ผักกาดหอม
ดูเหมือนจริงจัง
แต่ไม่จริงใจ
นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตหัวละหมื่นบาท วันนี้รู้สึกได้ว่า เพื่อไทยการละคร น้ำเน่าไปหน่อย แถมบทก็ไม่แน่น
มีแนวโน้มว่าอยากจะจบก็จบเอาดื้อๆ
วานนี้ (๑๕ พฤศจิกายน) นักข่าวถาม “ช่วยคลัง” จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ว่ามีแผนสำรองหรือเปล่า หากร่างพระราชบัญญัติกู้เงินมาแจกประชาชนไม่ผ่านสภา
คำตอบคือ…
“ไม่มี”
ส่วน นายกฯ เศรษฐา ก็พูดไปในทิศทางเดียวกัน
“…ไม่อยากจะบอกว่ามีแผนสำรองอย่างไร แต่รัฐบาลเราทำงานโดยมีหลายมาตรการที่กระตุ้นเศรษฐกิจออกมา วันนี้โฟกัสเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต และที่ผ่านมารัฐบาลแสดงจุดยืนชัดเจนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีขั้นตอนชัดเจน อีกทั้งต้องคอยฟังทางคณะกรรมการกฤษฎีกา และขออนุมัติจากรัฐสภา ที่ชัดเจนออกมาด้วย…”
ที่จริงไม่ผ่านก็ดีครับ เพราะนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตหัวละหมื่นบาทนี้ จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ งบประมาณแผ่นดิน ระเบียบวินัยการเงินการคลัง มากกว่าที่ประเทศจะได้ประโยชน์
แต่ในมุมของรัฐบาลเพื่อไทย ดูจะปล่อยนโยบายนี้ง่ายไปหน่อย เมื่อเทียบกับการกระเหี้ยนกระหือรือที่จะแจกมาโดยตลอด
อีกทั้งข้ออ้างที่ว่าเศรษฐกิจประเทศกำลังย่ำแย่อย่างหนัก หากไม่มีการกระตุ้นแบบกระชาก ก็ยากที่จะกลับมาได้
ฉะนั้นการบอกว่า ไม่มีแผนสำรองใดๆ ทั้งสิ้น ก็เท่ากับว่ารัฐบาลปล่อยให้ประเทศต้องเผชิญกับภาวะทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำสุดขีดนี้ต่อไป
ก็น่าแปลกใจนะครับ รัฐบาลที่เชื่อว่าประเทศไปไม่ไหวแล้ว กลับไม่มีแผนสำรองใดๆ ที่จะกอบกู้ แต่จะนั่งดูประเทศฉิบหาย!
หรือแท้ที่จริงแล้วรัฐบาลก็รู้ว่าเศรษฐกิจไทย กำลังอยู่ในขั้นพื้นตัว ไม่จำเป็นต้องอัดฉีดเศรษฐกิจขนานใหญ่ด้วยการทุ่มงบประมาณกว่า ๕ แสนล้านบาทเข้าไปในระบบ
แต่ที่ต้องทำเพราะได้เอาไปหาเสียงเลือกตั้งไว้
อีกทั้งพรรคเพื่อไทยมิได้ชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ตามที่คาดหมาย ความฮึกเหิมในการทำนโยบายจึงมีน้อยกว่าความกังวลเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล
แน่นอนครับ รัฐบาลคงตระหนักแล้วว่า หากนโยบายกู้มาแจกมีปัญหากลางทางจนไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้ ก็ควรจะปล่อยไป
เพราะการดื้อรั้นจะทำให้รัฐบาลอายุสั้นได้!
