26 พฤษภาคม 2566 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้จัดส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีเมื่อ 22 พฤษภาคม 2566 ได้เคยเดินทางไปชี้ให้ กกต.ตรวจสอบ เอก-ป๊อก-ช่อ ครอบงำ ชี้นำพรรคก้าวไกล อันเป็นการฝ่าฝืน ม.28 และ ม.29 แห่ง พรป.พรรคการเมือง 2560 หรือไม่
แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 22 พฤษภมคม 2566 นายปิยบุตร แสงกนกกุล ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กของตนว่า “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ตำแหน่งที่พรรคก้าวไกลเสียไปไม่ได้เป็นอันขาด พร้อมอธิบายเหตุผลมากมาย
ซึ่งต่อมาเป็นเหตุให้ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล และกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลต่างออกมาให้สัมภาษณ์และหรือโพสต์ข้อความแสดงความเห็นเพื่อยืนยันว่าตำแหน่งประธานสภาฯ ต้องเป็นของพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ลงในสื่อสังคมออนไลน์มากมาย อาทิ นายรังสิมันต์ โรม น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ฯลฯ
การที่ว่าที่ ส.ส.ท่านใดจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของเหล่า ส.ส.ทั้ง 500 คน ที่ประชาชนได้เลือกตั้งให้ไปเป็น ส.ส. แล้วเข้าไปเลือกกันเองว่าท่านใดจะมีความเหมาะสม เพราะทุกคนน่าจะมีวิจารณญานที่จะตัดสินได้ได้เอง โดยไม่จำต้องมีใครมาชี้นำ
แต่ทว่าการที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ออกมาโพสต์ข้อความลงในสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะดังกล่าว จะทำให้สังคมมองไปเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากการพยายามที่จะชี้นำความคิดและการกระทำของเหล่าว่าที่ ส.ส.ของพรรคก้าวไกล ให้ต้องช่วยกันผลักดันหรือกดดันให้พรรคร่วมต่าง ๆ ยินยอมให้ตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นของพรรคก้าวไกลเท่านั้น
นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 น.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ และกรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ยังได้ออกมาโพสต์สำทับถึงข้อความผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า “ก้าวไกลต้องการเป็น #ประธานสภา เพื่อผลักดันวาระก้าวหน้าในสังคม” อีกด้วย
อันชี้ให้เห็นว่าบุคคลทั้งสอง ซึ่งมิใช่สมาชิกพรรคก้าวไกล กลับมีพฤติการณ์หรือกระทําการอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระทั้งโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมหรือไม่ รวมทั้งกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลออกมาเคลื่อนไหวสอดรับกับการชี้นำของบุคคลทั้งสอง จึงอาจเป็นการฝ่าฝืน ม.28 และ ม.29 แห่ง พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ด้วยหรือไม่
ด้วยเหตุเช่นนี้ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงต้องนำความพร้อมพยานหลักฐานมายื่นเพิ่มเติมให้ กกต. เพื่อนำไปตรวจสอบ และวินิจฉัยประกอบคำร้องเดิมที่เคยชี้เบาะแสไว้แล้ว เพื่อดำเนินการตามครรลองของกฎหมายต่อไปจนถึงที่สุด เพราะถึงที่สุดแล้วหาก กกต.วินิจฉัยว่าเป็นไปตามการชี้เบาะแส ก็สามารถเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคที่ฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวได้ ตาม ม.92(3) นายศรีสุวรรณ กล่าว