“รัฐมนตรีถุงขนม” ๒ – เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

เมื่อวาน ……..
นำคำสั่งคดี “นายพิชิต ชื่นบาน” ติดคุก ๖ เดือน กรณี “ถุงขนม” ตั้งเป็นโจทย์ให้ศึกษากันไปแล้ว
บ้างว่า นายพิชิต “ขาดคุณสมบัติ” เป็นรัฐมนตรีไม่ได้
บ้างว่า “เป็นได้” ไม่ขาดและไม่ขัด!

ฉะนั้น วันนี้ “ทนายถุงก๊อบแก๊บ” จะแยกธาตุคำสั่งศาลให้เห็น ว่าที่เขา “ยลตามช่อง” กันนั้น
“ความน่าจะเป็น” ตามคำพิพากษาน้ำหนักอยู่ตรงไหน?

ยก “หัวใจ” ในคำสั่ง “ศาลฎีกา” ตั้งเป็น “นะโม” ก่อน

“การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม (นายพิชิต ชื่นบาน, น.ส.ศุภศรี ศรีสวัสดิ์, นายธนา ตันศิริ-ทีมทนาย)
จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล เป็นความผิดฐาน “ละเมิดอำนาจศาล”

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๑ (๑), ๓๓ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓
และน่าจะมีมูลความผิดฐาน “ให้สินบน” แก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๔ หรือความผิดอื่นต่อเจ้าพนักงาน

การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม เป็นการกระทำที่อุกอาจ ท้าทายและเกิดขึ้นที่ศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลยุติธรรมชั้นสูงสุดของประเทศ

ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม ประกอบอาชีพทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย ย่อมตระหนักดีว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันศาลยุติธรรม

และจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือและความศรัทธาในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในอำนาจตุลาการ จึงเห็นสมควรลงโทษในสถานหนัก เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป ให้จำคุกผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามคนละ ๖ เดือน..ฯลฯ..”

ทีนี้ก็ ค่อยๆ เคลียร์ที่ละเปลาะนะ อย่าใจร้อน

-นายพิชิตว่า จำคุก ๖ เดือน “ไม่ใช่คำพิพากษาศาล”
“ถูกต้องแล้วครับ”

เพราะโทษจำคุกฐาน “ละเมิดอำนาจศาล” เป็นเพียงมาตรการทางแพ่ง ไม่ถือเป็น “ความผิดอาญา”
เมื่อไม่ผิดอาญา เท่ากับนายพิชิต “ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก”
จึงมีคุณสมบัติตาม(๖)(๗)รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐

-นายพิชิตยืนยันว่า ไม่เคยต้องคำพิพากษาคดีอาญา ในความผิดฐานให้สินบนเจ้าหน้าที่หรือศาล
เพราะเมื่อ “เจ้าหน้าที่ศาล” แจ้งความตำรวจในข้อหานี้แล้ว พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม มีความเห็น “สั่งไม่ฟ้อง”

“สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา ๗” ก็มีคำสั่ง “ไม่ฟ้องเด็ดขาด” เช่นกัน
ก็ “ถูกต้องแล้วครับ”

เมื่อทั้งตำรวจทั้งอัยการ “สั่งไม่ฟ้อง” นายพิชิตจึงถือว่า “ไม่ต้องคำพิพากษาคดีอาญา” ในเรื่องให้สินบน

ถึงแม้ “ศาลฎีกา” ระบุในคำสั่ง ชัดถ้อย-ชัดคำ ก็ตาม ว่า

“………ส่วนความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๔ หรือความผิดอื่นต่อเจ้าหน้าที่พนักงาน……” ก็ตาม!

