กระทรวงแรงงาน รวมพลัง เครือข่ายด้านความปลอดภัยในการทำงาน ร่วมจัดงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ เพื่อสร้างวัฒนธรรมไทยเชิงป้องกัน ด้วยค่านิยมร่วม สติรู้ตัว วินัยถูกต้อง เอื้ออาทรใส่ใจ (MDC)

กระทรวงแรงงาน โดย สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) หรือ สสปท.ร่วมกับ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กรมควบคุมโรค และสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์ฯ

ร่วมกันจัดงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ ครั้งที่ 35 (Thailand Safe@Work#35) ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี อาคาร 11-12 ระหว่างวันที่ 13-15 กรกฎาคม 2566 ภายใต้กรอบแนวคิด “ร่วมสร้างวัฒนธรรมไทยเชิงป้องกัน สู่ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และความผาสุกที่ยั่งยืน: Forward Culture of Prevention for Safety Thailand”

โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การแสดงนิทรรศการและกิจกรรมสาธิตด้านความปลอดภัยในการทำงานจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานศึกษา จำนวน 128 บูธ และการสัมมนาวิชาการด้านความปลอดภัยในการทำงานโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 27 หัวข้อ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดงานความปลอดภัยและ อาชีวอนามัยแห่งชาติ ครั้งที่ 35 และมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณให้แก่สถานประกอบกิจการต้นแบบที่ผ่านเกณฑ์พิจารณากิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัย ของ สสปท. จำนวน 84 รางวัล โดยมีผู้บริหารส่วนราชการ ผู้บริหารสถานประกอบกิจการ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในการทำงาน ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในปัจจุบันยังมีการประสบอันตรายและโรคจากการทำงานเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทรวงแรงงาน จึงได้ผลักดันระเบียบวาระแห่งชาติ “แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี” สู่ระยะที่ 2 (พ.ศ.2560 – 2569) และขับเคลื่อนนโยบาย Safety Thailand เพื่อลดอัตราการประสบอันตรายจากการทำงานให้ได้อย่างยั่งยืน โดยเมื่อพิจารณาเหตุที่เกิดขึ้นจะพบว่า การประสบอันตรายและโรคจากการทำงานมากกว่าร้อยละ 80 มีสาเหตุมาจากตัวผู้ปฏิบัติงานเอง

กระทรวงแรงงานจึงมอบหมายให้ สสปท.ซึ่งมีภารกิจหลักในการส่งเสริมและพัฒนางานด้านวิชาการ ดำเนินการศึกษาเครื่องมือในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงานที่เหมาะสมกับสถานประกอบกิจการทุกประเภท ตามแนวคิดในการจัดงานครั้งนี้ คือ “ร่วมสร้างวัฒนธรรมไทยเชิงป้องกัน สู่ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และความผาสุกที่ยั่งยืน”

และได้ผลผลิตเป็นชุดค่านิยมร่วมด้านความปลอดภัย MDC ที่เหมาะสมกับสถานประกอบกิจการทุกประเภท ประกอบ ด้วย Mindfulness (สติรู้ตัว) คือ การจดจ่อกับการทำงาน รู้ตัว รู้คิด ทำงานอย่างรอบคอบ ถูกต้อง มีความตระหนัก คำนึงถึงความปลอดภัย และสามารถพิจารณาอันตรายและลดจุดเสี่ยงในการทำงานได้ Discipline (วินัยถูกต้อง) คือ

การปฏิบัติอยู่ในข้อบัญญัติ กฏหมาย หรือแนวที่กำหนดอย่างเคร่งครัดเพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัย และ Caring (เอื้ออาทรใส่ใจ) คือ การมีน้ำใจ เอาใจใส่ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมตตาช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน เพื่อร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี และลดปัจจัยที่ก่อให้เกิดอันตรายและโรคจากการทำงาน

ซึ่งชุดค่านิยมนี้ นอกจากจะใช้เป็นแนวทางในการปฎิบัติงานแล้ว ยังสามารถเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท และส่งเสริมให้สังคมมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันอีกด้วย

นายสมัย โชติสกุล ประธานกรรมการ สสปท. กล่าวว่า การที่สถานประกอบกิจการได้ดำเนินการสร้างวัฒนธรรมเชิงป้องกัน จะเป็นการสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้เกิดขึ้นในสถานประกอบกิจการทุกระดับ อันจะนำไปสู้การลดสถิติการประสบอันตรายและโรคจากการทำงานได้ในระยะยาว ส่งผลให้ลดต้นทุนในการผลิตลดลง และสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานได้ อย่างยั่งยืน

โดยการเสริมสร้างค่านิยมด้านความปลอดภัย เพื่อให้เกิดการปฏิบัติงานในสภาวะที่มีสติรู้ตัวทุกขณะ และสามารถปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ด้วยวินัยที่ถูกต้อง ตลอดจนมีความเอื้ออาทรใส่ใจต่อบุคคลรอบข้างเสมอ

นางบุปผา พันธุ์เพ็ง ผู้อำนวยการ สสปท. กล่าวว่า การจัดงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ ครั้งที่ 35 (Thailand Safe@Work#35) นั้น มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชนตระหนักถึงความสำคัญ และเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ทางวิชาการ พัฒนาแนวคิดด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

ภายใต้แนวคิด “ร่วมสร้างวัฒนธรรมไทยเชิงป้องกัน สู่ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และความผาสุกที่ยั่งยืน (Forward Culture of Prevention for Safety Thailand)” โดยกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วยการจัดสัมมนาวิชาการทั้งรูปแบบ On Site และ Online ประเด็นการสัมมนา มีทั้งการบริหารงานด้านความปลอดภัยและยุทธศาสตร์ กฎหมาย และมาตรฐานต่าง ๆ

การนำเสนอ Best Practice และนวัตกรรมความปลอดภัยและอาชีวอนามัย นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการ และมีการจัดกิจกรรมด้านความปลอดภัยใน 3 พื้นที่กิจกรรม ได้แก่ พื้นที่สุขภาพ (Health Me With T- OSH Zone) พื้นที่แสดงผลงานการศึกษา (Education Zone) และพื้นที่แสดงผลงานนวัตกรรม (Innovation Zone) ตลอดจนการจัดแสดงการสาธิตด้านความปลอดภัยในการทำงานบนที่สูง การช่วยเหลือผู้ประสบอันตรายจากที่สูงและที่อับอากาศ การช่วยฟื้นคืนชีพ และการใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ

“จากแนวคิดการสร้างวัฒนธรรมเชิงป้องกัน MDC จึงนำมาสู่แนวคิด ร่วมสร้างวัฒนธรรมไทยเชิงป้องกัน สู่ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และความผาสุกที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวคิดของการจัดงาน ที่ สสปท. จะรณรงค์เผยแพร่ไปสู่สาธารณชนและสังคม”

Written By
More from pp
นายกฯ แสดงความเสียใจกรณี พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ “คุณหมอกระต่าย” ประสบอุบัติเหตุขณะเดินข้ามทางม้าลาย กำชับเจ้าหน้าที่ บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
24 มกราคม 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า  พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แสดงความเสียใจต่อกรณี...
Read More
0 replies on “กระทรวงแรงงาน รวมพลัง เครือข่ายด้านความปลอดภัยในการทำงาน ร่วมจัดงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ เพื่อสร้างวัฒนธรรมไทยเชิงป้องกัน ด้วยค่านิยมร่วม สติรู้ตัว วินัยถูกต้อง เอื้ออาทรใส่ใจ (MDC)”