสิทธิประโยชน์เต็ม

รวมทั้งเก้าอี้ ผบ.ตร.

ศึกนี้จึงยังไม่จบ

คณะกรรมการสอบสวนว่าไง จะให้จบในสัปดาห์หน้า เดือนหน้า หรือปีหน้า

ฝั่ง “บิ๊กโจ๊ก” คงอยากจะดึงเรื่องให้นานที่สุด

ส่วน “บิ๊กต่อ” จะเซ็นเอง

หรือรอ ผบ.ตร.คนใหม่ลงนามในคำสั่งให้ “บิ๊กโจ๊ก” ออกจากราชการไว้ก่อน โดยคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวน

กรณี “บิ๊กต่อ” คงจบไปแล้ว

แต่ “บิ๊กโจ๊ก” เหมือนได้ต่อลมหายใจ

นี่ก็ไปฟ้องคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.ตร.) เอาไว้แล้ว

น่าเหนื่อยใจครับ…

อยากจะบอกบรรดานักการเมืองที่เคารพทั้งหลาย ถึงเวลาต้องปฏิรูปตำรวจทั้งระบบกันหรือยัง

ปรับโครงสร้างใหม่ทั้งเรื่อง “คน” และ “งาน”

ตามล้อมคอกกันไม่ไหวหรอกครับ เพราะจบจากกรณีนี้ เดี๋ยวก็มีกรณีใหม่เกิดขึ้นมาอีก

แทนที่ตำรวจจะเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

แบ่งก๊กชี้หน้าด่า เอ็งชั่ว ข้าเลว

กลายเป็นพิทักษ์ทีมงานตัวเอง

ไหวหรือครับ

Written By
More from pp
สภาโหวตไว้วางใจนายกฯ และ 5 รัฐมนตรี
4 กันยายน 2564 – เวลา 09.30 น. ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ...
Read More
0 replies on “ยุคไม่รู้ใครปราบโกง #ผักกาดหอม”