จะเข้ากระเป๋าใคร? – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

มันหวิวๆ ครับ….

มองสถานการณ์โลก แล้วหันมามองสถานการณ์ไทย รัฐบาลทำตัวเหมือนเสี่ยภูธร มีร้อยใช้ร้อยยี่สิบ ซื้อพวงมาลัยคล้องคอนักร้อง ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าวันพรุ่งจะมีกินหรือเปล่า

เห็นทีต้องเอาคำเตือนมาแปะไว้เรื่อยๆ

จนกว่ารัฐบาลจะเลิกแจกเงินดิจิทัล

หรือไม่ก็ถูกศาลหรือองค์กรอิสระบอกว่าทำไม่ได้ เพราะมันผิดกฎหมาย

ร่วมเดือนมานี้มีเสียงเตือน ติติง ค่อนข้างหลากหลาย แต่ก็ยังเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาอยู่

เห็นกองไฟอยู่ข้างหน้า รัฐบาลทำท่าจะพุ่งไปอย่างเดียว

ขี้เกียจตั้งคำถามแล้วครับว่า อะไรทำให้รัฐบาลหน้ามืดได้ขนาดนี้ เหมือนหมาแมวติดสัดอยากจะออกจากบ้านไปสืบพันธุ์

หมาแมวว่ากันตามฤดูกาล แต่รัฐบาลเป็นอะไรหนักหนา ถึงได้กระเหี้ยนกระหือรือจะใช้เงินแผ่นดินอยู่ตลอดเวลา

ก็…มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาเรื่อยๆ ครับ ในโซเชียล บรรดาอินฟลูเอนเซอร์ เขาชำแหละนโยบายแจกยกครัวกันโขมงโฉงเฉง

ทันตแพทย์สม สุจีรา คุณหมอนักเขียน โพสต์เฟซบุ๊ก มีแง่มุมที่น่าสนใจมากครับ

…ทำไมต้องแจกเงิน “ดิจิทัล”

เวลาเราไปศูนย์อาหาร ต้องเอาเงินสดไปแลกเป็นบัตร แล้วเติมเงินเข้าไป

นั่นแหละ คือรูปแบบหนึ่งของเงินดิจิทัล

หลังจากนั้น เงินเราจะอยู่ในกำมือของเจ้าของศูนย์อาหารทันที

ถ้าหมดเวลาใช้ เงินจะกลายเป็นศูนย์ ไม่มีสิทธิ์เรียกร้องใดๆ

คูปองยังแลกคืนก่อนเวลาได้ แต่เงินดิจิทัลแลกไม่ได้เลย

การแจกเงินดิจิทัล ภายในหกเดือนถ้าใช้ไม่หมด เงินนั้นก็จะถูกตัดไป

แต่เงินกู้ ๖๐๐,๐๐๐ ล้านบาท รวมค่าพัฒนาระบบ จะกลายเป็นเงินสดของผู้วางแผน

คนไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ ทั้งแบบหนีไปเองหรือรัฐส่ง รวมๆ แล้ว ๔๐๐,๐๐๐ คน

เฉพาะไต้หวัน อิสราเอล เกาหลีใต้ ก็ประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ คนแล้ว

ได้คนละหมื่นรวมเป็น ๔,๐๐๐ ล้านบาท หายไปในกระเป๋านักการเมืองแน่นอน

อยู่ในเรือนจำอีกสามแสนคน บวชเป็นพระและแม่ชี ที่ไม่ต้องการใช้เงินอีกสามแสน

คนมีเงินเก็บหรืออยู่ไกลจากทะเบียนบ้าน ที่อาจใช้เงินดิจิทัลไม่หมดอีกหลายล้านคน

รวมๆ แล้ว จะเหลือเงินจากโครงการนี้ไม่ต่ำกว่าห้าหมื่นล้านบาท

จะเข้ากระเป๋าใคร??

