ส่องสหกรณ์ชาวสวนบ้านตําบลโคกเคียน จังหวัดนราธิวาส แก้สารพัดปัญหาผ่าน “โคกเคียนโมเดล”

“ระเบิดจากข้างใน” หัวใจของการพัฒนาตามที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชดำรัสไว้กลายเป็นจุดเด่นของสหกรณ์ชาวสวนบ้านตําบลโคกเคียน จํากัด จังหวัดนราธิวาส

ภายใต้การนำของ นายณัฐกิตติ์ ปิ่นทอง ประธานสหกรณ์ฯที่น้อมรับ แนวพระราชดำรัสมาปรับใช้ในหมู่มวลสมาชิก จนประสบความสำเร็จในหลายโครงการผ่าน “โคกเคียนโมเดล” ซึ่งเป็นโมเดลต้นแบบให้กับจังหวัดนราธิวาสนำไปขยายผลในหลายพื้นที่

“สมาชิกส่วนใหญ่ทำสวนยางเป็นหลักและสวนปาล์ม “โคกเคียน โมเดล”เกิดเมื่อปี 2562 ตอนนั้นเกิดปัญหาโรคใบร่วงยางพาราระบาดอย่างรุนแรง เราก็ใช้กระบวนการสหกรณ์ระดมร่วมคิดว่าเราจะแก้ปัญหาโรคนี้อย่างไร จึงตั้งคณะทำงานขึ้นมาแล้วประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องด้านยางพาราเพื่อมาร่วมทำกิจกรรมตรงนี้ เป็นการระเบิดจากข้างในสู่ข้างนอกเหมือนที่ ในหลวงร.9 ท่านพระราชทานแนวทางไว้เลย”ประธานสหกรณ์ฯเผย

นายณัฐกิตติ์ อธิบายต่อว่า จากนั้นเริ่มคิดและกำหนดรูปแบบในการดูแลรักษาแปลงยางพารา หลังจากสมาชิก ไม่ยินยอมทำตามคำแนะนำภาครัฐให้ต้องใช้สารเคมีฉีดพ่น โดยมองว่าจะเป็นอันตรายต่อตัวเกษตรกร จึงมาสรุปที่ว่าทดลองใช้สารชีวภาพ ผลิตเชื้อไตรโคม่าหว่านในแปลง และใส่ปุ๋ยให้ตรงตามค่าวิเคราะห์ดิน จัดการแลปงให้เตียนโล่ง นอกจากนี้ยังติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิความชื้นเพื่อตรวจสภาพอากาศก่อนใส่ปุ๋ยยางทุกครั้ง

“เราก็มาตั้งสมมติฐานที่ว่าความชื้นมีผลต่อโรคใบร่วงหรือไม่ ความชื้นในอากาศ ความชื้นในดิน เพราะว่าใบยางร่วมพอตกลงดินที่มีความชื้นมันจะเกิดเชื้อราลากลามไปที่ต้นยางส่งผลให้ยืนต้นตายและเป็นใบร่วง พอพิสูจน์ว่าทำตามกระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้สามารถลดต้นทุนเกษตรกรและสามารถป้องกันโรคใบร่วงได้ ถึงแม้ว่าเกิดโรคดังกล่าวแต่ก็ได้รับความเสียหายไม่มาก ต้นยางยังให้สามารถกรีดให้ผลผลิตได้ อย่างปี 2563-64 โรคใบร่วงระบาดรุนแรงมาก พอปี 2565 เหลือแค่ไม่กี่จุด”

