องคมนตรี-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

อยู่ให้เขารัก

จากให้เขาเสียดาย

การขึ้นมาเป็นรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย นานวันเริ่มจะมีข้อเปรียบเทียบกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เห็นกันบ้างแล้ว

๘ ปีรัฐบาลประยุทธ์ มีส่วนคล้าย ๘ ปีรัฐบาลป๋าเปรม อยู่มาก ตรงที่เป็นรัฐบาลที่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ประเทศอย่างมหาศาล

แต่ตอนอยู่มักมองไม่เห็น

ไปแล้วถึงได้เห็น

มีคนบางกลุ่มรวมทั้งนักการเมืองที่อ้างตัวเป็นฝ่ายประชาธิปไตย เคยดูแคลน ๘ ปี รัฐบาลประยุทธ์ไม่ทำอะไรเลย นอกจากกู้มาโกง

วันนี้ได้เห็นแล้ว โครงสร้างพื้นฐานที่ปลุกปล้ำกันมาตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์ แต่คนไปตัดริบบิ้นคือ “เศรษฐา ทวีสิน” เพราะมาเสร็จเรียบร้อยให้ได้เก็บเกี่ยวกันในรัฐบาลนี้

ทั้งนักการเมือง ด้อมส้ม ด้อมแดง พากันน้ำลายเหนียว พูดไม่ออก เพราะด่าไว้เยอะ ต้องเด็ดหัวสอยนั่งร้าน ไล่เผด็จการ ๘ ปี

ผลลัพธ์ก็อย่างที่เห็น

ครับ…พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้ง เป็นองคมนตรี ไปเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายนที่ผ่านมา นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีปรีดา

แต่ก็มีคนบางกลุ่มถูกปั่นด้วยเฟกนิวส์จากต่างประเทศ ทำให้ฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด ไม่พยายามที่จะเข้าใจว่า องคมนตรี มีหน้าที่ทำอะไร ทั้งๆ ที่เป็นข้อมูลเปิดเผย หาอ่านได้ทั่วไป

มีความพยายามที่จะดิสเครดิตองคมนตรี เพื่อกระทบไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เป้าหมายก็อย่างที่ทราบ

คือการล้มล้าง!

ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรี ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณ

รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๓ ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคํา ดังต่อไปนี้

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

ไม่ต่างไปจากถวายสัตย์ปฏิญาณของคณะรัฐมนตรี

แต่ที่แตกต่างคือสำนึกหลังการถวายสัตย์ปฏิญาณ ซึ่งจะพบว่าหลายรัฐบาลมิได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

เกิดการคอร์รัปชัน บางคนติดคุก บางคนหนี บางคนกลับมานอนชั้น ๑๔ โรงพยาบาลตำรวจ

แต่องคมนตรีทั้งหมด ยึดมั่นในคำถวายสัตย์ปฏิญาณเท่าชีวิต เพราะตำแหน่งองคมนตรีถือเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติสูงสุด

หากรู้จักที่มาขององคมนตรี ก็จะเข้าใจบทบาทขององคมนตรีมากขึ้น

หนังสือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับองคมนตรี ตีพิมพ์เมื่อปี ๒๕๕๔ บางช่วงบางตอนให้รายละเอียดไว้ชัดเจน

….คำว่า “องคมนตรี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า

“น. ผู้มีตำแหน่งที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์”

องคมนตรีมีมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในระยะแรกนั้น ยังไม่ได้เรียกว่า “องคมนตรี”

แต่จะใช้คำว่า “ปรีวีเคาน์ซิล” “ปรีวีเคาน์ซิลลอร์” “ปรีวีเคาน์ซิลเลอร์” หรือ “ที่ปฤกษาในพระองค์”

ส่วนคำว่า “องคมนตรี” เริ่มใช้ตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน

ทั้งนี้ ในรายงานการประชุมเสนาบดีวันที่ ๒๗ สิงหาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๑ (พ.ศ. ๒๔๓๕) และใน “ประกาศการพระราชพิธีศรีสัจปานกาล พระราชทานพระไชยวัฒน์องค์เล็กแลเครื่องราชอิศริยาภรณ์ แลตั้งองคมนตรี” รัตนโกสินทรศก ๑๑๑ ปรากฏว่า มีการใช้คำว่า “องคมนตรี” แล้ว

ตามหลักฐานที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑ วันอาทิตย์ เดือนเจ็ด ขึ้น ๒ ค่ำ ปีจอ ฉศก จุลศักราช ๑๒๓๖ แผ่นที่ ๑ หน้า ๒-๓ ได้ลงพิมพ์ “ประกาศที่ ๓ ว่าด้วยตั้งเกาน์ซิล แลพระราชบัญญัติ” ความว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า

