“พระบรมราโชวาท” ล้ำค่า – เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

ค้างไว้วันก่อน…
เรื่อง “พระบรมราโชวาท” หรือคำสั่งสอนของ “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ ๕
ที่พระราชทานต่อ “พระราชโอรส” ๔ พระองค์ ก่อนจะเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๘

พระราชโอรสทั้ง ๔ พระองค์ คือ

-“พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์”
ดำรงพระอิสริยยศเป็น “กรมพระจันทบุรีนฤนาถ”
เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติและเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์
อภิรัฐมนตรี (ที่ปรึกษาพระมหากษัตริย์) ในรัชกาลที่ ๗
และทรงเป็นต้นราชสกุล “กิติยากร”

-“พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์”
ดำรงพระอิสริยยศเป็น “กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์”
เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมและเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ”
ทรงได้รับยกย่องเป็น “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย” ดังทุกวันนี้
และทรงเป็นต้นราชสกุล “รพีพัฒน์”

๓.”พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม”
ดำรงพระอิสริยยศเป็น “กรมหลวงปราจิณกิติบดี”
ราชเลขาธิการ (เลขาธิการของพระมหากษัตริย์) ใน “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”
และทรงเป็นต้นราชสกุล “ประวิตร”

-“พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช”
ดำรงพระอิสริยยศเป็น “กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช”
ผู้บัญชาการทหารบกและเสนาบดีกระทรวงกลาโหม
และทรงเป็นต้นราชสกุล “จิรประวัติ”

พูดกันตามประสาชาวบ้าน “พระบรมราโชวาท” นั้น คือจดหมายที่พ่อเขียนเตือนสติถึงลูกๆ ก่อนจะไปร่ำเรียนเมืองนอก
แต่จากเนื้อหาใจความนั้น สอนทั้ง “ลูกเจ้า” และ “ลูกชาวบ้าน” ว่าควรประพฤติปฏิบัติตนและมีความคิดเช่นใดต่อชาติบ้านเมืองไทยของตัวเอง
ในยุควัตถุครอบงำจิตใจคนดังปัจจุบัน

พระบรมราโชวาท ร.๕ นี้ ค่าล้ำควรมือง
“กระทรวงศึกษาธิการ” ควรนำมาเป็นหนังสือประกอบการเรียนยิ่งนัก
……………………………….

พระบรมราโชวาท
ในรัชกาลที่ ๕
ขอจดหมายคำสั่งตามความประสงค์ให้แก่ลูกบรรดาซึ่งจะให้ออกไปเรียนหนังสือในประเทศยุโรป จงประพฤติตามโอวาทที่จะกล่าวต่อไปนี้…”

๑.
“การซึ่งจะให้ออกไปเรียนครั้งนี้ มีความประสงค์มุ่งหมายแต่จะให้ได้วิชาความรู้อย่างเดียว ไม่มั่นหมายจะให้เป็นเกียรติยศชื่อเสียงอย่างหนึ่งอย่างใดในชั้น ซึ่งยังเป็นผู้เรียนวิชาอยู่นี้เลย
เพราะฉะนั้น ที่จะไปครั้งนี้ อย่าให้ไว้ยศว่าเป็นเจ้า ให้ถือเอาบรรดาศักดิ์เสมอลูกผู้มีตระกูลในกรุงสยาม

“…ความประสงค์ข้อนี้ ใช่ว่าจะเกิดขึ้นเพราะไม่มีความเมตตากรุณาหรือจะปิดบังซ่อนเร้นไม่ให้รู้ว่าเป็นลูกอย่างนั้นเลย
พ่อคงรับว่าเป็นลูกและมีความเมตตากรุณาตามธรรมดาที่บิดาจะกรุณาต่อบุตร
แต่เห็นว่า ซึ่งจะเป็นยศเจ้าไปนั้น ไม่เป็นประโยชน์อันใดแก่ตัวนัก

“…และถ้าเป็นเจ้านายแล้ว ต้องรักษายศศักดิ์ในกิจการทั้งปวง ที่จะทำทุกอย่างเป็นเครื่องล่อตา ล่อหูคนทั้งปวง ที่จะให้พอใจดู พอใจฟัง จะทำอันใด ก็ต้องระวังตัวไปทุกอย่างที่สุด จนจะซื้อจ่ายอันใดก็แพงกว่าคนสามัญ เพราะเขาถือว่ามั่งมี เป็นการเปลืองทรัพย์ในที่ไม่ควรจะเปลือง
เพราะเหตุว่า ถึงจะเป็นเจ้าก็ดี เป็นไพร่ก็ดี เมื่ออยู่ในประเทศไม่ใช่บ้านเมืองของตัว ก็ไม่มีอำนาจที่จะทำฤทธิ์เดชอันใดผิดไปกับคนสามัญได้
เพราะฉะนั้น จึงขอห้ามเสียว่า อย่าได้ไปอวดอ้างเอง หรืออย่าให้คนใช้สอยอวดอ้างว่าเป็นเจ้านายอันใด จงประพฤติให้ถูกตามคำสั่งนี้”