ตรงนี้ “นายสมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีตกกต.เคยโพสต์ไว้

จากคำแถลง “นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ” อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา เมื่อ ๗ ม.ค.๕๒ ดังนี้

๑.ข้อเท็จจริงคดีนี้ ไม่พบว่า ทนายความที่ถือถุงใส่เงินมาให้ มีวัตถุประสงค์จะให้เงิน ๒ ล้านบาท ได้ความเพียงว่า มีเจตนาจะให้ขนม ไม่ใช่แสดงตัวมาแต่แรกว่าจะให้เงิน จึงขาดความเป็น ผู้ใด ที่เป็นผู้ให้สินบน

๒.เงินของกลาง ๒ ล้านบาทเป็นเรื่องสำคัญ แต่กลับไม่มีเงินของกลางในสำนวน และยังไม่ได้ข้อเท็จจริงว่า จะให้เงิน ๒ ล้านบาทไปเพื่ออะไร ดังนั้น อัยการจึงมีความเห็นว่า การที่คืนเงินของกลางไปทำให้คดีขาดหลักฐานสำคัญ

๓.ไร้หลักฐานเรื่องเจ้าพนักงานผู้รับสินบน แต่คดีนี้พบว่าผู้ที่มารับเงินคือเจ้าหน้าที่นิติกร ๓ ซึ่งไม่ใช่เจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับอรรถคดี

๔.คำสั่งศาลฎีกาให้จำคุกนายพิชิตและพวก เป็นเรื่องละเมิดอำนาจศาล ถือเป็นคนละคดีกับความผิดให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ นำมาเทียบเคียงไม่ได้

๕.ด้วยเหตุผลข้างต้น อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนี้

ย้ำโดย “อัยการสูงสุด” ในเวลานั้น คือ
“นายชัยเกษม นิติสิริ” ปัจจุบันเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอันดับสามของพรรคเพื่อไทย.

เสียดาย นายสมชัยบอกแต่ว่ายุคนั้น “อัยการสูงสุด” คือใคร น่าจะบอกด้วยว่า “ผบ.ตร.” ยุคนั้น คือใคร?
จะได้ยอเกียรติกันได้ถูกเนื้อ-ถูกตัว ว่าช่าง องอาจ-ผึ่งผาย-สมเกียรติ-สมศักดิ์ศรี “ผู้รักษากฎหมายและทนายแผ่นดินยิ่งนัก”

ทั้งที่ “คำสั่งศาล” ระบุโต้งๆ ถึงความผิดฐาน “ให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๔

แต่ “ตำรวจ-อัยการ”
“สวนศาล” จนกระบวนการยุติธรรม “กำสรวล”!

ถ้าจำไม่ผิด ผบ.ตร.ยุคนั้น น่าจะเป็น “พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ”

สรุปในมุม “กฎหมาย”
นายพิชิต “บริสุทธิ์-ผุดผ่อง” ทางคดีอาญา ไม่ว่าเรื่องทุจริต เรื่องติดสินบน ทั้งไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก

“๖ เดือน” นั่น แค่ “คำสั่งศาล ไม่ใช่คำพิพากษา!”

แต่ในมุม “จริยธรรม”
อันว่า “มาตรฐานจริยธรรม-จริยธรรมข้าราชการการเมือง” ไม่ต่าง เลือด เนื้อ น้ำเหลือง น้ำหนอง เส้นเอ็น กระดูก รวมเป็นตัวตน ผสมป่นเป็น “กฏหมาย”

เหมือนกับกฎหมายสงฆ์ คือพระวินัย ๒๒๗ ข้อ ยังมี “เสขิยวัตร” ว่าด้วยกิริยา-มรรยาทพระ รวมอยู่ด้วยตั้ง ๗๕ ข้อ
พูดชัดๆ ก็คือ “จริยธรรมพระ” นั่นแหละ

ถ้าพระละเมิดเสขิยวัตร ต้องถูกปรับอาบัติ คือถูกลงโทษทางพระวินัยเช่นกัน
แต่เดี๋ยวค่อย “แยกธาตุ” คุยในส่วนจริยธรรม วันนี้ คุยกันในประเด็นกฎหมายให้สะเด็ดน้ำก่อน

ความ “ผุดผ่อง” ของนายพิชิตใน “แง่มุมกฎหมาย” หลายๆ มุม ที่ผมว่าถูกต้องนั้น
มีบางประเด็นที่ต้องบอกว่า “ไม่ถูกต้องครับ”!

ประเด็นแรก ที่อ้างอิงการสมัครสส.ถึง ๒ ครั้ง เป็นตัวยืนยันถึงการ “ไม่ขาดคุณสมบัติ-ไม่เป็นบุคคลต้องห้าม” นั้น
ต้องบอกว่า “อย่ามั่วครับ…อย่ามั่ว”!

