22 มีนาคม 2566 ที่โรงแรมไฮแอทรีเจนซี่ กรุงเทพฯ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมือง พรรคพลังประชารัฐ ร่วมเปิดนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ในงานสัมมนา “ท้องถิ่นมั่งคั่ง ประเทศมั่นคง” ที่จัดขึ้นโดย นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ร่วมกับสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย
โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมืองเข้าร่วม อาทิ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคภูมิใจไทย
โดยนายสนธิรัตน์ ได้แสดงวิสัยทัศน์ตอนหนึ่งว่า การวัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยที่ผ่านมา ประเทศไทยตกลงไปมาก โดยเฉพาะความสามารถของภาครัฐ ดังนั้นท้องถิ่นจะต้องเป็นกลไกหลักในการเพิ่มความสามารถของประเทศไทย
ซึ่งพรรคพลังประชารัฐขอเสนอ “บันได 4 ขั้น สร้างท้องถิ่นมั่งคั่ง ประเทศมั่นคง”โดยบันไดขั้นที่ 1 คือการกระจายการตัดสินใจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งที่ผ่านมองว่าการกระจายอำนาจยังถูกควบคุมโดยส่วนกลาง และภูมิภาค ดังนั้นต้องลดการกำกับจากส่วนกลาง และภูมิภาคให้น้อยลง และให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้น และส่งเสริมความเป็นเจ้าของอำนาจประชาธิปไตย และเป็นเจ้าของการบริหารจัดการของท้องถิ่น
บันไดขั้นที่ 2 คือการจัดงบประมาณใหม่ ซึ่งในปีงบประมาณล่าสุด ท้องถิ่นมีงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรอยู่ที่ 29.6 เปอร์เซ็นต์ แต่พรรคพลังประชารัฐจะผลักดันสัดส่วนงบประมาณไปสู่ท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 35 เปอร์เซ็นต์ เพราะงบประมาณท้องถิ่นไม่เพียงพอในการจัดบริการสาธารณะ นอกจากนี้ต้องส่งเสริมให้ท้องถิ่นสามารถจัดการงบประมาณด้วยตนเองได้มากขึ้น โดยเฉพาะงบอุดหนุนเฉพาะกิจ ไม่ให้กระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง แต่ต้องถูกบริหารจัดการโดยท้องถิ่นซึ่งเข้าใจความต้องการของพื้นที่ได้ดีที่สุด
บันไดขั้นที่ 3 คือมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ท้องถิ่นบางแห่งมีการเติบโตด้านเศรษฐกิจใหญ่มาก เช่น ภูเก็ต แม่สอด เกาะสมุย ดังนั้นจึงต้องปรับรูปแบบให้พิเศษมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อโจทย์ใหม่ๆ ในพื้นที่ หรือนำท้องถิ่นมารวมกัน เพื่อให้งบประมาณมากขึ้นกว่าการเป็นท้องถิ่นเดี่ยว ๆ ซึ่งจะช่วยให้ท้องถิ่นจัดบริการสาธารณะได้มากขึ้น สร้างความมั่งคั่งได้มากขึ้น
และบันไดขั้นที่ 4 คือการหารายได้เข้าท้องถิ่น พรรคพลังประชารัฐสนับสนุนการหารายได้เข้าท้องถิ่น โดยท้องถิ่นต้องจัดเก็บเอง ต้องส่งเสริมให้เก็บภาษีท้องถิ่นจากการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ให้มากขึ้น เช่น ภาษีอสังหาริมทรัพย์ ภาษีที่อยู่อาศัย ภาษีกิจกรรมที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือเพิ่มอำนาจการเก็บภาษีใหม่ ๆ ที่ไม่ต้องรอส่วนแบ่งรายได้ แต่ไม่ไปแย่งส่วนแบ่งรายได้เดิมของภาคส่วนกลาง เช่น ภาษีการพักอาศัย ภาษีท่องเที่ยว ภาษีการพัฒนาพื้นที่พิเศษเฉพาะ นอกจากนี้ ท้องถิ่นยังต้องเพิ่มบทบาทในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เหมือนประเทศญี่ปุ่น เชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับชุมชน ไปจนถึงเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อนำรายได้ใหม่เข้าสู่ท้องถิ่น เราเชื่อว่าการกระจายอำนาจคือหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ ท้องถิ่นจะเติบโตมั่นคง ประเทศมั่งคั่งคือหัวใจสำคัญ
นอกจากนี้ นายสนธิรัตน์ ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงนโยบายของพรรคเกี่ยวกับการกระจายอำนาจว่า “ผมเชื่อมั่นว่าท้องถิ่นคือองค์กรที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด และสามารถขับเคลื่อนการบริหารจัดการควบคู่กับการดูแลประชาชนได้เป็นอย่างดี การเชื่อมั่นในพลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เปรียบเสมือนการให้ความเชื่อมั่นต่อพี่น้องประชาชนในการบริหารจัดการตนเอง ซึ่งเป็นประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน ดังนั้น หากเปิดโอกาสให้มีการกระจายอำนาจมากขึ้น ทั้งงาน เงิน และงบประมาณ รวมถึงบุคลากร กระจายสู่ส่วนท้องถิ่นก็จะช่วยส่งเสริมการกระจายอำนาจได้เป็นอย่างดี”