๒.
“…การซึ่งให้มีโอกาสและให้ทุนทรัพย์ซึ่งจะได้เล่าเรียนวิชานี้เป็นหลักทรัพย์มรดกอันประเสริฐดีกว่าทรัพย์สินเงินทองอื่นๆ ด้วยเป็นของติดตัวอยู่ได้ ไม่มีอันตรายที่จะเสื่อมสูญ ลูกคนใดที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดก็ดี หรือไม่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดก็ดี ก็ต้องส่งไปเรียนวิชาทุกคน ตลอดโอกาสที่จะเป็นไปได้ เหมือนหนึ่งได้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ลูกเสมอๆ กันทุกคน…”

๓.
“…เจ้านายจะเป็นผู้ได้ทำราชการ มีชื่อเสียงดีก็อาศัยได้แต่สติปัญญาความรู้และความเพียรของตัว
เพราะฉะนั้น จงอุตสาหะเล่าเรียนโดยความเพียรอย่างยิ่ง เพื่อได้มีโอกาสที่จะทำการให้เป็นคุณแก่บ้านเมืองของตนและโลกที่ตัวได้มาเกิด

“ถ้าจะถือว่าเกิดมาเป็นเจ้านายแล้วนิ่งๆ อยู่จนตลอดชีวิตก็เป็นสบาย ดังนั้น จะไม่ผิดอันใดกับสัตว์ดิรัจฉานอย่างเลวนัก สัตว์ดิรัจฉานมันเกิดมากินๆ นอนๆ แล้วก็ตาย
แต่สัตว์บางอย่าง ยังมีหนัง มีเขา มีกระดูก เป็นประโยชน์ได้บ้าง
แต่ถ้าคนประพฤติอย่างเช่นสัตว์ดิรัจฉานแล้ว จะไม่มีประโยชน์อันใดยิ่งกว่าสัตว์ดิรัจฉานบางพวกไปอีก

“เพราะฉะนั้น จงอุตสาหะที่จะเรียนวิชาเข้ามาเป็นกำลังที่จะทำตัวให้ดีกว่าสัตว์ดิรัจฉานให้จงได้ จึงจะนับว่าเป็นการได้สนองคุณพ่อ ซึ่งได้คิดทำนุบำรุงเพื่อจะให้ดีตั้งแต่เกิดมา”

๔.
“อย่าได้ถือตัวว่าเป็นลูกเจ้าแผ่นดิน พ่อมีอำนาจยิ่งใหญ่อยู่ในบ้านเมือง ถึงจะเกะกะไม่กลัวเกรง คุมเหงผู้ใดเขาก็จะมีความเกรงใจพ่อ ไม่ต่อสู้ หรือไม่อาจฟ้องร้องว่ากล่าว
การซึ่งเชื่อใจดังนั้นเป็นการผิดแท้ทีเดียว
เพราะความปรารถนาของพ่อ ไม่อยากจะให้ลูกมีอำนาจที่จะเกะกะอย่างนั้นเลย

“…อีกประการหนึ่ง ชีวิตสังขารมนุษย์ไม่ยั่งยืนยืดยาวเหมือนเหล็กเหมือนศิลา ถึงโดยว่าจะมีพ่ออยู่ในขณะหนึ่ง ก็คงจะมีเวลาที่ไม่มีได้ขณะหนึ่งเป็นแน่แท้
ถ้าประพฤติความชั่วเสียแต่ในเวลามีพ่ออยู่แล้ว โดยจะปิดบังซ่อนเร้นอยู่ได้ด้วยอย่างหนึ่งอย่างใด เวลาไม่มีพ่อ ความชั่วนั้นคงจะปรากฏเป็นโทษติดตัวเหมือนเงาตามหลังอยู่ไม่ขาด

“เพราะฉะนั้น จงเป็นคนอ่อนน้อม ว่าง่าย สอนง่าย อย่าให้เป็นทิฐิมานะไปในทางที่ผิด จงประพฤติตัวหันมาทางที่ชอบ ที่ถูก อยู่เสมอเป็นนิจเถิด
จะละเว้นทางที่ชั่วซึ่งรู้ได้เองแก่ตัว หรือมีผู้ตักเตือนแนะนำให้รู้แล้ว อย่าให้ล่วงให้เป็นไปได้เลยเป็นอันขาด”

๕.
“…จงจำไว้ ตั้งใจอยู่ให้เสมอว่า ตัวเป็นคนจน มีเงินใช้เฉพาะแต่ที่รักษาความสุขของตัวพอสมควรเท่านั้น ไม่มั่งมีเหมือนใครๆ อื่น
และไม่เหมือนกับผู้ดีฝรั่งเลย ผู้ดีฝรั่งเขามั่งมีสืบตระกูลกันมาด้วยได้ดอกเบี้ยค่าเช่าต่างๆ
ตัวเองเป็นผู้ได้เงินจากราษฎรเลี้ยง พอสมควรที่จะเลี้ยงชีวิตและรักษาเกียรติยศเท่านั้น อย่าไปอวดมั่งอวดมีทำเทียบเทียมเขาให้ฟุ้งซ่านไปเป็นอันขาด…”