ที่จริงนโยบายแจกเงินนี้ ยังมีทางออกอีกมากมาย อยู่ที่รัฐบาลปรารถนาที่จะทำหรือไม่
อย่างเช่นโครงการคนละครึ่ง ซึ่งใช้งบประมาณไม่มากนัก สามารถใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดินได้เลย ไม่ต้องกู้
วิธีการนี้ คือสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยการกระตุ้นและรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ เพื่อรักษาระดับและทิศทางของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่องตลอด ซึ่งรัฐบาลลุงตู่ทำแล้วประสบความสำเร็จอย่างมาก
กระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานรากได้จริง
ปัจจุบันต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่หรือไม่ คำตอบคือ ยังมีความจำเป็นอยู่
แต่ถึงขั้นต้องนำเงินกว่า ๕ แสนล้านบาทมาละเลงให้หมดภายใน ๖ เดือนหรือไม่
คำตอบจากกูรูเศรษฐกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลัง อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ รวมทั้งผู้ว่าแบงก์ชาติคนปัจจุบัน ก็พูดตรงกันว่า ไม่จำเป็น
จะกลายเป็นการขี่ช้างไล่จับตั๊กแตนไป
อันที่จริงการที่รัฐบาลตัดสินใจออกเป็นพระราชบัญญัติแทนที่จะเป็นพระราชกำหนดนั้น อาจมีเจตนาบางอย่างซ่อนอยู่เหมือนกัน
ไปดูที่ สำนักข่าวอิศรา รายงานเอาไว้ก่อน
“…นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ จนถึงวิกฤตโควิด-๑๙ พบว่า
ระหว่างปี ๒๕๔๑-๒๕๖๔ รัฐบาล ๕ ชุด (รัฐบาลชวน หลีกภัย, รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร, รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา)
ได้ออก พ.ร.ก.กู้เงินฯ หรือ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ วงเงินกู้ตั้งแต่ ๓ แสนล้านบาทขึ้นไป อย่างน้อย ๙ ฉบับ…”
ใน ๙ ฉบับดังกล่าว ที่ออกเป็นกฎหมายได้สำเร็จ ก็คือออกในรูปของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ทั้งสิ้น เพราะมีกรณีจำเป็นเร่งด่วน
สำหรับ ๒ ฉบับที่ออกไม่สำเร็จ คือ
“ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน ๔ แสนล้านบาท” โดยที่ประชุม ครม. ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติอนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เมื่อวันที่ ๖ พ.ค. ๒๕๕๒
แต่ต่อมา ครม.ตัดสินใจยกเลิกเอง
“ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน ๒ ล้านล้านบาท” โดยที่ประชุม ครม. ในสมัยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติอนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เมื่อวันที่ ๑๙ มี.ค. ๒๕๕๖
แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่า “มิใช่กรณีจำเป็นเร่งด่วน”
ครับ…หากรัฐบาลจริงจังกับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต น่าจะฉุกคิดสักนิดว่า โอกาสกู้สำเร็จต้องทำอย่างไร
สถิติมันมีให้เห็นอยู่แล้ว
อีกทั้งการออกเป็นพระราชกำหนด มันยิ่งตอกย้ำว่า มีความจำเป็นเร่งด่วน
แต่รัฐบาลเลือกที่จะจำเป็นเร่งด่วนด้วยการออกเป็นพระราชบัญญัติที่มีขั้นตอนยุ่งยากและยาวนานกว่า
แถมยังบอกว่าไม่มีแผนสำรองอะไรเลย
ถ้าจบก็คือจบ
กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนาครับ
ดูเหมือนรัฐบาลพยายามอย่างแสนสาหัสที่จะกู้มาแจก แต่ในความพยายามนั้นรัฐบาลไม่อยากแลกกับเสถียรภาพของรัฐบาล
ฉะนั้นโชคดีสุดของรัฐบาลคือ ตกในชั้นกฤษฎีกา และรัฐบาลก็คงอยากให้เป็นเช่นนั้น
แล้วจะจบหรือเปล่า
อย่าประมาทเชียวครับ เพราะ “ศรีสุวรรณ จรรยา” นักร้องขวัญใจแม่ยก ไปร้องให้ กกต.ตรวจสอบแล้วว่า โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต เข้าข่ายหลอกลวงหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง หรือไม่
พร้อมแนบโทษจำคุกตั้งแต่ ๑ ถึง ๑๐ ปี ปรับตั้งแต่ ๒๐,๐๐๐ ถึง ๒๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจถูกสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกำหนด ๒๐ ปี ไปด้วย
เนื้อหาคำร้องบอกว่าช่วงหาเสียง แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ที่ชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” ไปปราศรัยกับชาวบ้านว่า จะไม่มีการกู้เงินมาใช้กับโครงการนี้ แต่จะใช้การบริหารงบประมาณปกติ
เมื่อทำหนังสือที่ลงนามโดยหัวหน้าพรรคเพื่อไทยชี้แจงมายัง กกต. ตามมาตรา ๕๗ ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองถึงที่มาของเงินที่จะใช้ ว่าใช้งบประมาณปกติ
จู่ๆ นายกฯ กลับบอกว่า ต้องกู้มาแจก
ก็ไม่ทราบครับว่า กกต.จะวินิจฉัยอย่างไร
แต่เรื่อง กู้ เรื่อง โกง นี้ พรรคเพื่อไทยนี่แหละไปเป่าหูให้มวลชนเกลียดรัฐบาลลุงตู่ ว่าดีแต่กู้ กู้มาโกง
จึงเกิดภาพจำ การกู้ ก็คือ การโกง
ดังนั้นเมื่อ นายกฯ เศรษฐา ยืนยันกับประชาชนบนเวทีปราศรัยว่า ไม่กู้เด็ดขาด มันก็มีผลต่อคะแนนนิยมอย่างแน่นอน
แต่อย่างว่าหาก นโยบายนี้ตกในชั้นกฤษฎีกา คำร้องของนักร้องหมายเลข ๑ ก็ตกไป แต่ถ้าผ่านทะลุสภาฯ อาจได้ลุ้นกันถึงขั้นต้องชิงดำ
เห็นกันอยู่หลัดๆ…อ้าว…คุกซะแล้ว