กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนทำให้มีฝนตกชุกหนาแน่นและต่อเนื่องครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ อาจส่งผลให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ในหลายพื้นที่
ทช. จึงได้ทบทวนแนวทางการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย เพื่อให้หน่วยงานส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย สำนักงานทางหลวงชนบทแขวงทางหลวงชนบท และหมวดบำรุงทางหลวงชนบท ปฏิบัติงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนให้ทันท่วงที โดยแบ่งการเตรียมความพร้อมรับมือเป็น 3 ระยะ ดังนี้
1. ก่อนเกิดเหตุ
– ทำความสะอาดช่องระบายน้ำ ตัดหญ้า กำจัดวัชพืชที่ขวางทางระบายน้ำ ท่อลอด สะพาน
– เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องมือ เครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ สะพานเบลีย์ สนับสนุนยานพาหนะ อุปกรณ์การขนส่ง พร้อมสนับสนุนการอพยพเคลื่อนย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ประสบภัยหรือพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุอุทกภัย เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัย
– จัดเตรียมป้ายเตือน ป้ายแนะนำเส้นทาง หลักนำทาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน กรณีมีน้ำท่วมสูง ถนนหรือสะพานขาด ไม่สามารถสัญจรไปมาได้
– ตัดแต่งกิ่งไม้ในเขตทางหลวงชนบท เพื่อป้องกันกิ่งไม้ตกหล่น หักโค่น เมื่อเกิดพายุหรือลมพัดรุนแรง
2. ขณะเกิดภัย
– บริหารจัดการเส้นทางและอำนวยความสะดวกให้ประชาชน กรณีเส้นทางผ่านไม่ได้ให้จัดหาทางเลี่ยงพร้อมทั้งประสานกับหน่วยงานของจังหวัดในการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันที เมื่อได้รับการร้องขอ
– กรณีถนนหรือสะพานขาด ให้ดำเนินการซ่อมแซมเบื้องต้นให้ประชาชนสามารถใช้เส้นทางสัญจรไปมาได้ชั่วคราว เช่น วางสะพานเบลีย์ ถมดินคอสะพาน ถมวัสดุคอสะพาน
– รายงานข้อมูลสายทางที่ประสบภัยพิบัติพร้อมภาพถ่ายผ่านระบบบริหารจัดการงานอุทกภัย ทช. (FMS) และปรับปรุงข้อมูลจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ
– กรณีต้นไม้หักโค่นปิดทับหรือกีดขวางเส้นทาง ให้รีบนำเครื่องมือเครื่องจักรเข้าดำเนินการทันที เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรผ่านได้
– เสนอโครงการที่ประสบอุทกภัยต่อที่ประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด
– เข้าพื้นที่สำรวจความเสียหายประมาณการค่าซ่อมแซมเบื้องต้น และเตรียมเข้าซ่อมทันที เมื่อเข้าสู่ภาวะปกติให้สามารถเปิดการจราจรชั่วคราวได้
– หน่วยงานในพื้นที่ประสานกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ รวมถึงหน่วยงานทหารในพื้นที่เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการช่วยเหลือประชาชน ตลอดจนรายงานข้อมูลสายทางที่ประสบอุทกภัยให้ผู้บริหารได้รับทราบจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ
3. หลังเกิดภัย
– หลังจากเข้าสู่ภาวะปกติ ให้ดำเนินการซ่อมแซมเบื้องต้น เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรไปมาได้ภายใน 7 วัน และดำเนินการสำรวจ ออกแบบ ประมาณราคา พร้อมภาพถ่ายสภาพความเสียหายหลังน้ำลด เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูต่อไป
อย่างไรก็ตาม ทช. จะติดตามสภาพอากาศเตรียมรับมือสถานการณ์อุทกภัยอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้ทันท่วงที รวมถึงขอความร่วมมือประชาชนโปรดระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนนเป็นพิเศษและสังเกตป้ายเตือน สามารถแจ้งเหตุอุทกภัยบนถนนทางหลวงชนบทได้ที่สายด่วน ทช. โทร. 1146