๖.
“วิชาที่จะออกไปเรียนนั้น ก็คงต้องไปเรียนภาษาและหนังสือในสามภาษา คือ อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน ให้ได้แม่นยำ ชัดเจน คล่องแคล่ว จนถึงแต่งหนังสือได้สองภาษาเป็นอย่างน้อย
เป็นวิชาหนังสืออย่างหนึ่ง กับวิชาเลขให้เรียนรู้คิดใช้ได้ในการต่างๆ อีกอย่างหนึ่ง เป็นต้น วิชาสองอย่างที่จำเป็นจะต้องเรียนให้รู้ให้ได้จริงๆ เป็นชั้นต้น

แต่วิชาอื่นๆ ที่จะเรียนต่อไป ให้เป็นวิชาชำนาญวิเศษในกิจการข้างวิชานั้น จะตัดสินเป็นแน่นอนว่า ให้เรียนสิ่งใดในเวลานี้ ก็ยังไม่ควรจะต้องเป็นคำสั่งต่อภายหลัง…”

๗.
“………อย่าตื่นตัวเองว่าได้ไปร่ำเรียนภาษาฝรั่งแล้วลืมภาษาไทย กลับเห็นเป็นการเก๋การกี๋อย่างเช่นนักเรียนบางคนมักจะเห็นผิดไปดังนั้น
“…เพราะเหตุฉะนั้น ในเวลาที่ออกไปเรียนวิชาอยู่ ขอบังคับว่า ให้เขียนหนังสือถึงพ่อทุกคน อย่างน้อยเดือนละฉบับ

เมื่อเวลายังเขียนหนังสืออังกฤษไม่ได้ ก็เขียนมาเป็นหนังสือไทย ถ้าเขียนหนังสืออังกฤษหรือภาษาหนึ่งภาษาใดได้ ให้เขียนภาษาอื่นนั้นมาฉบับหนึ่ง
ให้เขียนคำแปลเป็นหนังสือไทยอีกฉบับหนึ่ง ติดกันมาอย่าให้ขาด เพราะเหตุที่ลูกยังเป็นเด็ก ไม่ได้เรียนภาษาไทยแน่นอนมั่นคง ก็ให้อาศัยไต่ถามครูไทยที่ออกไปอยู่ด้วย
หรือค้นดูตามหนังสือภาษาไทย ซึ่งได้จัดออกไปให้ด้วย คงจะพอหาถ้อยคำที่จะใช้แปลออกเป็นภาษาไทยได้

แต่หนังสือไทยที่จะเป็นกำลังช่วยอย่างนี้ยังมีน้อยจริง เมื่อเขียนเข้ามาคำใดผิดจะติเตียนออกไป แล้วจงจำไว้ใช้ให้ถูกต่อไปภายหน้า
“อย่าให้มีความกลัวความกระดากว่าผิด ให้ทำตามที่เต็มอุตสาหะความแน่ใจว่าเป็นถูกแล้ว เมื่อผิดก็แก้ไปไม่เสียหายอันใด”

๘.
“…เมื่ออยู่ในโรงเรียนแห่งใด จงประพฤติการให้เรียบร้อยตามแบบอย่าง ซึ่งเขาตั้งลงไว้ อย่าเกะกะวุ่นวายเชื่อตัวเชื่อฤทธิ์ไปต่างๆ
จงอุตส่าห์พากเพียรเรียนวิชา ให้รู้มาได้ช่วยกำลังพ่อเป็นที่ชื่นชมยินดีสมกับที่มีความรักนั้นเถิดฯ”
………………………..

ทั้งหมดนี้ จาก https://becommon.co life › king-rama-v-letter คัดใจความบางส่วนจาก “พระบรมราโชวาท ในรัชกาลที่ ๕”
และนำมาแบ่งบางบทใหม่ในการนำเสนอ เพื่อสะดวกแก่การอ่าน ผมเห็นประโยชน์ในการนี้ จึงขออนุญาตนำเผยแพร่ต่อ

พรุ่งนี้ ผมขออนุญาต “ลาป่วย” หนึ่งวันนะครับ

เปลว สีเงิน

๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๖

 

Written By
More from plew
อย่าหลง “รบอยู่กับคลื่น”
ก็เห็นใจและเข้าใจ พลเอกประยุทธ์ ในฐานะผู้นำบริหาร และ พลเอกอภิรัชต์ ในฐานะผู้นำกองทัพ “หนักที่แบก” ไม่ใช่งาน หนักนั้น เป็น “หนักที่ใจ”
Read More
0 replies on ““พระบรมราโชวาท” ล้ำค่า – เปลว สีเงิน”