ประธานสหกรณ์ฯคนเดิมระบุอีกว่าการแก้ปัญหาโรคใบร่วงดังกล่าว นอกจากการดูแลจัดการแปลงแล้ว การใช้นวัตกรรมเครื่องวัดอุณหภูมิความชื้นในสวนยางที่เกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นของลูกหลานสมาชิกดที่เก่งด้านไอทีแล้วนำมาประยุกต์ใช้ในสวนยางพาราก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้แก้ปัญหาโรคใบร่วงยางพาราได้สำเร็จ ปัจจุบันทางสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร สงขลานำไปต่อยอดงานวิจัยเพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เขายอมรับว่าปัญหาของสหกรณ์โคกเคียนขณะนี้คือเรื่องแรงงาน เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยทำให้ขาดแคลนแรงงานฝีมือ ซึ่งที่ผ่านมาทางสำนักงานสหกรณ์จังหวัดนราธิวาสก็ได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาและร่วมเปิดหลักสูตรการกรีดยางให้กับลูกหลานสมาชิกเพื่อทดแทนแรงงานที่ขาดหายไป ขณะเดียวกันทางสหกรณ์ฯได้นำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับน้ำยางและใช้ระบบจีพีเอสตรวจจับแปลงปลูกอีกด้วย และเป็นสหกรณ์แห่งแรกที่การนำเทคโนโลยีนี้ มาใช้เพื่อก้าวไปสู่มาตรฐานสากล

“สหกรณ์เราได้เน้นย้ำเรื่องการตรวจสอบย้อนหกลับว่าสวนยางเกษตรกรมีการปลูกรุกล้ำเขตป่าสงวนหรือไม่ ซึ่งโคกเคียน โมเดลเราใช้ระบบจีพีเอสตรวจจับแปลงยางสมาชิกทุกแปลงเพื่อตรวจสอบย้อนกลับ ในวันที่ท่านอธิบดีมาเราจะนำเสนอกระบวนตรวจสอบย้อนกลับและการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการซื้อขายยางพาราด้วย สมาชิกมาขายปุ๊บ เราสแกนคิวอาร์โค้ต รู้ได้ทันทีว่าน้ำยางนี้มาจากแปลงไหน พูดง่ายๆว่าสหกรณ์โคกเคียนเป็นแห่งแรกที่นำระบบตัวนี้มาใช้กระบวนการตรวจสอบย้อยกลับเพื่อเข้าสู่กระบวนการซื้อขายตามมาตรฐานสากล”ประธานสหกรณ์ชาวสวนบ้านตําบลโคกเคียน จํากัดกล่าวย้ำ

อย่างไรก็ตาม สหกรณ์ชาวสวนบ้านตําบลโคกเคียน จํากัด ปัจจุบันตั้งอยู่ ม.8 ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส จัดตั้งขึ้นในปี 2560 เดิมมีสมาชิกจํานวน 30 ราย พื้นที่ 162.5 ไร่ ปัจจุบันเพิ่มสมาชิกเป็น 129 ราย พื้นที่ 367.5 ไร่ เป็นการต่อยอดมาจากวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรชาวสวนตําบลโคกเคียน

ซึ่งมีกิจกรรมรวบรวมและเพื่อขายน้ำยางพารา เพื่อแก้ปัญหาของเกษตรกรผู้มีอาชีพทําสวนยางในพื้นที่ ร่วมกันแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตยางพาราตกต่ำและการถูกเอารัดเอาเปรียบจาก พ่อค้าคนกลาง รวมทั้งสมาชิกจะได้รับเงินปันผลและเฉลี่ยคืนเมื่อสิ้นปี อันจะเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกร สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจภายในชุมชนมีการหมุนเวียน เกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืน

Written By
More from pp
กำหนดการงานบำเพ็ญกุศล และประชุมเพลิง สรีระสังขาร และประวัติ “พระอาจารย์สุดใจ ทันตมโน” เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด
วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ๐๖.๔๕ น. ภิกษุ สามเณร ออกรับบิณฑบาตร ฉันจังหันเช้า ๑๔.๐๐ น....
Read More
0 replies on “ส่องสหกรณ์ชาวสวนบ้านตําบลโคกเคียน จังหวัดนราธิวาส แก้สารพัดปัญหาผ่าน “โคกเคียนโมเดล””