ผีน้อยหรือจะสู้กระสือการเมือง

ผักกาดหอม

การเมืองมันก็เหมือนไวรัส
มีช่วงระยะเพาะเชื้อ
แพร่เชื้อ
ระบาดหนัก
แทบไม่ต่างกัน

ไวรัสโควิด-๑๙ จะลามเข้าสู่ระยะสามหรือไม่ อาจตัดสินที่การบริหารจัดการกับการกลับมาของ “ผีน้อย”

ถามว่าบริหารจัดการได้ดีหรือไม่?
ถ้ายอมรับความจริง อาจช้าไป ๑ ก้าว
ไม่ได้ช้าที่การจัดการกับเชื้อโรคอย่างเดียว
ยังช้าในการสื่อสารกับประชาชนด้วย

รัฐมนตรีช็อกไม่รู้จักผีน้อย นั่นคือสิ่งที่เราได้ยินแล้วไม่สบายใจ

กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ ไหวตัวกับกรณีข่าวผีน้อยไปเที่ยวภูเก็ต พาครอบครัวไปกินหมูกระทะที่เชียงราย ช้าไป

ข่าวมันระบาดในโซเชียลเท่าความเร็วแสง ประชาชนพากันแตกตื่น ร้านค้า ร้านอาหารต้องปิดทำความสะอาดฆ่าเชื้อกันยกใหญ่ เพื่อสร้างความมั่นใจ

แต่กลับไม่มีการอธิบายให้ชัดเจนว่า “ผีน้อย” ซึ่งกลับมาหลายล็อต ล็อตไหนต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

ล็อตแรกๆ ช่วงปลายปีที่แล้วความเสี่ยงแทบไม่มี
เพราะถ้าป่วย ก็จะมีรายชื่ออยู่ในผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ แล้ว

กลุ่มที่น่ากลัวคือกลุ่มที่กลับช่วงการระบาดหนักที่เมืองเทกู ตั้งแต่ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
เมื่อไม่ชัด “ผีน้อย” จึงถูกสังคมสงสัยทุกคน
มันจึงโกลาหล!

“ผีน้อย” ที่เพิ่งกลับมาหลังกลางเดือนกุมภาพันธ์ วันนี้ไปอยู่ไหนบ้าง มาตรการป้องกันจากภาครัฐเป็นอย่างไร ตรงนี้น่าห่วงที่สุด

เพราะมาตรการชัดๆ ที่ออกมาจากรัฐบาล ก็เพิ่งจะคลอดออกมาเมื่อวันที่ ๕ มีนาคมที่ผ่านมานี่เอง

เป็นไข้ถูกจับแยก พาไปกักตัว
ที่ไม่มีอาการส่งกลับจังหวัดภูมิลำเนา กักตัว ๑๔ วัน

คำถามคือ “ผีน้อย” ที่กลับมาก่อนวันที่ ๕ มีนาคม ในส่วนที่ตรวจแล้วไม่พบมีอาการไข้ และให้กลับบ้านมีกี่คน ที่ไหนบ้าง มีการกำชับให้กักตัว ๑๔ วันหรือไม่

ที่สำคัญมีมาตรการตรวจสอบหรือไม่ว่า กักตัวอยู่แต่ในบ้าน ๑๔ วันโดยไม่ไปไหน ไม่ไปสัมผัสใคร
เมื่อหลุดไปกินหมูกระทะได้…มันก็ช็อกซิครับ!

นี่จึงอาจเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของสถานการณ์ไวรัสโควิด-๑๙ ในประเทศไทย ว่าจะทรงอยู่ในระยะที่ ๒ หรือต้องยกระดับเป็นระยะที่ ๓

ถ้าเป็นระยะ ๓ ก็เตรียมตัวกันไว้ เพราะมันกระทบหลายด้าน

การเมืองก็ไม่ต่างไปจากไวรัส
มีความพยายามที่จะยกระดับความเข้มข้นขึ้นไปเรื่อยๆ

แฟลชม็อบนักศึกษาจุดติดหรือไม่?
ติดแล้วจะเป็นอย่างไร?
เทียบชั้น ๑๔ ตุลา ๑๖, ๖ ตุลา ๑๙ ได้หรือเปล่า
ล้มรัฐบาลลุงตู่ได้หรือไม่?
ล้มแล้วใครจะมา?