คุณสมบัติของคนที่จะสมัครสส.กับคุณสมบัติคนเป็นรัฐมนตรี
กฎหมาย “คนละมาตรา” ครับ

“สมัครสส.” ใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘ นั้น ก็โอเค.ที่คุณพิชิตอ้างอิง ไม่ผิด ยกประโยชน์ “ทางนิตินัย” ให้ประเด็นนี้
“ติดคุก ๖ เดือน” ไม่นับเป็น “โทษอาญา” เพราะเป็นคำสั่งศาล ถือว่า “ไม่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก”
จึงไม่เป็นบุคคลต้องห้ามลงสมัครสส.ตามมาตรา ๙๘ (๖)(๑๐)

แต่ “รัฐมนตรี” นั้น รัฐธรรมนูญกำหนด “คุณสมบัติ” ของคนที่จะเป็นไว้ต่างหากอีกมาตราหนึ่ง คือมาตรา ๑๖๐

ฉะนั้น จะเอาข้อห้ามผู้สมัครสส.มาตรา ๙๘ มาโมเม-ตีขลุมกับคุณสมบัติรัฐมนตรี มาตรา ๑๖๐ ไม่ถูกต้องครับ!

จริงอยู่ กฎหมายทุกมาตรา ยึดโยงถึงกันหมด
แต่ยึดโยงแบบแยกประเด็นภายใต้บริบทและเงื่อนใขตามจุดมุ่งหมายแห่งเจตนารมณ์ในแต่ละกรณี-แต่ละเรื่อง

จะเห็นว่า มาตรา ๙๘ ว่าด้วยการลงสมัครสส. “ห้ามคนต้องคำพิพากษาให้จำคุก” ลงสมัคร

แต่คนเป็นรัฐมนตรี เงื่อนไขเข้มข้นกว่านั้น นอกจาก “ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙๘” ทั้งมาตราแล้ว
ในมาตรา ๑๖๐ ว่าด้วย “คุณสมบัติรัฐมนตรี” ยังต้อง

(๔)มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

(๕)ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ในความที่ว่า “ทุกมาตรายึดโยงถึงกัน” นั้น มาตรา ๑๗๐ “ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว” ยังระบุไว้ด้วยว่า
(๔)ขาดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖๐

“ทนายถุงก๊อบแก๊บ” มองกฎหมายอย่างนี้แล้ว “ทนายถุงขนม” มองแย้งอย่างไหน บอกเป็นวิทยาทานมาได้นะ

เอาละ ขมิบคุยเฉพาะตัวกฎหมายก็ยังยาว ไม่ทันได้คุยด้านจริยธรรมในตัวกฎหมายเลย
คงต้อง “พรุ่งนี้” อีกวันจนได้

เพราะผมจับชีพจรในคำสั่งศาลกรณี “ถุงขนม” แล้ว ท่านไม่ได้มุ่งโทษคน หากแต่ท่าน “ห่วง” สถาบันยุติธรรมเพื่อสังคมชน
และ “ชี้ภัย” ให้สังคมชนเห็นผ่าน “การกระทำ”

“การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม เป็นการกระทำที่อุกอาจ ท้าทายและเกิดขึ้นที่ศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลยุติธรรมชั้นสูงสุดของประเทศ

ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม ประกอบอาชีพทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย ย่อมตระหนักดีว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันศาลยุติธรรม

และจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือและความศรัทธาในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในอำนาจตุลาการ”

ฉะนั้น จบวันนี้ ด้วยคำถามเดียวว่า….
คนเช่นนี้……..
“ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” หรือ “อสัตย์ทุจริตเป็นที่ประจักษ์”?

เปลว สีเงิน
๓ พฤษภาคม ๒๕๖๗

Written By
More from plew
“หลวงพ่อทวด” สยบราหู – เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน “ราศีเมษ” เป็นลัคนา “ดวงเมืองไทย” และ “ดวงโลก” พระราหู “ดาวร้าย” อยู่มา ๑๘ เดือน...
Read More
0 replies on ““รัฐมนตรีถุงขนม” ๒ – เปลว สีเงิน”