ร่างกายดูแข็งแรง แต่อาจหัวใจวาย เสี่ยงตายไม่รู้ตัว

“หัวใจวาย” หรือ กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เป็นโรคที่พบได้เรื่อย ๆ ปัจจุบันพบว่า อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องอายุมากเสมอไป ร่างกายภายนอกดูแข็งแรง แต่แท้จริงแล้วอาจมีภาวะหลอดเลือดตีบซ่อนอยู่ เพราะฉะนั้น ไม่ควรชะล่าใจละเลยการตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะสุขภาพของหัวใจ

นายแพทย์ศุภสิทธิ์ สถิตย์ตระกูล อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า หัวใจวายเฉียบพลันเกิดจากการที่หลอดเลือดหัวใจอุดตันจนกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการขาดเลือดไปเลี้ยงจนเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจตาย สาเหตุเกิดจากการสะสมของคราบไขมันที่บริเวณผนังหลอดเลือดหัวใจ จนเกิดการปริหรือแตก กระตุ้นให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันการไหลเวียนของเลือดอย่างฉับพลันทันที

ปัจจัยที่ส่งเสริมทำให้หลอดเลือดเสื่อมเร็วกว่าปกติ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง น้ำหนักเกินเกณฑ์หรือโรคอ้วน การสูบบุหรี่ ความเครียด ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และโรคทางพันธุกรรมบางอย่าง หรือการมีประวัติญาติสายตรงเป็นโรคหัวใจ จึงทำให้ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่มีอายุน้อยกว่าสถิติมากขึ้นเรื่อย ๆ

อาการที่สังเกตได้เบื้องต้น ได้แก่ เจ็บ แน่นหน้าอก อึดอัด หรือรู้สึกไม่สบายตรงกลางหน้าอก อาจมีอาการเจ็บร้าวไปที่คอ กราม ขากรรไกร หรือต้นแขน อาการร่วมอื่น ๆ เช่น เวียนศีรษะ หายใจไม่สะดวก คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น

โดยอาการเหล่านี้อาจเป็นนานกว่า 15 นาที และจะไม่ทุเลาลงด้วยการพักหรือการได้รับยาอมใต้ลิ้น นอกจากนี้ ในบางรายอาจหายใจหอบเหนื่อย หน้ามืด หมดสติ หรือหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ โดยผู้ป่วยควรต้องรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดหรือเรียกรถฉุกเฉินของโรงพยาบาลทันที

ปัจจุบันการตรวจสุขภาพประจำปีจะช่วยคัดกรองความเสี่ยงและหาวิธีที่จะป้องกันภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ แนวทางการตรวจหาภาวะหัวใจขาดเลือดในปัจจุบันมีหลายวิธี ได้แก่

1. การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise stress test : EST) เรียกสั้น ๆ ว่าการวิ่งสายพาน ใช้ตรวจหาความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือดขณะออกกำลังกายหนัก ๆ ดังนั้น หากผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ การทดสอบนี้จะทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ มีผลทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจเปลี่ยนแปลงไป

2. การตรวจคราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery calcium scoring) เป็นการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ตรวจหาหินปูนที่บริเวณหลอดเลือดแดง หากค่ายิ่งสูงจะมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจที่สูงตามไปด้วย

3. ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือดหัวใจ (coronary CCTA) เพื่อดูว่ามีหลอดเลือดหัวใจตีบ-ตัน หรือความผิดปกติอื่น ๆ หรือไม่ ซึ่งผู้ที่เข้ารับการตรวจวิธีนี้จะได้รับสารทึบรังสีเพื่อให้ได้ภาพเอกซเรย์ที่ดีที่สุด

4. การสวนหัวใจ (Cardiac Catheterization Angiography : CAG) คือการสอดสายสวนขนาดเล็กผ่านหลอดเลือดแดง แล้วจึงฉีดสารทึบรังสีบริเวณหลอดเลือดหัวใจเพื่อบันทึกลักษณะความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจทั้งการอุดตันและการตีบตัน และทำการรักษาอาการผิดปกติของผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ

การรักษาผู้ป่วยหัวใจวายเฉียบพลันในปัจจุบันมีทั้งการให้ยาละลายลิ่มเลือดและการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนและใส่ขดลวดค้ำยัน (stent) สำหรับการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนนั้น ผู้ป่วยจะไม่มีแผลผ่าตัด พักฟื้นในโรงพยาบาลไม่นาน ฟื้นตัวได้เร็ว แต่ในกรณีที่หลอดเลือดหัวใจตีบตันหลายเส้นหรือแพทย์ประเมินแล้วว่าไม่สามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้ แพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ” นายแพทย์ศุภสิทธิ์กล่าว

การรักษาภาวะหัวใจวายขึ้นกับเวลา ควรทำให้แล้วเสร็จภายใน 60 – 90 นาที เพื่อเปิดหลอดเลือดที่อุดตันให้เร็วที่สุด ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเสียชีวิตของผู้ป่วยหรือการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในอนาคต อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสการกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงคนปกติมากที่สุดของผู้ป่วยด้วย ดังนั้น หากมีอาการที่บ่งบอกถึงภาวะหัวใจวาย ผู้ป่วยควรรีบบอกคนรอบข้างและมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

Written By
More from pp
“ราเมศ” เตือนพรรคการเมืองที่ชู แก้ ม.112 ต้องกล้าหาญยอมรับผลด้วย ชี้เป็นแนวคิดที่ไม่ต่างจากการนิรโทษกรรม ให้คนผิดเหมือนในอดีต
16 ตุลาคม 2565 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีพรรคการเมืองบางพรรคประกาศนโยบาย แก้ไขมาตรา 112 ว่า
Read More
0 replies on “ร่างกายดูแข็งแรง แต่อาจหัวใจวาย เสี่ยงตายไม่รู้ตัว”