ครับ…ถ้ายอมรับความจริง อย่าไปอ้างเหตุผลยืดยาวให้เมื่อยปาก

การชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา มีสาเหตุมาจากศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่

เรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลเผด็จการ อย่าไปอ้างเลย เพราะพูดกันมานานมากแล้ว ประโคมกันมาตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗

แต่การชุมนุมของของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะนี่คือฐานเสียงของพรรคอนาคตใหม่

เหมือนเสื้อแดงเป็นฐานเสียงพรรคเพื่อไทย
เสื้อเหลืองเป็นฐานเสียงพรรคไม่เอาทักษิณ

สังคมไทยในปัจจุบัน มันมัดกันอยู่แบบนี้ อยู่ที่ฝ่ายไหนจะลุกขึ้นมาชุมนุม ด้วยสาเหตุอะไร
เมื่อคราวที่เสื้อแดงชุมนุม ย่อยซะที่ไหน
เผาบ้านเผาเมืองเราผ่านมาแล้ว

กปปส.มากันเป็นล้าน ถนนแทบไม่มีที่ยืน การเมืองก็ยังไม่เปลี่ยน
แต่อย่างน้อย “หน่อ” แห่งความชั่วร้ายของระบอบทักษิณไม่โต

ฉะนั้นคนที่บอกว่าม็อบนักศึกษาจุดติดแล้ว โดยเฉพาะ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ช่วยขยายความหน่อยว่า จุดอะไรติด

ยังหรอกครับ….
เพราะต่างคนต่างทำ กลายเป็นแฟชั่น ทุกมหาวิทยาลัยต้องจัดชุมนุม ที่ไหนไม่ทำ ตกเทรนด์

ความคิดของเยาวชนในวัยศึกษา ไม่ได้ซับซ้อนเหมือนนักการเมือง
ขนาดนักการเมืองหน้าใหม่ ยังซับซ้อนน้อยกว่านักการเมืองรุ่นลายคราม ไม่งั้นพรรคส้มหวานคงไม่ถูกพรรคเพื่อไทยต้มจนเปื่อย ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา

มีคนบอกว่าม็อบนักศึกษาพร้อมที่จะลงถนน หลังจากขุนกันเต็มที่ในอีกไม่ช้านี้

และจะเป็นการย้อนประวัติศาสตร์เดือนตุลาฯ
พวกอาจารย์ อาจม ตัวดี ปลุกผ่านโซเชียลกันทุกวัน อยากย้อนวันวานของตัวเองให้กลับมาอีกครั้ง

คนรุ่นก่อนยอมทิ้งชีวิตนักศึกษาหนีเข้าป่า อันนี้ต้องยอมรับในความกล้าหาญ เพราะมีการไล่ล่า จับเข้าคุก เผด็จการทหารยุคนั้น “ของจริง”

แต่ยุคนี้…คนรุ่นใหม่มีภูมิต้านทานเหมือนคนรุ่นเก่าหรือไม่…ก็น่าคิด

แถมเผด็จการรุ่นใหม่ เป็นเผด็จการหน่อมแน้ม ถูกนักศึกษาด่าพ่อล่อแม่ สามเวลาหลังอาหาร ชูป้ายประท้วงด้วยข้อความหยาบคาย ก็เห็นยังชูกันอยู่ทุกวัน

คนด่าก็ไม่เห็นต้องหนีไปไหน
ฉะนั้นแฟลชม็อบช่วงนี้เป็นแค่บ่มเพาะสถานการณ์

และยังคงต้องบ่มไปอีกพักใหญ่ เพราะโควิด-๑๙ มันน่ากลัวกว่าเผด็จการหน่อมแน้ม

แต่ที่น่ากลัวจริงๆ คือ…นักการเมืองผสมโรง
ทำตัวเหมือนหมาจิ้งจอก จ้องงาบหนูน้อยหมวกแดง
ไม่รู้มีราคาแค่ไหน แต่ “นคร มาฉิม” ที่มักอ้างบัญชา “ทักษิณ” เคลื่อนไหวได้สะเด่าจริงๆ

