นายกฯ ห่วงใยกลุ่มเด็กวัยเรียนมีอัตราป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกสูงสุด ขอความร่วมมือสถานศึกษา อสม. ท้องถิ่น ร่วมสำรวจทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เตือนประชาชนระมัดระวังป้องกันตนเอง

19 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ติดตามรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 7 มิถุนายน 2566 พบผู้ป่วยจำนวน 19,503 ราย เสียชีวิต 17 ราย ซึ่งกรมควบคุมโรคคาดการณ์ว่าโรคไข้เลือดออกจะกลับมาระบาดอีกครั้งในปี 2566 นี้ ตามวงรอบของปีที่จะระบาด

และสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในช่วงนี้ มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะระยะนี้มีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้เกิดน้ำขังค้างในภาชนะต่าง ๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย

โดยนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กวัยเรียน กำชับกรมควบคุมโรค และกระทรวงศึกษาธิการ ขอความร่วมมือสถานศึกษาทั่วประเทศ อสม. และหน่วยงานส่วนท้องถิ่น ร่วมมือกันสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงทุกสัปดาห์ เน้นพื้นที่บ้าน วัด โรงเรียน ซึ่งเป็นสถานที่พบลูกน้ำยุงลายสูงสุด รวมทั้งฝากเตือนประชาชนขอให้ระวังป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด

นายอนุชาฯ กล่าวถึงรายงานล่าสุดของกรมควบคุมโรค ระบุจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกปี 2566 มากกว่า ปี 2565 ณ ช่วงเวลาเดียวกันถึง 3.8 เท่า กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยสูงที่สุด ได้แก่ อายุ 5-14 ปี รองลงมา 15-24 ปี จังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงที่สุดใน 4 สัปดาห์ล่าสุด

คือ จังหวัดตราด (เกาะช้าง บ่อไร่ แหลมงอบ คลองใหญ่) น่าน (สองแคว ทุ่งช้าง เชียงกลาง) จันทบุรี (เมือง ท่าใหม่ มะขาม) แม่ฮ่องสอน (ขุนยวม แม่ลาน้อย) และสตูล (เมือง) ตามลำดับ รวมการระบาดใน 348 อำเภอ 71 จังหวัด ซึ่งประเมินความเสี่ยงพบมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกภาค ส่วนปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยที่เสียชีวิตคือไปรักษาที่โรงพยาบาลช้าเกินไป มีภาวะอ้วน ได้รับยากลุ่ม NSAIDs มาก่อน และมีโรคประจำตัว

“ รัฐบาลโดยกรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่ เก็บบ้านให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ เก็บขยะ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

นอกจากนี้ ต้องช่วยกันพัฒนาสิ่งแวดล้อม ป้องกันควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลาย 7 สถานที่ หรือ 7ร. ได้แก่ โรงเรือน (บ้าน) โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม/รีสอร์ท โรงงาน/อุตสาหกรรม โรงธรรม (วัด/มัสยิด/ศาสนสถาน) และสถานที่ราชการ ซึ่งสถานที่ดังกล่าวมีการรวมตัวกันของประชาชน ถือเป็นสถานที่เสี่ยงที่จะมีการระบาดของโรคไข้เลือดออก และจากผลการสำรวจนั้น พบแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายสูงสุดในกลุ่มโรงเรียนและโรงธรรม

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค มีข้อแนะนำให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ภาวะอ้วน ผู้สูงอายุ และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด หากมีอาการไข้สูงลอย ร่วมปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว และแขน ขา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs)

เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในช่องทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิต หากมีไข้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจน จะช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” นายอนุชาฯ กล่าว

Written By
More from pp
ธนาคารกรุงไทย ร่วมฉลองเทศกาลตรุษจีนประจำปี 2567 จัดเตรียมซองอั่งเปา “กง สี่ ฟา ไฉ” และ ถุงใส่ส้ม เพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าทั่วประเทศ
ธนาคารกรุงไทย ร่วมฉลองเทศกาลตรุษจีนประจำปี 2567 จัดเตรียมซองอั่งเปา “กง สี่ ฟา ไฉ” และ ถุงใส่ส้ม เพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าทั่วประเทศ โดยบนซองจัดพิมพ์รูปมังกร...
Read More
0 replies on “นายกฯ ห่วงใยกลุ่มเด็กวัยเรียนมีอัตราป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกสูงสุด ขอความร่วมมือสถานศึกษา อสม. ท้องถิ่น ร่วมสำรวจทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เตือนประชาชนระมัดระวังป้องกันตนเอง”