“…ราชการผลประโยชน์บ้านเมืองสิ่งใดที่จะเกิดขึ้น แลการที่ยังรกร้างมาแต่เดิมมากนั้น ถ้าจะทรงจัดการแต่พระองค์เดียว ก็จะไม่ใคร่สำเรจไปได้ ถ้ามีผู้ที่ช่วยกันคิดหลายปัญญาแล้ว การซึ่งรกร้างมาแต่เดิมก็จะได้ปลดเปลื้องไปได้ทีละน้อยๆ ความดีความเจริญก็คงจะบังเกิดแก่บ้านเมือง จึ่งได้ทรงจัดสันข้าทูลอองธุลีพระบาท ซึ่งมีสติปัญญาโปรดเกล้าฯ ตั้งไว้เปนที่ปฤกษาแห่งสมเดจพระเจ้าอยู่หัว…”

มีข้อที่น่าสังเกตคือ แม้ว่าคณะองคมนตรีปัจจุบันจะมีรากเหง้ามาจากคณะที่ปรึกษาในพระองค์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เรียกว่า “ปรีวีเคาน์ซิล” (THE PRIVY COUNCIL) ซึ่งทรงรับแบบอย่างมาจากประเทศอังกฤษอีกทอดหนึ่งแต่เมื่อถึงรัชกาลปัจจุบัน โครงสร้างและหน้าที่ของคณะองคมนตรีประเทศไทย เปลี่ยนไปจากโครงสร้างและหน้าที่ของคณะองคมนตรีไทยแต่ดั้งเดิมและของประเทศอังกฤษโดยสิ้นเชิง

คณะองคมนตรีของไทยในปัจจุบันนั้น พระมหากษัตริย์ทรงเลือก และทรงแต่งตั้งด้วยพระองค์เองทุกคน มีหน้าที่บัญญัติไว้ชัดแจ้งตามรัฐธรรมนูญ

ส่วนประเทศอังกฤษ (ENGLAND) ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนสภาพมาเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร (THE UNITED KINGDOM หรือ UK) นั้น พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งองคมนตรีโดยคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีจากบุคคลที่ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในวงราชการ วงการศาสนา หรือวงการการเมือง

เช่น ผู้พิพากษาระดับสูงสมเด็จพระสังฆราช รัฐมนตรี เป็นต้น ทั้งที่อยู่ในตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งแล้ว โดยไม่จำกัดจำนวน

ปัจจุบัน สหราชอาณาจักรมีองคมนตรีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ ๕๐๐ คน โดยดำรงตำแหน่งชั่วชีวิต และมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับพิธีการต่างๆ

เช่น ลงนามในประกาศพระบรมราชโองการการขึ้นเสวยราชสมบัติของพระประมุขของประเทศพระองค์ใหม่ การอภิเษกสมรสของพระประมุขของประเทศ การเปิดและปิดสมัยประชุมรัฐสภา การยุบสภา เป็นต้น…

ฉะนั้น องคมนตรี คือส่วนหนึ่งของประเพณีการปกครอง ที่สืบเนื่องกันมายาวนาน ตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนมาถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

มีพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่คณะองคมนตรี ในโอกาสที่เสด็จฯ ไปทรงเปิดอาคารทำเนียบองคมนตรี ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ วันอังคาร ที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๗

“…องคมนตรีเป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ จึงมีหน้าที่ที่จะให้คำปรึกษา และก็นี่เป็นสิ่งที่คนเขาสงสัยว่าองคมนตรีมีอำนาจมีหน้าที่อะไร ก็สรุปว่าเป็นผู้ที่ให้คำปรึกษาในทุกด้านทุกอย่าง พระมหากษัตริย์จะรับทราบ จะรับรู้หรือไม่ก็อย่าน้อยใจ เพราะว่าพระมหากษัตริย์จะต้องเป็นผู้ที่ตัดสินในเรื่องราวต่างๆ แต่ว่าคำปรึกษาของท่านองคมนตรีก็มีประโยชน์มาก เพราะว่าท่านเป็นผู้ที่มีประสบการณ์มากในด้านต่างๆ จึงขอให้ท่านได้คิดดีๆ แล้วก็ช่วยกัน…”

ฉะนั้นองคมนตรีไม่ใช่ตัวละครแห่งอำนาจ ตามที่ปั่นหัวกัน

แต่คือผู้ทำงานใกล้ชิดพระมหากษัตริย์

0 replies on “องคมนตรี-ผักกาดหอม”