ปลุกเอาชนะเผด็จการล้างมรดกบาปแผ่นดิน ด้วยพลังบริสุทธิ์ของนักเรียน นักศึกษาปัญญาชน ฟังดูหรู แต่พอพิจารณาในเนื้อหา อยากมีอำนาจกันเต็มแก่

ชี้นิ้วให้คนโน้นคนนี้ลาออก
ให้ ส.ส.ฝ่ายค้านลาออก เพื่อให้โลกได้รู้ว่าไทยมีเผด็จการครองเมือง

ลืมไปว่าตัวเองเคยอยู่ร่วมเหตุการณ์ ส.ส.ประชาธิปัตย์ลาออกยกพรรค เมื่อปี ๒๕๕๖ คว่ำบาตรรัฐบาลยิ่งลักษณ์

พอประชาธิปัตย์คว่ำบาตรต่อเนื่อง ไม่ร่วมเลือกตั้งต้นปี ๒๕๕๗ ตัวเองไม่พอใจเลยย้ายไปพรรคชาติพัฒนา ก่อนจะกุมเป้าไปเป็นของทักษิณที่ตัวเองเคยด่าว่าโกง

เท่านั้นไม่พอยังเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญลาออก อ้างว่าแต่งตั้งโดยคณะ คสช.

ไอ้ประเด็นศาลรัฐธรรมนูญแต่งตั้งโดยคณะ คสช. ถูกขยายความมานาน และนักเรียน นิสิต นักศึกษา ก็เชื่อว่ามันเป็นแบบนั้นจริงๆ

หลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่เอาไปประโคมว่า เอาไว้ไม่ได้แล้ว ต้องล้างให้หมด

แต่ข้อเท็จจริง หนังคนละม้วน
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดที่ยุบพรรคอนาคตใหม่แต่งตั้งในยุคไหนกันแน่…มาดูกัน

๑.นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ได้รับการสรรหาจากกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ และได้รับการแต่งตั้งในปี 2556

๒.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ได้รับคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดก่อนการรัฐประหารปี ๒๕๕๗ ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งในปีเดียวกัน

๓.นายนุรักษ์ มาประณีต

๔.นายจรัญ ภักดีธนากุล

๕.นายชัช ชลวร

๖.นายบุญส่ง กุลบุปผา

๗.นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี

๓-๗ คนนี้ได้รับตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในปี ๒๕๕๑ ตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐

กำหนดวาระไว้ ๙ ปี เมื่อครบวาระในปี ๒๕๖๐ คสช.ได้มีประกาศ คสช.ที่ ๒๔/๒๕๖๐ ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่พ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งออกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๖๐ ใช้บังคับ

มีแต่งตั้งในยุค คสช.จริงๆ ๒ คน เมื่อปี ๒๕๕๘ คือ
๑.นายปัญญา อุดชาชน
๒.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์
และทั้ง ๒ คนมาจากคณะกรรมการสรรหาที่มี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และประธาน สนช.

ถามว่าเด็กๆ ที่มาชุมนุม รู้หรือเปล่าไอ้ที่ตะโกนด่าว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ยุติธรรม เพราะ คสช.เป็นคนจิ้มมานั้นมันชัวร์หรือมั่วนิ่ม

หาก “ผีน้อย” ปล่อยเชื้อ…เชื่อเถอะครับ เขาเหล่านั้นส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งใจ แค่ไม่รู้ว่าอะไรควรไม่ควร

แต่นักการเมืองปล่อยเชื้อ พวกนี้ตั้งใจมาจากคอก!
ตั้งใจจะเข้าสู่อำนาจผ่านความใสซื่อของ นักเรียน นิสิต นักศึกษา.

Written By
More from pp
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ยืนหยัดและมอบความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยอย่างต่อเนื่องท่ามกลางวิกฤตโควิด-19
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เผยมาตรการต่อเนื่องในการตอบสนองในพื้นที่การทำงานต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส
Read More
0 replies on “ผีน้อยหรือจะสู้กระสือการเมือง”