รัฐบาล เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยและภัยแล้ง พร้อมวางแผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2566 ในพื้นที่ จ.ขอนแก่นและลุ่มน้ำชีตอนกลาง มุ่งแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ

20 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบความคืบหน้าของโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่เฉพาะลุ่มน้ำชีตอนกลาง (Area Based) รวมทั้งแนวทางการบริหารจัดการน้ำเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยฤดูฝน ปี 2566 ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและลุ่มน้ำชี พร้อมเน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ลดผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้นโยบายในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง บริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยเห็นถึงสภาพปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง ที่ประกอบด้วยลุ่มน้ำสาขา 9 ลุ่มน้ำสาขา ใน 7 จังหวัด

ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด และ อุดรธานี รวมพื้นที่ประมาณ 12.85 ล้านไร่ โดยพบปัญหาด้านอุทกภัย ภัยแล้งซ้ำซาก ฝนทิ้งช่วงเป็นประจำทุกปี ปัญหาน้ำอุปโภค – บริโภค รวมถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้ง มีเสี่ยงภัยแล้งประมาณ 7.47 ล้านไร่ เนื่องจากมีปริมาณน้ำเก็บกักใช้การของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง รวม 2,478 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 ของปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปี

ส่วนฤดูฝนจะประสบปัญหาน้ำท่วมเกิดจากน้ำท่วมล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขังอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มริมน้ำชีและลำน้ำสาขา ซึ่งพบว่ามีปริมาณน้ำส่วนเกินที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมประมาณ 440 ล้าน ลบ.ม./ปี มีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมมากกว่า 1.31 ล้านไร่ มีครัวเรือนได้รับผลกระทบอย่างน้อย 85,700 ครัวเรือน

โดยเป็นการทำงานตามนโยบายรัฐบาลได้พิจารณาเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมและสอดรับกับสถานการณ์ ดังนี้

– ดำเนินมาตรการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (2561 – 2580) จำนวน 2,978 โครงการ โดยแบ่งแผนงานการพัฒนาออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะกลาง (ปี 2568 – 2570) และระยะยาว (ปี 2571 – 2580) เพื่อทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 1,250 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 998,000 ไร่ ลดปริมาณน้ำหลากที่จะไหลลงสู่แม่น้ำชีตอนกลางและตอนล่างได้ 207 ล้าน ลบ.ม.

– เพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทาน พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ/ระบบส่งน้ำให้ครบทุกลุ่มน้ำสาขา จัดหาแหล่งน้ำแบบพึ่งพาตนเอง (โคก หนอง นา โมเดล) สร้างความมั่นคงทางน้ำภาคการผลิต ควบคู่กับการพัฒนาด้านอื่น ๆ

– วางแนวทางการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝน ปี 2566 (1 พฤษภาคม – 31 ตุลาคม 2566) ของเขื่อนอุบลรัตน์ ในจังหวัดขอนแก่น โดยมีแผนการระบายน้ำเพื่อสนับสนุนน้ำดิบในการผลิตประปาของการประปาส่วนภูมิภาค 5 แห่ง ประปาหมู่บ้าน 45 แห่ง สนับสนุนแหล่งอุตสาหกรรมตามลำน้ำพอง 10 แห่ง และรักษาระบบนิเวศ วันละประมาณ 1 ล้าน ลบ.ม.

– ก่อสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ 26 อำเภอ 124 ตำบล จำนวน 332 ฝาย รวมปริมาณน้ำกักเก็บเพิ่มขึ้น 8 ล้าน ลบ.ม. นับตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2566

– รณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเพาะปลูกประมาณปลายเดือนกรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป โดยจะส่งเสริมการใช้น้ำฝนเป็นลำดับแรก เขื่อนและอ่างเก็บน้ำจะมีการเสริมในช่วงต้นฤดูฝนหรือฤดูฝนทิ้งช่วง

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ เน้นย้ำถึงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นองค์รวมทั้งระบบ ซึ่งได้สั่งการให้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเตรียมมาตรการให้ครอบคลุม เป็นระบบ ยั่งยืน และเหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่า เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนต่อไป” นายอนุชาฯ กล่าว

Written By
More from pp
“ดีป้า เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานระดับโลก ร่วมส่งสุดยอดสินค้าดี สินค้าเด่นของไทย ในงาน World Expo 2020 Dubai  
โอกาสดีมาถึงแล้ว ที่สินค้าไทยไปอวดโฉมบนเวทีโลก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(depa) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  ขอเชิญผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพในการส่งออก และต้องการเปิดตลาดการค้าในตะวันออกลาง  สามารถส่งสินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เข้าร่วมโครงการคัดเลือกสุดยอดสินค้าดี สินค้าเด่นของไทย สำหรับจัดจำหน่าย และแจกเพื่อการประชาสัมพันธ์ ผ่านอาคารแสดงประเทศไทย ในงาน World Expo 2020 Dubai ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 ณ เมืองดูไบ...
Read More
0 replies on “รัฐบาล เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยและภัยแล้ง พร้อมวางแผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2566 ในพื้นที่ จ.ขอนแก่นและลุ่มน้ำชีตอนกลาง มุ่งแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ”