สันต์ สะตอแมน
พระเอกขืนใจนางเอกน่ะ “เลวร้าย”.. ไม่เถียง!
แต่.ที่ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แซะพระเอก คุณป๋อ-ณัฐวุฒิ สะกิดใจ ว่า..
“คุณป๋อไม่ได้มาจากดาวดวงอื่นหรอกครับ คุณอยู่บนโลกใบเดียวกันนี่แหละ เพียงแต่คุณอยู่ในโลกของการแสดงอีกแบบที่คิดว่าดีกว่าคนอื่น
ทั้งที่คุณเกิดและดังในยุคที่พระเอกละครไทยข่มขืนนางเอก ที่หากพิจารณาแล้ว มันเลวร้ายกว่าหยาบโลนกว่าหลายพันเท่า ซึ่งคุณป๋อควรออกมาแสดงจุดยืนว่ารับไม่ได้”
ซึ่งดร.ไชยณรงค์ได้เปรียบเทียบกับเพลง “คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ” ที่นักร้องหญิงคนหนึ่ง บอกชื่อก็ได้ “เดือนเพ็ญ เด่นดวง” ยืนร้องแบบหมดอาลัยตายอยาก..
“คนจนล่ะ มีสิทธิ์ไหมคะ คนจนล่ะ มีสิทธิ์ไหมคะ มีงานให้ทำไหมคะ ปริญญาไม่มี แต่มีhee นะคะ แต่มีmhoy นะคะ” ที่พูดกันว่ากำลังฮิตในโลกโซเชียล นั้น
นี่..คล้ายกับดร.ไชยณรงค์จะบอกว่า..กูชั่ว แต่มึงชั่วกว่า กูเลว แต่มึงเลวกว่า กูหน้าด้าน แต่มึงหน้าด้านกว่า อะไรทำนองนี้
เพราะคุณป๋อก็ได้พูด (เขียน) แค่ว่า.. “ มีการร้องเพลง แล้วใส่คำว่า..ี ,….ย (อวัยวะเพศหญิง-ชาย) ในเนื้อเพลง แล้วก็เห็นว่าเป็นเรื่องตลก ขบขัน
ผมว่า มันหยาบคาย หยาบโลน ตื้นเขิน ไม่รับผิดชอบ และกังวลว่าเด็กๆในวัยที่ยังไม่พร้อมมาเปิดดูคลิปเพลงพวกนี้จะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา ใครๆก็พูดกัน ใครๆก็ร้องกัน..” ก็เท่านั้น
หรือ..ดร.ไชยณรงค์มองว่า การใส่คำ hee-mhoy ลงในเนื้อเพลงเป็นความสละสลวยด้านภาษา เป็นศิลปะที่งดงาม ถ้ายังงั้นก็ไม่ต้องนำมาเทียบ-เปรียบกับพระเอกข่มขืนนางเอก
ด้วยไม่ว่าจะดอกเตอร์หรือตาสี-ตาสา ต่างก็มองเห็นเป็นความเลวร้ายที่ไม่ควรจะมีในละครโทรทัศน์มาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว
แต่ที่ผู้จัดฯ ผู้กำกับฯ ผู้เขียนบท ยังให้ละครมีฉากนี้อยู่ นั่นด้วยเหตุผล (อาจคิดเอาเอง)..ถูกกับรสนิยมของคนดู!
และที่ดร.ไชยณรงค์โพสต์.. “คนจนมีสิทธิ์มั้ยคะ ถ้าคุณป๋อไม่เข้าใจ ผมจะอธิบายให้ฟัง 1. เพลงนี้ที่ติดหูและถูกใจโลกโซเชียลอย่างล้นหลาม แม้ร้องเมื่อ 30 ปีที่แล้ว
เพราะเพลงได้สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางสังคม แม้ผ่านไป 30 ปี แต่ความจริงนี้ก็ยังดำรงอยู่ในสังคมไทย
2. เพลงนี้ยังสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางเพศสภาพด้วย และความเหลื่อมล้ำนี้ ผ่านไป 30 ปีแล้ว แต่ก็ยังดำรงอยู่ในสังคมไทย
3. การที่นักร้องคือคุณเดือนเพ็ญหยิบท่อนนี้มาจากเพลงสมองจนจนของพลอยมาเล่นต่อ ไม่ใช่เพื่อความสนุกสนานอย่างเดียว
แต่การแสดงนี้คือศิลปะการแสดงที่เป็นอาวุธของผู้อ่อนแอ (weapons of the weak) หรือศิลปะของผู้อ่อนแอ (art of the weak)”
ผมก็ไม่อยากจะขัดคอให้ขัดใจหรอกนะ แต่เนื้อร้อง.. “คนจนล่ะ มีสิทธิ์ไหมคะ คนจนล่ะ มีสิทธิ์ไหมคะ มีงานให้ทำไหมคะ ปริญญาไม่มี แต่มีhee นะคะ แต่มีmhoy นะคะ”..
แค่นี้น่ะรึ คือศิลปะการแสดงที่เป็นอาวุธของผู้อ่อนแอ (weapons of the weak) หรือศิลปะของผู้อ่อนแอ (art of the weak)”..หือ?
ขอโทษ..ดร.ไชยณรงค์ไม่รู้จริงๆ หรือว่า ที่เนื้อเพลงสั้นๆ นี้ติดหู-ถูกใจโลกโซเชียลอย่างล้นหลาม มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางสังคม-ทางเพศสภาพ..
มันติดหู-ถูกใจ ก็ตรง heeกับhmoy ตามสภาพสังคมที่บิดเบี้ยวอยู่ในขณะนี้ต่างหาก ประกอบกับมันไม่เคยมีปรากฏในวงการเพลง-ดนตรีที่ต่ำตมถึงขั้นนี้ ก็เลยพลอยบ้าไปตามๆ กัน!
ฟัง (อ่าน) นี่ เพลง “สมองจนจน” ที่มืด ไข่มุก ร้อง มันอย่างงี้.. “คนจนมีสิทธิ์ไหมครับ คนจนมีเสียงไหมครับ มีเงินให้ยืมไหมครับ มีงานให้ทำไหมครับ..
เส้นไม่ใหญ่ไม่โต โล่ห์ไม่มีจะโชว์ แต่งตัวก็ไม่โก้ แต่ไม่โป๊นะครับ”
นี่สิ ถึงจะพอกล้อมแกล้มได้ว่า เป็นเพลงที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่..Hee-hmoy ในเพลง..
มันสะท้อนความต่ำตมครับอาจารย์!