รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เพิ่มความเสี่ยงผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหืดอาการกำเริบ ปี 2566 ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจาก 1.8 หมื่นราย เป็นกว่า 2 หมื่นราย เดินหน้า “คลินิกคุณภาพ” ให้บริการสุขภาพเชิงรุกถึงในสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิลดความเสี่ยงอาการกำเริบรุนแรงจนต้องเข้าห้องฉุกเฉินหรือนอนโรงพยาบาล
8 มกราคม 2567 ที่โรงแรมโรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเสวนาการบริหารนโยบายสุขภาพโดยเน้นคุณค่าสำหรับโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหืด และบรรยายพิเศษ “ความท้าทายนโยบายการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เพื่อตอบสนองประชาชนในด้านระบบทางเดินหายใจ ปี 2567”
โดยมี นพ.สุรชัย โชคครรชิตชัย ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และสาขาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ทั้งในส่วนกลางและระดับเขตสุขภาพ และผู้แทนจาก สปสช. เข้าร่วมงาน
นพ.สุรโชค กล่าวว่า จากข้อมูล Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข เดือนพฤศจิกายน 2566 พบว่า สถานการณ์โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จากในปี 2563 – 2565 มีผู้ป่วยประมาณ 18,000 ราย แต่ในปี 2566 พบผู้ป่วยสูงกว่า 20,000 ราย สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลให้อัตราการป่วย อัตราการกำเริบเฉียบพลัน การนอนโรงพยาบาลและการเสียชีวิตด้วยโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มสูงขึ้น
ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 คาดการณ์ว่าในช่วงต้นปีนี้ สถานการณ์จะยังอยู่ในระดับที่น่ากังวล เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูหนาว รวมถึงมีปัญหาหมอกควันข้ามแดน และการเผาพื้นที่ทางการเกษตร
นพ.สุรโชคกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขจึงสนับสนุนให้มีการพัฒนา “คลินิกคุณภาพ” ที่ให้บริการสุขภาพโดยเน้นคุณค่า (Value-based Healthcare) ซึ่งเป็นรูปแบบการบริการทางการแพทย์ที่มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ดี เกิดคุณค่าสูงสุดในการรักษาพยาบาล โดยขยายบริการไปถึงระดับปฐมภูมิ เพื่อให้สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจในเชิงรุกได้อย่างกว้างขวาง พร้อมทั้งมีการพัฒนาคุณภาพการบริการอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังได้รับมอบอุปกรณ์ทดสอบสมรรถภาพปอด (Peak Flow Meter) จากเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอย่างง่าย (Easy Asthma and COPD Clinic หรือ EACC) ซึ่งได้ส่งมอบไปยังโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขกว่า 900 แห่งทั่วประเทศ สำหรับใช้ในการคัดกรองประเมินอาการเบื้องต้นในผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ช่วยลดโอกาสเกิดอาการกำเริบรุนแรงจนต้องเข้าห้องฉุกเฉินหรือต้องนอนโรงพยาบาลด้วย