ยังไม่รวมค่าบริการ ค่าออกแบบระบบ อีกหลายหมื่นล้านบาท

คำว่า “ค่าออกแบบ” ทำให้เสาไฟกินรี ที่ขายในอีเบย์ต้นละห้าพัน กลายเป็นเจ็ดหมื่นได้

ทำให้การรวมเบอร์ ๑๙๑ เข้ากับ ๑๖๖๙ ซึ่งถ้าให้ True ทำระบบไม่น่าเกินร้อยล้าน พุ่งเป็น ๗,๐๐๐ ล้านได้

พวกเขาออกแบบระบบเอง สร้าง backdoor ไว้เพียบ

เรียกว่าไม่เฉพาะโครงการแจกเงินหมื่น

ในอนาคต ทั้งเงินชราภาพที่จะแจก หรือเงินช่วยแบบอื่น ก็มีโอกาสจากช่องทางนี้

สมัยก่อนกินกันเฉพาะเงินสดที่มี แต่สมัยนี้เอากันถึงเงินในอนาคตที่่ยังไม่มี แต่กู้มาก่อน

ศาลปกครองสูงสุดที่องค์คณะแต่ละท่านอายุ ๗๐ UP ตามไม่ทันคอร์รัปชันแบบดิจิทัลแน่

….หนักกว่าจำนำข้าวอีก….

แล้วอย่าหวังว่าจะตรวจสอบได้

พวกเขาจะอ้างว่า เรื่องการเงินเป็นเรื่องของความมั่นคง

ต้องเป็นความลับ

ความมั่นคงของพวกเธอน่ะสิ พวกนักการเมือง

ไม่ใช่ความมั่นคงของประเทศชาติ ประชาชน

เฮ้อ….ประเทศไทย หันไปมองสองพรรคฝ่ายค้านก็มีแต่มั่วกาเม มองมาทางฝ่ายรัฐบาลก็มีแต่โลภะหน้ามืดตามัว ครั้นหวนหารัฐบาลเก่าก็มีแต่โทสะเข้าครอบงำ

….หนีเสือ ปะจระเข้…..หนีจระเข้ เจอหมาป่า…..

ตามบุญตามกรรมก็แล้วกันล่ะโยม เลือกกันเข้ามาเองนี่…

ก็น่าคิดนะครับ ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอุดรูรั่ว ที่คุณหมอสมตั้งข้อสังเกตไว้หรือเปล่า หรือสงวนไว้ เพราะรู้อยู่แล้วตั้งแต่แรกว่ามี “รู” นี้อยู่

ถ้าเงินหายไปหลักพันล้านหมื่นล้าน คงต้องจับตัดหัวเจ็ดชั่วโคตรครับ

อีกท่านคือ “ณัฐวุฒิ เผ่าทวี” นักเศรษฐศาสตร์ ดีกรียาวเป็นหางว่าว โพสต์ข้อความไว้ในเฟซบุ๊ก Nattavudh Powdthavee ดังนี้ครับ

…คำถามใหม่ๆ ที่ยังไม่มีคำตอบเกี่ยวกับนโยบายเงินดิจิทัล

ตอนแรกผมกะว่าจะหยุดเขียนในเรื่องนี้แล้ว เพราะ ๑) คิดว่าเขียนในเรื่องทฤษฎีครบหมดแล้ว และ ๒) ถึงเขียนไปทางรัฐก็คงจะนำนโยบายนี้มาใช้อยู่ดี ก็เลยคิดว่าเราทำหน้าที่ของเราในฐานะหนึ่งนักวิชาการไทยได้ดีที่สุดแล้ว และก็จะไม่มีความรู้สึกเสียใจใดๆ ทั้งสิ้น

แต่เมื่อคืนมันมีคำถามใหม่ๆ ที่ผุดเข้ามาที่ผมยังไม่มีคำตอบ และคิดว่าหลายๆ คนก็ต้องการคำตอบเช่นเดียวกัน ซึ่งคำถามใหม่ๆ นี้เป็นคำถามเกี่ยวกับในเรื่องของ supply side มากกว่า demand side ซึ่งเป็นด้านที่รัฐบาลพูดถึงเกือบอยู่จะด้านเดียว (demand side ก็คือด้านของผู้บริโภคนะครับ ส่วน supply side ก็คือด้านของผู้ประกอบการ) คำถามของผมก็คือ

๑.ในนโยบายเงินดิจิทัลนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องลงทะเบียนเพื่อเข้าไปอยู่ในโครงการด้วยถึงจะสามารถรับเงินดิจิทัลแทนเงินสดหรือเครดิตใช่ไหมครับ และสำหรับผู้ประกอบการที่เลือกที่จะไม่ลงทะเบียนล่ะ เขายังสามารถรับเงินดิจิทัลได้ไหม

๒.และสำหรับผู้ประกอบการที่ไม่ได้ลงทะเบียน เพราะไม่อยากรับเงินดิจิทัล — คือเขามี preference เป็นเงินสดมากกว่า — เขาสามารถบอกกับลูกค้าว่าร้านนี้ไม่รับเงินดิจิทัลได้ไหม มันไม่ผิดกฎหมายใช่ไหม

๓.แล้วผู้ประกอบการที่ไม่ได้ลงทะเบียน เพราะกลัวปัญหา liquidity ยังสามารถรับเงินดิจิทัลจากลูกค้าที่มาซื้อของเพื่อลงทุนได้ไหมครับ แล้วเขายังจำเป็นต้องใช้เงินนี้ในระยะ 4km ด้วยหรือเปล่า

๔.แล้วสำหรับร้านที่ลงทะเบียนแล้ว แต่มี supply chain เป็นร้านที่ไม่ได้ลงทะเบียน เขายังสามารถชำระเงินเพื่อซื้อทรัพยากรกับร้านนั้นๆ เป็นเงินดิจิทัลได้ไหมครับ ถ้าไม่ได้ มันจะเกิดเหตุการณ์ supply chain disruption ไหม (ยกตัวอย่างร้านอาหารที่รับเงินดิจิทัลจากลูกค้ามา เขาจำเป็นที่จะต้องรอการแลกเงินดิจิทัลนี้เป็นเงินสดก่อนที่จะไปซื้อไก่จากร้านไก่ที่ไม่ได้ลงทะเบียนหรือเปล่าครับ)

หรือว่าทุกๆ ร้าน (และทุกๆ กิจการ) ในประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องลงทะเบียนทุกร้าน

ผมไม่ทราบคำตอบ แต่อยากรู้ว่าคำตอบจริงๆ คืออะไร มีใครทราบคำตอบไหมครับผม ขอบคุณนะครับ…

ตั้งแต่ติดตามนโยบายรัฐบาลมาหลายรัฐบาลแล้ว ไม่เคยมีนโยบายรัฐบาลไหนถูกตั้งคำถามมากไปกว่านี้อีกแล้ว

นี่มันแทบจะควักไส้มาล้างน้ำกันแล้วนะครับ

อีกคนที่ไปชี้แจงคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร วานนี้ (๑๙ ตุลาคม) “ดารณี แซ่จู” ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน

เธอยืนยันครับว่า ความจำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมผ่านโครงการนี้ยังมีไม่มาก เพราะภาพรวมการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้สูง และตลาดแรงงานก็ฟื้นตัวต่อเนื่อง

ล่าสุด! “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” ช่วยคลัง อย่าผวนเชียวนะครับ เมาหมัดถึงขนาดบอกว่า ที่ถามๆ กันนี้ ยังไม่มีคำตอบที่เป็นวิทยาศาสตร์

ที่ตอบได้คือ อาจต้องเลื่อนแจก เพราะพัฒนาแอปพลิเคชันไม่ทัน เกรงว่าข้อมูลจะไม่ปลอดภัย

มันจะไปต่ออีท่าไหนครับ

คิดใหญ่ ทำเป็นแน่นะ

เกรงว่าจะฉิบหายกันถ้วนหน้าเสียมากกว่า

0 replies on “จะเข้ากระเป๋าใคร? – ผักกาดหอม”